คนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก : การเมืองวัฒนธรรมของโลกปัจจุบัน

คนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก : การเมืองวัฒนธรรมของโลกปัจจุบัน

ความขัดแย้งทางการเมืองในโลกปัจจุบัน ที่เริ่มทำท่าว่าขยายตัวไปทุกพื้นที่ และดูเหมือนว่าจะรุนแรงมากขึ้น

จนทำให้เกิดความกังวลว่าสงครามใหญ่จะเกิดขึ้น ได้ทำให้นักคิดจำนวนหนึ่งได้พยายามอธิบายรากฐานของความขัดแย้งครั้งใหญ่นี้

นักคิดกลุ่มหนึ่งได้พยายามสร้างกรอบคิดการศึกษา อารมณ์ความรู้สึก” อย่างเป็นวิธีคิดและวิธีการทางประวัติศาสตร์ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงอะไรของสังคมที่ชักนำให้คนส่วนใหญ่ของสังคมเกิด “อารมณ์ความรู้สึกร่วมกัน และเป็นชุดของอารมณ์ความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในโลกปัจจุบัน

การอธิบายสังคมอเมริกันด้วย วัฒนธรรมความกลัว ได้ขยายออกไปสู่การมองปรากฏการณ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น ในปริมณฑลการเมืองยุโรปที่กลุ่ม / พรรคการเมืองฝ่ายขวามีอิทธิพลมากขึ้น และได้พบว่าการอธิบายว่า ความกลัว อันกลายมาเป็นจุดรวมของสายใยแห่งความหมายที่ผู้คนใช้ในการจับจ้อง ผู้อื่น มีพื้นฐานที่สำคัญมาจากความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่มีต่อ “คนแปลกหน้า” ที่เข้ามาพบพานในสังคม

ความหมายทางอารมณ์ความรู้สึกที่มี คนแปลกหน้า ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไพศาล เดิมนั้น “คนแปลกหน้า” มีความหมายว่าเป็นคนที่เรายังไม่รู้จัก แต่เราก็จะควร “เข้าไป” ทำความรู้จักเพื่อที่จะเป็น “มิตร” ต่อกันหรืออย่างน้อยก็รู้จักกันได้ แต่การเคลื่อนย้ายทางสังคมที่ทวีมากขึ้นหลังจากสงครามเย็นยุติลงได้ทำให้ความหมายของ “คนแปลกหน้า ”เปลี่ยนแปลงไปจากคนที่เรายังไม่รู้จักกลายเป็น คนแปลกๆ” ที่เราไม่สามารถจะรู้จักได้ และที่สำคัญ ได้แก่ การสูญเสียความรู้สึกที่อยากจะ “เข้าไป” ทำความรู้จักอย่างที่เคยเป็นมา

ความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่มีต่อ “คนแปลกหน้า” เช่นนี้ ทำให้ความหมายของ “คนแปลกหน้า” ที่เราไม่รู้จัก ได้เชื่อมโยงกับภาพรวมนามธรรม (Abstraction) ที่ถูกสร้างขึ้นได้อย่างแพร่หลาย การเชื่อมโยงนี้เกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น เช่น คนมีผิวสีน้ำตาล คลุมฮิญาบ เป็นมุสลิม และเป็นคนที่สัมพันธ์กับการก่อการร้าย เป็นต้น

การเชื่อมโยงกับความคิดนามธรรมแบบเหมารวมนี้จึงทำให้ความรู้สึกต่อ “คนแปลกหน้า” ถูกเน้นให้รู้สึกถึงความน่ากลัวและทำให้เกิดความกลัว “คนแปลกหน้า” ขึ้นมาอย่างรุนแรง

การเคลื่อนย้ายทางสังคมที่เร็วและทวีมากขึ้นไม่เปิดโอกาสให้แก่ความรู้สึกอยากทำความรู้จักคนที่เราไม่รู้จักอย่างที่เคยเป็นมา (คนไทยไปต่างประเทศเมื่อยี่สิบ/สามสิบปีก่อนคงจะจำได้ถึงบรรยากาศที่คนประเทศนั้นๆอยากรู้ว่าเราเป็นใคร คนไทยคืออะไร ฯลฯ) ได้สูญสลายไปสิ้น พร้อมกันกับการขยายตัวของเทคโนโลยีสื่อสารที่ทำให้การอธิบาย “คนแปลกหน้า” แบบเหมารวมมีพลังขึ้นมาจนทำให้ผู้คนซึมซับและไม่ต้องการที่เข้าใจคนอื่นอย่างเดิมอีกแล้ว เพราะภาพเบลอๆของการเหมารวมทำให้เหมือนว่าเข้าใจอะไรได้แล้ว

ความกลัว “คนแปลกหน้า” จึงจะผสมไปด้วยความระแวงว่าคนพวกนี้กำลังจะทำร้ายและทำลายชีวิตปกติของพวกเขา และได้กลายมาเป็นรากฐานของระบอบอารมณ์ความรู้สึกของคนจำนวนมากในโลก ซึ่งส่งผลให้คนจำนวนมากพยายามเข้ามาผลักดันให้ รัฐ เข้ามามีบทบาทในการจำกัดและ กำจัด คนแปลกหน้าที่เข้ามาในสังคมของพวกเขา ตัวอย่าง การหาเสียงว่าจะสร้างกำแพงกั้นเพื่อนบ้านของประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกาสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกนี้ได้อย่างชัดเจน

สังคมไทยก็ตกอยู่ในเงื่อนไขของสังคมกลัว “คนแปลกหน้า” เช่นเดียวกัน หากแต่ “คนแปลกหน้า” ของสังคมไทยไม่ใช่คนต่างประเทศทั้งหมด เพราะคนต่างประเทศส่วนใหญ่จะเข้ามาท่องเที่ยว (ซึ่งเป็นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ)

คนแปลกหน้า” ในสังคมไทยจึงมีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากสังคมอื่นๆ

“คนแปลกหน้า” ที่สังคมไทยกลัวและระแวงจะเป็น “คนต่างชั้น กัน ในกรณีที่เป็นคนต่างชาติเพื่อนบ้านเรา เช่น คนพม่าหรือไทยใหญ่ในพื้นที่ชายแดน หากเป็นคนรวยหรือคนระดับกลางบน คนในสังคมก็จะไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าเป็นแรงงานพม่าหรือไทยใหญ่ระดับล่างแล้ว คนไทยจะรู้สึกถึง ความกลัว/ระแวง” ขึ้นมาทันที (โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯหลายแห่งถือว่าคนพม่าเป็นลูกค้าที่สำคัญเป็นรายได้หลักทีเดียวครับ)

คนชั้นกลางในเขตเมืองของสังคมไทยก็จะรู้สึกต่อพี่น้องในชุมชนแออัดว่าเป็น “คนแปลกหน้า” ที่ควรจะกลัวและระแวงมากกว่าจะรู้สึกว่าเป็นพี่น้องร่วมชาติ และที่สำคัญในระยะหลังเริ่มมีความรู้สึกร่วมๆกันต่อพี่น้องในชนบทที่กำลังเคลื่อนย้ายทางสังคมเข้าใกล้สถานะตนเองด้วย

แม้ว่าเราไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการรับรู้ “คนแปลกหน้า” ในระดับโลกได้ แต่หากเราทำความเข้าใจ การศึกษาในเรื่อง ระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด” ในสังคมไทยจะช่วยทำให้เราเข้าใจและทำให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่มองไม่เห็น (making invisible visible) ได้ และอาจจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระดับของสังคมไทยได้ครับ