ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน

ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน

ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน

เหลือบมองไปเห็น SET Index กลับมาป้วนเปี้ยนแถว 1,600 จุดอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปี แล้วก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าสิ่งที่กำลังรอเราอยู่ข้างหน้านั้น มันจะเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย หรือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ สิ่งที่อยากนำเสนอวันนี้คือ เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ในอดีตและนำมาเทียบเคียงกับปัจจุบันได้อย่างไร

รอบแรกเมื่อปี 2556 หุ้นไทยขึ้นไปที่จุดสูงสุดราว 1,650 จุด โดย ณ วันนั้น กำไรต่อหุ้นแบบมองไปข้างหน้าของดัชนีหุ้นไทย (12-month forward earnings per share; Forward-EPS) อยู่ที่ระดับราว 114 จุด ซึ่งนับว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา โดยสิ่งที่มาดับฝันนักลงทุนในครั้งนั้น คือ การส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภาพคล่องของเฟดในเดือน พ.ค. หุ้นไทยก็ดิ่งลงมาเหลือราว 1,400 จุด ก่อนจะถูกกดดันด้วยปัจจัยการเมืองในประเทศจนร่วงไปเหลือ 1,200 กว่าจุดในช่วงปลายปี ทั้งหมดนี้เกิดก่อนที่เฟด จะลงมือลด QE จริงๆ ด้วยซ้ำ ผลคือ SET Index หล่นไป 25% นับว่าเกินเหตุเมื่อเทียบกับดัชนีกำไรต่อหุ้น Forward-EPS ที่ลดไปเพียง 2-3% เท่านั้น ผลที่ตามมาคือ ดัชนีหุ้นฟื้นตัวกลับขึ้นมาที่ 1,600 จุดก่อนสิ้นปี 2557

ส่วนรอบต่อมาในปี 2558 หุ้นไทยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราว 1,615 จุด โดยดัชนีกำไรต่อหุ้น Forward-EPS อยู่ที่ 106 จุด ซึ่งครั้งนั้นสิ่งทำให้หุ้นไทยร่วงไปเหลือ 1,200 กว่าจุด ต่างจากปี 2556 อย่างมาก เพราะเกิดจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนถูกกระทบอย่างแท้จริง ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบร่วง 40% จาก 50ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหลือ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กดดันผลประกอบการกลุ่มพลังงาน ขณะที่กลุ่มธนาคารโดนกดดันโดยหนี้เสีย ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ 4G แพงกว่าที่ตลาดคาดไปอย่างถล่มทลายก็กดดันกลุ่มสื่อสารจนร่วงหนัก ความหวังการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐฯ ก็ไม่คืบหน้าเนื่องจากปัญหาการเมือง หุ้นไทยในปีนั้นโดนกดดันกันทุก Sector หลักๆ จนดัชนีกำไรต่อหุ้น Forward-EPS ร่วงมาถึงราว 10% จาก 106 จุดลงมาเหลือไม่ถึง 100 จุดในต้นปี 2559 ทำเอาหุ้นไทยร่วงไปกว่า 20% (แรงไปอีกแล้ว) ผลก็คือ SET Index กลับมาบวกได้กว่า 20% ในปี 2559 หรือให้ผลตอบแทนดีที่สุดในภูมิภาค

ปัจจุบันปี 2560 ดัชนีกำไรต่อหุ้น Forward-EPS ของเราอยู่ที่ราว 106 จุด ใกล้เคียงกับปี 2559 ดังนั้นโอกาสที่หุ้นไทยจะปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1,600 จุด จึงเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้ไม่ยากนัก (และเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต) แต่ครั้งนี้ผมมองว่าเราไม่น่าจะต้องกลับไปเที่ยวหุบเขา 1,200 กันอีกรอบ เนื่องจากกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนกำลังเป็นขาขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ (1) ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลดีต่อกลุ่มพลังงาน (2) โครงการลงทุนภาครัฐมีความคืบหน้าในการประมูลและเซ็นสัญญาไปมากกว่าอดีต การเบิกจ่ายจะตามมาในไม่ช้า (3) ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารที่จะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออกที่เป็นขาขึ้นส่งผลดีต่อ loan growth และคุณภาพหนี้

ในระยะสั้น โอกาสลงทุนอาจกำลังจะกลับมาอีกครั้งหากหุ้นปรับตัวลง เพราะปัจจัยกระทบตลาดช่วงนี้เป็นเรื่องภายนอก และน่าจะกระทบจิตวิทยามากกว่าผลประกอบการจริง โดยมีสัญญาณชัดเจนว่าล่าสุดตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะ Risk Off (หลีกหนีสินทรัพย์เสี่ยง) ดูได้จากค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง (ตามเม็ดเงินที่ไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย) ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น ตลอดจน VIX Index ปรับตัวขึ้น (เป็นดัชนีวัดความกลัวความผันผวนของนักลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยอิงจากราคาอนุพันธ์) ความกังวลปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี การเลือกตั้งในฝรั่งเศสที่อาจนำไปสู่การออกจากสหภาพฯ ตลอดจนความไม่แน่นอนของนโยบายต่างๆ ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้น และไม่น่านำไปสู่วิกฤติ ภายใต้สมมติฐานว่าทุกฝ่ายไม่มีใครอยากเปลี่ยนสนามการค้าเป็นสนามรบ ซึ่งหุ้นกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีตามแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศของปีนี้ได้แก่ กลุ่มธนาคาร และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ขณะที่กลุ่มที่น่าจะได้อานิสงส์ของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ได้แก่ กลุ่มโรงแรม กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอาหาร