ยุคสังคมแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจแบ่งปัน

ยุคสังคมแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจแบ่งปัน

การที่เราจะรู้อะไรแบบเข้าใจในแก่นแท้ของสิ่งนั้น ไม่มีหนทางใดจะดีไปกว่าการนำตัวเองเข้าไปคลุกคลี หรือมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งนั้นด้วยตัวเราเอง

แม้เพียงน้อยนิดไม่เต็มที่เต็มตัว ก็ยังเชื่อว่าจะได้มุมมองและความคิดที่แปลกแตกต่างไปจากการอ่านหนังสือที่คนอื่นเขียน ฟังคนอื่นเล่า แล้วมาพูดต่อ ประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริงจึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องการมากในการถ่ายทอดความรู้ในยุคนี้ สังคมแห่งการแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจแห่งการแบ่งปัน จึงเติบโตแบบไร้ขีดจำกัดผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์

 

เราจะเห็นใครก็ตามที่บุกเบิกทำอะไรใหม่ จะไม่ต้องการทำให้ใหญ่ให้โต เพื่อจะครอบครองตลาดอยู่รายเดียว แต่ยังคงทำมันในพื้นที่เล็กๆขยายตัวทีละน้อย แล้วหันมาเปิดบ้านให้ใครก็ตามที่สนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และส่งต่อความสำเร็จให้คนอื่นนำไปทำตาม รายได้จึงไม่ได้เกิดจากการผลิตสินค้าเท่านั้น แต่เกิดจากการแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่กัน การรวมกลุ่มของ Startups การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ (Incubator) หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของศูนย์เร่งโตทางธุรกิจแบบติดปีกอย่าง Accelerator ได้กลายเป็นโมเดลใหม่ในทางธุรกิจที่ฮิตมากในยุคดิจิทัล

 

ในยุคเบบี้บูมของคนในวัยใกล้เกษียณหรือที่เกษียณไปแล้ว มักบอกว่า งานคือชีวิตและชีวิตคือการทำงาน ไม่ต้องพูดถึงคำว่า “วันหยุด” เพราะทุกวันคือ “วันทำงาน” คำว่าการทำงานแบบ “24/7” ในยุคเดิมอาจจะมีนิยามและความหมายแตกต่างไปบ้างจากยุคนี้ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานมันเกิดขึ้นตลอดเวลา

 

เมื่อมาถึงยุค Gen X ยุคที่คนมีการศึกษาสูงขึ้น มีโอกาสและหน้าที่การทำงานที่ดีขึ้น ใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาการที่ร่ำเรียนมา พัฒนาระบบ ออกแบบกระบวนการ และสร้างองค์กรให้ใหญ่โตมีความเจริญก้าวหน้าทันสมัย แม้ว่าอาจจะยังไม่ถึงกับระดับชั้นนำของโลกโดยส่วนใหญ่ก็ตาม ยุคนั้นทุกคนมุ่งที่จะทำงานในบริษัทใหญ่ บริษัทข้ามชาติ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ระบบงานและมีโอกาสไปฝึกอบรมเพิ่มเติมในต่างประเทศ มีวันทำงานมีวันหยุดงาน มีการแบ่งสันปันส่วน มีชีวิตส่วนตัวที่ไม่ติดกับงาน คำว่า “การสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิต” หรือ Work-Life Balance จึงเป็นคำที่ฮิตมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การบริหารเวลาจึงมีความสำคัญในแง่ที่ต้องไม่ไปก้าวก่ายหรือเบียดเบียนกัน การจัดสรรวันว่างเพื่อท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมส่วนตัวจึงเป็นไปในแบบคู่ขนาน

 

แต่ในยุค Gen Y ที่มีความคิดและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป จำนวนไม่น้อยที่เริ่มเห็นคุณค่าของการสร้างงานด้วยตัวเอง งานที่อิสระและมีความท้าทายมากกว่า การเติบโตแบบรวดเร็วและก้าวกระโดดโดยไม่ต้องรอไปตามขั้นบันได กลายเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่คนรุ่นนี้มองเห็น และอยากทำตามรุ่นพี่ที่เป็นหน่วยกล้าตายประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ แม้ว่าจะโดนท้กท้วงว่านั่นเป็นแค่บางคนไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ก็ตาม คนหนุ่มสาวที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในจุดสูงสุดขององค์กรแบบรวดเร็วเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการมีสูงกว่า Gen X ความกล้าได้กล้าเสีย กล้าเสี่ยงที่จะล้ม และพยายามทีเรียนรู้ที่จะลุกให้ไว จึงกลายเป็นเหมือนมนต์ขลังและคาถาที่ส่งต่อมาให้คนรุ่นใหม่ท่องไว้เสมอ ธุรกิจเล็กๆที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ธุรกิจไฮเทคที่เติบโตขึ้นพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และไอเดียดีๆโดนๆเกิดขึ้นอย่างมากมาย การใช้ชีวิตและการทำงานเป็นไปแบบผสมผสานสลับสับเปลี่ยนกันไปมา กลมกลืนกันได้อย่างลงตัว คำว่า Work-Life Integration จึงกลายเป็นวิถีของคนยุคนี้

 

ถ้ามานั่งพินิจพิจารณาช่วงเวลาของคนเราใน 1 วัน 24 ชั่วโมง โดยเริ่มต้นกันตั้งเช้าตื่นมา คนยุคเบบี้บูมอาจจะรับประทานอาหารเช้าร่วมกันกับคนในครอบครัว หรือไปเสวนากันตามร้านกาแฟเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร คนเจนเอ็กซ์อาจนั่งอยู่หน้าจอทีวีเพื่อติดตามข่าวสารและรายงานข่าวสรุป แต่คนรุ่นใหม่เจนวายคงอยู่หน้าจอแทบเล็ต หรือสมาร์ทโฟน และอาจตื่นขึ้นมาพร้อมกับคว้าโทรศัพท์มาดูว่ามีข้อความอะไรแจ้งเตือนขึ้นมาเป็นสิ่งแรกเสียด้วยซ้ำ

 

การทำงานแบบข้ามทวีปข้ามประเทศ เกิดขึ้นได้จนกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่แปลกที่ขณะเรานอนหลับ อีกซีกโลกหนึ่งกำลังทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง เมื่อถึงเวลาเลิกงาน ทุกคนส่งไฟล์งานและความต้องการมายังอีกซีกโลกหนึ่ง เมื่อผู้คนอีกซีกโลกหนึ่งตื่นมาทำงานก็เปิดไฟล์งานและความต้องการนั้น พร้อมกับลงมือดำเนินการต่อเนื่องจนเสร็จสิ้นและส่งกลับไป ทุกอย่างเสร็จสรรพได้ภายในไม่ถึงวัน ผ่านความเชี่ยวชาญและความชำนาญของคนที่อาจจะต่างเชื่อชาติ สีผิว และวัฒนธรรม มันจึงเป็นการทำงานที่ไม่ใช่เพียงแค่ Cross-Function ข้ามฝ่ายข้ามแผนกในองค์กรเดียวกันเท่านั้น หากแต่เป็นการทำงานแบบ Cross-Cultural ที่ข้ามวัฒนธรรม ภาษา และชนชาติกันทีเดียว ความคิดและจริตของคนทำงานยุคนี้จึงต้องเป็นไปแบบหลากวิถีหลายวัฒนธรรม ไม่มีขอบเขต สถานที่ และเวลาขวางกั้น

 

ข้อสังเกตคือชีวิตของธุรกิจเริ่มสั้น แต่ชีวิตของคนเรายืนยาว การทำงานแบบอยู่องค์กรเดียวแต่เริ่มจนเกษียณ จึงแทบจะเป็นไปได้ยากมากในยุคปัจจุบัน ยิ่งองค์กรภาคเอกชนไม่ต้องห่วง การเปิดและการปิดของหน่วยธุรกิจหนึ่งๆ เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย การจ้างงานแบบระยะยาว หรือการเข้างานแบบยืดหยุ่นเวลา อาจจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปเสียแล้ว เพราะทุกคนสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ในเวลาใดก็ได้ และอาจจะทำงานให้กับลูกค้าหรือองค์กรที่หลากหลายพร้อมกันไปในคราเดียวกัน ไม่ต้องห่วงว่าคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ หรือ AI จะมาแทนที่เรา เพราะมันมาแล้ว และจะมามากขึ้น เร็วขึ้นตามลำดับ

งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานที่ต้องใช้การตัดสินใจที่ไม่มีแบบแผน งานที่ต้องประสานสิบทิศ งานที่ต้องเนรมิตสิ่งใหม่ งานที่ต้องใช้อารมณ์ความรู้สึก งานที่ต้องเข้าให้ถึงจิตใจผู้คน และงานที่ต้องยืดหยุ่นตามความต้องการลูกค้า จึงกลายเป็นทักษะใหม่ในอนาคต (Skills for Future)

 

คนที่ไม่หยุดนิ่ง เรียนรู้ เปิดกว้าง กล้าคิดกล้าทำ และลับสมองลองสิ่งใหม่ๆ น่าจะเป็นคุณสมบัติของคนยุคใหม่ในทศวรรษหน้านี้ ทำได้ทำดีมีที่ยืนและไปต่อได้ยาวๆแน่นอน