เมื่อยกห้องเรียนไปเรียนตามบริษัท

เมื่อยกห้องเรียนไปเรียนตามบริษัท

ในภาคการศึกษานี้ผมได้ทดลอง เปิดวิชาใหม่ขึ้นมาสำหรับนิสิต ระดับปริญญาตรีของคณะ โดยได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนๆ ที่อยู่ในภาคธุรกิจ

 ซึ่งมองว่าคนรุ่นใหม่ (โดยเฉพาะผู้ที่เรียนทางด้านธุรกิจ) ไม่ควรจะเรียนอยู่ภายในห้องเรียนอย่างเดียว แต่ควรจะยกห้องเรียนไปอยู่ตามบริษัทต่างๆ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทั้งศิษย์เก่าและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ ในการเป็นอาจารย์ถ่ายทอดทั้งความรู้และประสบการณ์ให้กับนิสิต อย่างไรก็ดีการไปเรียนตามบริษัทนั้นไม่ใช่เพียงแค่การไปเยี่ยมชมบริษัทตามประเพณีนิยม แต่นิสิตจะได้รับมอบหมายงานให้ทำโดยอาจจะเป็นก่อน ระหว่าง หรือ หลังการไปแต่ละบริษัท โดยให้ผู้บริหารของแต่ละบริษัทเป็นผู้ร่วมให้คะแนนด้วย

นอกเหนือจากที่นิสิตได้เรียนรู้แล้ว อาจารย์ที่ติดตามไปด้วยก็ได้เรียนรู้เช่นกัน สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้คือผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องของวิธีคิดเป็นอย่างมาก เลยทำให้ลองกลับมารวบรวมวิธีคิดในรูปแบบต่างๆ ที่ได้จากการฟังเมื่อผู้บริหารวิจารณ์งานของนิสิต เลยพอแบ่งวิธีคิดต่างๆ ออกมา 7 ประการได้ดังนี้

1. Analytical thinking เป็นการคิดเชิงวิเคราะห์ ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ

2. Evidence based thinking เป็นการคิดที่มีข้อมูล หลักฐาน สถิติ ตัวเลข ที่สามารถอ้างอิง และน่าเชื่อถือได้

3. Insightful thinking เป็นการคิดที่เข้าใจในความต้องการของลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายหลัก

4. Creative thinking คือการคิดสร้างสรรค์ สามารถนำเสนอในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อน

5. Systematic thinking เป็นการคิดเชิงระบบ มองเห็นความสัมพันธ์และเชื่อมโยงระหว่างแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็นได้อย่างดี

6. Holistic thinking เป็นการคิดในเชิงองค์รวม ที่สามารถมองเห็นภาพรวมขององค์ประกอบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

7. Practical thinking เป็นการคิดที่มีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ รวมทั้งในด้านการเงิน

ซึ่งวิธีคิดทั้ง 7 ประการข้างต้นนั้นเมื่อดูจากตัวอย่างของหลายๆ บริษัทที่ไปเยี่ยมแล้วก็ล้วนแล้วแต่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกันทั้งสิ้นคือการแก้ไขปัญหา (Problem Solving) ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าปัญหาจะมาจากการดำเนินธุรกิจ หรือ ปัญหาที่มาจากโอกาสที่เข้ามา หรือ ปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมภายนอก

นอกเหนือจากที่อาจารย์ได้เรียนรู้แล้ว เมื่อทำ reflection กับนิสิตในวิชานี้ก็พบว่านิสิตเองก็ได้เรียนรู้เกินสิ่งที่คาดหวังของอาจารย์ด้วยซ้ำ โดยนิสิตช่วยกันสรุปปัจจัยที่ทำให้บริษัทต่างๆ ที่ได้ไปเรียนรู้ด้วยนั้นประสบความสำเร็จออกมาเป็นปัจจัย 7 ประการด้วยเช่นเดียวกัน ได้แก่ 1. การมีเป้าหมายที่ชัดเจน 2. มุ่งเน้นที่ลูกค้า 3. วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง 4. บุคลากรที่มีคุณภาพและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา 5. ผู้นำองค์กร 6. มีความยืดหยุ่น พร้อมจะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง และ 7. Opportunities mindset หรือ การมองและแสวงหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา

เมื่อถามนิสิตถึงสิ่งที่นิสิตได้เรียนรู้จากตัวอย่างของบริษัทและผู้บริหารแล้ว นิสิตจำนวนมากให้ความสำคัญกับเรื่องของการแก้ไขปัญหา ที่ในอดีตคนรุ่นใหม่ ถ้าเจอปัญหาอาจจะท้อ หรือแก้เพื่อให้ปัญหานั้นผ่านพ้นไป แต่จากประสบการณ์ของบริษัทต่างๆ แล้ว ทำให้นิสิตได้เรียนรู้ว่าปัญหานั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรกลัวปัญหา กล้าที่จะยอมรับความท้าทายมากขึ้น และควรจะมองปัญหาเป็นโอกาสด้วยซ้ำไป ทำให้มีการเปลี่ยนมุมมองเมื่อเผชิญกับปัญหา

วิชานี้เป็นการทดลองรูปแบบการเรียนการสอนในอีกรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งก็พบว่าสามารถต่อยอดจากการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้วได้ และก็ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนอย่างมากมาย โดยได้ตั้งชื่อโครงการนี้ว่า 3i (Interact, Inspire, Innovate) เพราะเชื่อว่าเมื่อคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้เรียนได้มีโอกาส ปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงแล้ว จะเกิดแรงบันดาลใจ และเกิดการคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น

สุดท้ายต้องขอขอบพระคุณผู้บริหารจากองค์กรต่างๆ เหล่านี้ ที่มาช่วยสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ - CPALL Oishi สหมิตรถังแก็ส ตลาดหลักทรัพย์ฯ KBank CDC Phatra Minor BTS CT Asia