ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม

ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม

ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการฉบับใหม่ 2560 (จบ)

สวัสดีค่ะ ในฉบับที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการฉบับใหม่ (“ข้อบังคับฉบับใหม่ฯ”) เกี่ยวกับการควบคุมระยะเวลาตามข้อบังคับ การรวมพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกัน และการตั้งคณะผู้วินิจฉัยข้อคัดค้านอนุญาโตตุลาการไปแล้ว วันนี้เราจะมาดูสาระสำคัญข้ออื่นๆ ของข้อบังคับฉบับใหม่ฯ กันนะคะ

กรอบระยะเวลาเบื้องต้นในการดำเนินกระบวนพิจารณา ตามข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ได้กำหนดให้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนสุดท้าย คณะอนุญาโตตุลาการต้องหารือกับคู่พิพาท เพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาเบื้องต้นในการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งต้องไม่เกิน 180 วัน ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาเบื้องต้นดังกล่าวจะต้องเสนอให้สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ ให้ความเห็นชอบด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือมีเหตุอันสมควร สถาบันอนุญาโตตุลาการฯ อาจอนุญาตให้ขยายกรอบระยะเวลาดังกล่าวได้ ข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ในส่วนนี้มีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาความล่าช้าในการดำเนินกระบวนพิจารณาค่ะ

อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในการออกมาตรการในการคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทในระหว่างพิจารณา ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการฉบับเดิม ไม่ได้กำหนดให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจในการออกวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ หรือมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทในระหว่าง (มาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ฯ) ได้ ดังนั้น ที่ผ่านมาคู่พิพาทต้องยื่นคำร้องตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 (พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการฯ) เพื่อขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนก่อนหรือขณะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ในข้อ 39 กำหนดให้คู่พิพาทสามารถร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งหรือคำชี้ขาดกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ฯ ได้ แต่ไม่ตัดสิทธิคู่พิพาทในการขอให้ศาลมีคำสั่งดังกล่าว นอกจากนั้น ตามข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ก็มิได้กำหนดให้ในการออกมาตรการดังกล่าว คณะอนุญาโตตุลาการจะต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังเช่นที่กำหนดไว้ในมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการฯ ดังนั้น มาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ฯ ที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการจึงอาจมีขอบเขตกว้างกว่ามาตรการที่ออกโดยศาลตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการฯ

นอกจากนั้น หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างบทบัญญัติของ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการฯ และข้อบังคับฉบับใหม่ฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกมาตรการคุ้มครองประโยชน์ฯ จะเห็นได้ว่าตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการฯ กำหนดให้ศาลมีอำนาจในการออกคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ได้ทั้งก่อนและในขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ตาม ข้อ 39 ของข้อบังคับฉบับใหม่ฯ กำหนดให้อำนาจในการออกมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ฯ เป็นอำนาจของ คณะอนุญาโตตุลาการ 

ดังนั้น ตามข้อบังคับฉบับใหม่ฯ คู่พิพาทอาจใช้สิทธิในการร้องขอให้มีการออกมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ฯ ได้ภายหลังจากมีการเสนอข้อพิพาทและมีการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว หากคู่พิพาทต้องการให้มีการออกมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ฯ ก่อนที่จะมีการเสนอข้อพิพาทไปยังสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ หรือก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ คู่พิพาทจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเท่านั้น

ในกรณีที่คู่พิพาทเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ฯ คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจในการบังคับตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งกรณีจะแตกต่างจากศาลซึ่งมีอำนาจในการบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลได้ ดังนั้น หากคู่พิพาทฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ฯ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว คู่พิพาทอีกฝ่ายอาจต้องร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้บังคับตามคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการฯ ได้กำหนดให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเท่านั้น ดังนั้น กรณีจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าหากมีการร้องขอให้ศาลบังคับตามมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ฯ ที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการ ศาลจะบังคับตามมาตรการดังกล่าวหรือไม่ หรือคู่พิพาทจำต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์อีกครั้ง นอกจากนั้น ในกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการออกมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ฯ ที่ไม่เป็นไปวิธีการตามที่ระบุไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ ศาลจะบังคับตามมาตรการดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด ประเด็นเหล่านี้ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนจึงต้องติดตามคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นเหล่านี้ต่อไป

พบกันใหม่คราวหน้า สวัสดีค่ะ

...................................................

นันทินี สุนทรพิมล

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด