'ทางแก้ ทางรอด' ภัยพิบัติแผ่นดินไหวอาเซียน

'ทางแก้ ทางรอด' ภัยพิบัติแผ่นดินไหวอาเซียน

นักวิชาการทั่วโลกต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหวและสึนามิ ” เป็นภัยพิบัติที่มีความเชื่อมโยงกัน

 เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวตั้งแต่ 8.0 ริกเตอร์ขึ้นไปอาจทำให้เกิดสึนามิได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหน สิ่งที่ทำได้และดีที่สุดในเรื่องนี้ คือ “การเตรียมความพร้อม” เพื่อนำไปสู่ทางรอด…. เมื่อภัยนั้นมาถึง ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งในระดับประเทศ และระดับอาเซียน

ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ทีมวิจัยโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ความเห็นว่า ประเทศต่างๆในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวและสึนามิ เนื่องจากอยู่ในแนวมุดตัวของเปลือกโลก หรือ บริเวณรอยเลื่อนที่ยังมีพลัง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดแผ่นดินไหว เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สปป.ลาว และเมียนมา ฯลฯ และกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงจากสึนามิ เช่น ไทย อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ฯลฯ เพราะอยู่ติดชายฝั่งทะเลทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นน้ำขนาดใหญ่ ครอบคลุมเนื้อที่ถึงประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นผิวโลก

การเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณที่ใดที่หนึ่งของมหาสมุทรนี้ ย่อมจะส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ แผ่กระจายออกไปได้กว้างขวางมาก และอาจทำความเสียหายให้แก่ดินแดนต่างๆ ที่ตั้งอยู่ห่างจากบริเวณที่เป็นจุดกำเนิดแผ่นดินไหวหลายพันกิโลเมตรได้ เช่น กรณีประเทศไทย เมื่อ 12 ปีที่แล้ว (26 ธันวาคม 2547) ได้ประสบกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุด ครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล ซึ่งความสูญเสียส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดประสบการณ์การเอาตัวรอด เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยประสบภัยลักษณะนี้มาก่อน”

“ดังนั้นชาติสมาชิกประชาคมอาเซียน ทั้ง 10 ชาติ ต้องประสานความร่วมมือหา “ทางแก้ ทางรอด”รับมือด้านภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวร่วมกันอย่างจริงจัง เช่น ความร่วมมือด้านงานวิจัย ต่อมาตรการการจัดการองค์ความรู้ และแนวทางการลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิ รวมทั้งการแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน... ซึ่งแนวทางดังกล่าวน่าจะช่วยให้ประชาชนในภูมิภาคนี้มีความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้ดีขึ้น” นักวิจัยแผ่นดินไหวให้ความเห็นว่า

ข้อที่สำคัญ คือ การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเป็นหลัก ทั้งในด้านการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดหรือระบบเตือนภัย และการทำงานวิจัยในด้านนี้ ซึ่งรัฐบาลเกือบทุกประเทศมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับท้ายๆ เพราะอ้างว่ามีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าและต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณก่อน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วทุกประเทศมีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทย คาดว่ามีระบบตรวจวัดและแจ้งเตือนแผ่นดินไหวและสึนามิที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ สังเกตได้จากมีประเทศเพื่อนบ้านมาดูงานการตรวจวัดและป้องกันภัยแผ่นดินไหวและสึนามิอยู่บ่อยครั้ง และยังมีนักวิจัยด้านแผ่นดินไหวและสึนามิที่เชี่ยวชาญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยอยู่ไม่น้อย ประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในการทำวิจัยด้านแผ่นดินไหวและสึนามิของภูมิภาคต่อไป เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในระดับนโยบายจึงจะสามารถทำให้สำเร็จได้

ด้าน ศ.เควิน เฟอลอง (Prof. Kevin Furlong) ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (Pennsylvania State University) กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิ ว่าคือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มาเยือนเราได้ทุกเมื่อ และไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและที่ไหน สำหรับประเทศไทยและเพื่อนบ้านอาเซียนถือว่าเสี่ยงมาก เพราะอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นเปลือกโลกบริเวณวงแหวนแห่งไฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ครอบคลุมภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่กว่า 452 ลูก และตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีความยาวกว่า 40,000 กิโลเมตร และมีลักษณะเป็นแนวโค้งแบบเกือกม้า

แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำได้คือ การเตรียมพร้อมรับมือ และแนวทางป้องกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยบทเรียนที่เกิดขึ้นครั้งอดีต ขณะเดียวกันควรสร้างความตื่นตัวให้แก่คนในพื้นที่เสี่ยงภัยก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งในเรื่องของการจัดทำคู่มือในการเตรียมความพร้อมและการปฏิบัติตัว รวมถึงเส้นทางการอพยพ ทั้งในรูปแบบการซ้อมในพื้นที่จริงอย่างต่อเนื่อง และการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนการออกแบบอาคารที่ยกตัวสูง และมีลักษณะของเสาปูนที่มีความแข็งแรง รองรับการกระแทกของคลื่น ซึ่งเป็นตัวช่วยในการสร้างทางรอดในยามที่ภัยพิบัติมาถึง

เราไม่อาจห้ามให้เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิได้ แต่เราสร้างความรู้เพื่อลดความสูญเสียจากเหตุร้ายได้ เสียงสะท้อนของผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติธรรมชาติจากต่างประเทศ ที่เหล่าประเทศในภูมิภาคนี้จะต้องนำมาช่วยกันคิดให้เห็นผลเชิงรูปธรรมต่อไป...

..........................................

ธนชัย แสงจันทร์

เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม สกว.