divergence diversity and convergence สถาบัน รัฐ ตลาด(ตอน 58)

divergence diversity and convergence สถาบัน รัฐ ตลาด(ตอน 58)

ความเป็นรัฐพลเรือน (civilian states) ของรัฐชาติในยุโรปภายใต้สหภาพยุโรปและยูโร

 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เป็นอะไรที่ค่อนข้างลึกซึ้ง เป็นผลพวงของประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะของยุโรปเท่านั้น จริงอยู่ที่ยุโรปก็เคยมีสันติภาพ รัฐชาติไม่ทำสงครามกันและกันเป็นเวลาที่ยาวนานในศตวรรษที่ 19 แต่ครึ่งแรกและครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกันระหว่าง สงครามกับสันติภาพ สงครามใหญ่โหดร้ายในช่วงครึ่งแรก สันติภาพในช่วงครึ่งหลัง ทั้งในช่วงระหว่าง และหลังสงครามเย็น ความลึกซึ้งของรัฐพลเรือน และวิถีชีวิตที่อำนาจของพลเรือนเหนือกว่าอำนาจทางทหาร soft power เหนือกว่า hard power เป็นอะไรที่คนยุโรปและรัฐยุโรปปลุกปั้นมา ไม่ใช่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ 

ที่สำคัญคือมันสะท้อนความเป็นยุโรปใหม่ หรือ New Europe ชาวยุโรป และรัฐยุโรปที่ไม่คิดและยึดค่านิยมเกี่ยวกับความเป็นชาติเหมือนเดิมอีกต่อไป อย่างน้อยก็จนถึงวันนี้ อนาคตอันยาวไกล ไม่มีใครสามารถบอกอะไรได้ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของยุโรป บางคนอาจจะบอกว่ายากที่ยุโรปจะกลับไปเหมือนเดิม Angela Merkel ผู้นำเยอรมันในความพยายามที่จะรักษายูโรไว้ไม่ให้ล่มสลาย เคยพูดในสภาผู้แทนของเยอรมัน เมื่อสภาผ่านกฏหมายให้ความช่วยเหลือกรีซ ว่า “ถ้ายูโรล่มสลาย ยุโรปก็ล่มสลาย” ปัญญาชนในยุโรปอยากเห็นคุณค่าหรือ Value ของความเป็นรัฐพลเรือนของยุโรป เป็นแบบอย่างและขยายไปที่ส่วนอื่นๆ ของโลก ในความเป็นจริง เราได้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจนของโลกในภูมิภาคอื่นๆแล้วว่า ชีวิตของคนในโลกยังยุ่งเหยิงและอยู่ในสภาพอันตรายไม่มั่นคง

เหตุการณ์ที่สำคัญของโลกที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 2003 น่าจะเป็นตัวอย่างที่อธิบายให้เห็นถึง ความหมายความสำคัญของความเป็นรัฐพลเรือน ซึ่งสะท้อนออกมาจากความต้องการหรืออาจจะเรียกว่าเป็นความฝันของชาวยุโรป

Harbermas และ Derridas คิดว่าวันนั้นเป็นวันที่ยุโรป ประกาศความเป็นอิสรภาพ(เขาคงหมายถึงจากสหรัฐอเมริกา) Dominique Strauss Kahn คิดว่าวันนั้นเป็นวันที่ความเป็นชาติของยุโรปได้เกิดแล้ว ในวันนั้น คนยุโรปตามเมืองใหญ่ๆ ไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนในแต่ละเมือง เช่น ลอนดอน ปารีส มาดริด บาเซโลนา ในเบอร์ลินกว่าครึ่งล้าน ได้ออกมาชุมนุมประท้วงคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯจะบุกอิรัก การประท้วงใหญ่นี้ไม่มีความรุนแรง แต่ที่น่าสนใจพวกเขาถือป้าย “Stop mad cowboy disease” หรือ “America real rogue states” ขณะที่ 8 ประเทศในยุโรป ได้แก่ สเปน โปรตุเกส โปแลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเช็ค อิตาลี เดนมาร์ก และอังกฤษ เห็นด้วยกับสหรัฐฯ แต่ผู้นำฝรั่งเศสคือ ชีรัก และโชว์เดอร์ ของเยอรมัน ไม่เล่นด้วยกับบุช(ผู้ลูก) แน่นอนนี่อาจไม่ใช่จุดแตกหัก แต่เป็นความขัดแย้งในเบื้องลึกระดับพื้นฐานระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ ที่มีมาตลอด ในการมองบทบาทและตำแหน่งของแต่ละฝ่ายในบริบทโลก

การออกมาประท้วงครั้งนี้บอกอะไรที่มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ มันบอกถึงความทรงจำที่มีร่วมกันของชาวยุโรปจากความโหดร้ายของสงครามที่ประเทศหรือรัฐมีต่อกัน พวกเขาไม่ใช่เพียงกำลังบอกแก่อเมริกาแต่ต้องการบอกกับชาวโลก ว่าสงครามไม่ใช่ทางออก เขาไม่ยอมรับความรุนแรงทุกรูปแบบ เขาต้องการความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ และโดยนัยยะชาวยุโรปภูมิใจกับรูปแบบของรัฐพลเรือนแบบยุโรป และโดยนัยยะการเกิดขึ้นของสหภาพยุโรป สิ่งที่พวกเขาแสดงออกในวันนั้น ในเบื้องหลังและเบื้องลึกมีอะไรที่พัฒนาในเชิงวิวัฒนาการมาหลายทศวรรษสำหรับยุโรป จริงอยู่ยุโรปมี EU ขณะเดียวกันก็ยังมีรัฐชาติ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมเป็นที่ยอมรับ EU เสริมหรือ Complement ไม่แข่งกับสมาชิกรัฐชาติใน EU แต่ประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาสถาบันหลักๆรวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับรัฐ แบบดั้งเดิม ได้อ่อนแอลงไปมาก 

ในอดีตรัฐของยุโรปมีไว้ทำสงคราม สงครามทำให้เกิดและสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจรัฐ แต่ยุโรปหลังสงครามโลกเป็นโลกของสันติภาพเสียส่วนใหญ่ รัฐจึงเป็นรัฐสำหรับสันติภาพ พัฒนาเป็นรัฐพลเรือน เพราะประชาชนต้องการเช่นนั้น ความศักดิ์สิทธิหรือความลี้ลับของรัฐสมัยอดีตจึงหมดไป คนในยุโรปใหม่วันนี้จะไม่ยอมไปตายเพื่อบอกถึงความรักชาติ เหมือนในอดีตอีกต่อไป ความเป็นพลเมืองไม่ได้มากับความจำเป็นในการมีหน้าที่ไปเป็นทหารรบกับศัตรูหรือป้องกันประเทศ ประเทศส่วนใหญ่ในรัฐพลเรือนยุโรป จึงไม่ได้มีระบบการเกณฑ์ทหารเหมือนในอดีต คนยุโรปไม่ยินดีจะจ่ายราคาให้กับผู้กล้าหาญในสงครามเราจึงได้เห็นแนวโน้มใหญ่ในโลกสมัยใหม่ของการเกิดทหารอาชีพ ได้รับค่าตอบแทนให้คุ้มกับความเสี่ยง

ความหลงไหลในชาติแบบบ้าคลั่งของชาวยุโรปได้เปลี่ยนไป เขายินดีแลกสูญเสียบางส่วนของอธิปไตยมารวมตัวกันในรูปสหภาพ ขณะนี้ 27 ประเทศ เช่นเดียวกันไม่มีใครพร้อมจะไปตายเพื่อ EU ขณะเดียวกัน EU ก็ไม่ได้เรียกร้องให้ชาติอื่นๆต้องมีความเป็นชาวยุโรป และมีความจงรักภักดี ประเทศสมาชิกมารวมตัวกัน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ เริ่มต้นในฐานะผู้บริโภคและผู้ผลิต ผ่านปฏิสัมพันธ์กันในตลาดร่วม และการใช้เงินสกุลยูโร เป้าหมายทางเศรษฐกิจจึงเป็นเป้าหมายหลัก เป็นความหวังของคนยุโรป ทั้งๆที่แนวคิดยุโรปดั้งเดิม เป็นเรื่องเป็นกระบวนการTop-down จะทำอย่างไรไม่ให้ฝรั่งเศสและเยอรมันทำสงครามกันอีก แต่ขณะที่โลกทั้งโลกวุ่นวายและยุ่งเหยิง ยุโรปกลับมีโซนที่เป็นเอกลักษณ์และไม่เหมือนใคร มีสันติภาพยาวนาน มีรัฐพลเรือนเกือบทั้งหมดในส่วนนี้เกิดเป็นอัตลักษณ์ยุโรป แต่ใกล้ยุโรปหน่อยลงมาทางใต้ประเทศ เช่น ตุรกี ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ความเป็นรัฐพลเรือนที่แท้จริง คงเป็นเรื่องยากซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้ตุรกี เข้าร่วม EU ยาก ไม่ไกลออกไปทางตะวันออก คือ Eurasia ตั้งแต่บอลข่านถึงรัสเซีย มันก็เป็นหนังคนละม้วนกับ EU แม้กระทั่งรัสเซีย โอกาสความเป็นรัฐพลเรือนยังคงอีกยาวไกล

วิกฤตเศรษฐกิจใน EU และยูโร วิกฤตใหญ่จากผู้ลี้ภัย มีผลทำให้ EU และความเป็นรัฐพลเรือนของยุโรป อ่อนแอลง แม้จะยังไม่ล่มสลาย แต่ในทางการเมืองสามารถเปราะบางได้ง่าย ต้องดูผลจากการเลือกตั้งใหญ่ๆในปีนี้ วิกฤตข้างต้นทำให้ประเทศสมาชิกแตกแยก เพราะแต่ละประเทศได้ประโยชน์และเดือดร้อนไม่เท่ากัน ความรุนแรงและปัญหาในส่วนอื่นๆของโลกยังไม่บรรเทาลง แม้ยุโรปอาจจะยังไม่ได้เป็นโมเดลสำหรับโลก แต่ในยุโรปปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการรวมตัวกันที่เริ่มจาก 6 ประเทศ เป็น 27 ประเทศได้นั้น กลุ่มที่ประสบความสำเร็จแรกๆ นั้นต้องเป็น Role model ให้แก่ประเทศที่ตามหลัง เช่น ยุโรปใต้และตะวันออก เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในทางการเมือง เช่น การพัฒนาประชาธิปไตย การมีธรรมาภิบาล หรือทางเศรษฐกิจ คือการมีกติกาและวินัย เพื่อความยั่งยืน