ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice)

ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice)

แนวคิดเรื่อง “ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” หรือ Transitional Justice - TJ เป็นองค์ความรู้ชุดหนึ่ง

 ที่ได้รวบรวมจากความรับรู้และประสบการณ์ ในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง ที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆทั่วโลก จากประเทศละตินอเมริกา และอีกหลายประเทศในเอเชียและอาฟริกา รวมทั้งยุโรปในบางประเทศ ความรุนแรงเหล่านั้นมักเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐ ที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อให้สังคมดำรงอยู่ในสถานเดิมต่อไป กับฝ่ายต่อต้านที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไปสู่สถานะใหม่ ในท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าวได้เกิดความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกรณีที่รัฐใช้อาวุธต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านที่เป็นขบวนการประชาธิปไตย มีผลทำให้ประชาชน พลเรือน โดยเฉพาะ ผู้หญิงและเด็กจำนวนมาก ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนเป็นกระบวนการที่ยึดถือประชาชน ที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเป็นตัวตั้งหรือเป็นศูนย์กลาง โดยการสร้างพลังให้กับคนเหล่านั้น และให้สังคมร่วมกันทำงาน เพื่อเยียวยาบาดแผลจากความรุนแรง ทั้งที่เกิดกับตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด รวมทั้งผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรงและ บาดแผลที่เกิดกับสังคม ให้สามารถฟื้นฟูและก้าวข้ามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไปได้ ที่สำคัญยิ่งคือ ไม่ให้สังคมหวนกลับไปสู่ความขัดแย้งเช่นที่เคยเกิดขึ้นอีก โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือการเปลี่ยนผ่านจากสังคมในระบอบอำนาจนิยมไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่มีสันติสุข และเป็นสังคมที่เข้มแข็งที่สามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice- TJ) เป็นกระบวนการของการขับเคลื่อนทางสังคมในประเด็นต่างๆที่เชื่อมโยง ส่งผลและเป็นเงื่อนไขต่อกันและกัน คือ (1) การตรวจสอบค้นหาความจริง(Truth Seeking) (2) การฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ(Reparations) (3) การดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด(Prosecutions) และ (4) การปฏิรูปในเชิงโครงสร้างในด้าน เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมและการเมือง(Institutional Reform)

ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทย แม้จะไม่หนักหน่วงและกว้างขวาง จนถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนนับแสนก็ตาม แต่ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย ได้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องและยาวนานมาหลายสิบปี นับแต่ความรุนแรงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, ความขัดแย้งด้วยอาวุธ ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐบาล ในช่วงทศวรรษที่ 60-80, เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535, เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อพฤษภาคม2553และ ความรุนแรงทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ประเด็นที่หลายฝ่ายพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู้ความปรองดองของคนในชาติ คือความรุนแรงที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและการควบคุมการฝูงชนที่ผ่านมาหรือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสีทางการเมือง ซึ่งความขัดแย้งต่างๆเหล่านั้นได้ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้คนจำนวนมาก ทรัพย์สินเสียหายมากมายยากที่จะคำนวณได้ และที่สำคัญคือความขัดแย้งและความสูญเสียดังกล่าว เป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้สังคมไทยไม่สามารถพัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนเท่าที่ควร

ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุส่วนหนึ่งที่เกิดจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ที่มีความสัมพันธ์และค้ำจุนซึ่งกันและกันอย่างไม่อาจแยกออกได้ อาทิ โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ การผูกขาดทางเศรษฐกิจนำไปสู่การกระจุกตัวของโภคทรัพย์และรายได้ ช่องว่างระหว่างคนรวยซึ่งเป็นชนส่วนน้อยของประเทศ และคนยากจนที่เป็นชนส่วนใหญ่ รวมทั้งการเมืองและการปกครองในระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมที่ถูกควบคุมโดยสถาบันอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย ทั้งสถาบันทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ฯลฯ กลายเป็นวงจรหรือห่วงโซ่ที่พันธนาการสังคมอย่างเหนียวแน่น จนดูเหมือนว่ายากที่จะเปลี่ยนแปลงได้

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่ประทุเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกือบทุกกระยะสิบปี แสดงให้เห็นถึงการดิ้นรนของสังคมที่ต้องการสลัดพ้นจากพันธนาการดังกล่าว หรือเป็นความพยายามในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่พัฒนาไปไกลกว่าเดิม ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่เหมาะสมแล้ว ความขัดแย้งอาจจะกลายเป็นความรุนแรงที่หนักหน่วงกว้างขวางจนเกิดความเสียหายต่อประชาชนยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมาได้

ตลอดช่วงของความขัดแย้งที่ผ่านมา ได้มีความริเริ่ม และความพยายามทั้งฝ่ายรัฐ และภาคประชาสังคม ที่ต้องการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว มีการนำแนวคิด และทฤษฎีต่างๆมาช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาและเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งรวมถึงแนวคิดในเรื่องความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านด้วย

การที่สังคมไทยได้มีการปรึกษาหารือ หรือถกเถียงกันถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองมาโดยตลอด เมื่อประกอปกับรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ขึ้นมา จึงเป็นโอกาสอันดีที่ภาคประชาสังคมจะได้จัดเวทีคู่ขนาน ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง นักวิชาการ และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความคิดกับผู้เชี่ยวชาญและศึกษาประสบการณ์จากประเทศอื่น และร่วมกันสำรวจความเคลื่อนไหวของกระบวนการปรองดองดังกล่าว และศึกษาแนวคิด ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ว่าสามารถที่จะนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในสังคมไทย ได้มากน้อยเพียงใดและอย่างไร

คณะทำงาน TJ Thailand จึงได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับความปรองดองในสังคมไทยมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดไปเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ครั้งที่ 2 จัดไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกำหนดจะจัดครั้งต่อไปที่ในวันที่ 26 เมษายน 2560 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผมเชื่อว่าจากประสบการณ์ของการนำแนวคิดความเป็นธรรม ในระยะเปลี่ยนผ่านที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายๆ ประเทศทั่วโลก มาปรับใช้กับกรณีของไทยเรา จะเป็นแนวทางที่จะเกิดความสำเร็จเช่นกัน และจะช่วยป้องกันไม่ให้สังคมหวนกลับไปสู่ความขัดแย้งเช่นที่เคยเกิดขึ้นอีก (preventing recurrence) หรือพูดสั้นๆว่า Never Again นั่นเอง