รัฐธรรมนูญเป็นสมบัติอันล้ำค่าของแผ่นดิน

รัฐธรรมนูญเป็นสมบัติอันล้ำค่าของแผ่นดิน

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ในการประกอบพระราชพิธี พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 พุทธศักราช 2560 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจัดให้มีพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดครั้งหนึ่ง ในรอบระยะเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมา ทั้งการทรงลงพระปรมาภิไธย และพระราชทานรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นประชาธิปไตยที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาติ รวมทั้งยังมีการยิงสลุตอย่างสูงสุดด้วยการยิง 21 นัด ของทุกเหล่าทัพ และทรงโปรดให้มีการย่ำระฆังและกลองของวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้ว่า ณ บัดนี้ ประเทศไทยของเรามีรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของแผ่นดินบังคับใช้แล้วในรัชสมัยของรัชกาลปัจจุบัน

ได้มีผู้ถามมามากว่าการเลือกวันจักรี (6 เม.ย) มีนัยเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมอย่างไรหรือไม่ ด้วยความเป็นนักวิชาการจึงรีบไปค้นคว้าหาข้อมูลความจริงที่สามารถเสาะแสวงหาได้ ถือว่าโชคดีมากที่รัฐสภาไทยได้มีการจัดพิมพ์หนังสือรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือเล่มดังกล่าวมีความตอนหนึ่งว่า พระองค์ได้มอบให้พระยาศรีวิศาลวาจา ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรมอนด์ สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศเตรียมร่างรัฐธรรมนูญ และพระองค์ตรัสว่าต้องการให้รัฐธรรมนูญแก่ราษฎรโดยเร็วที่สุดให้ทันวันที่ 6 เมษายน 2475 ซึ่งเป็นวันครบรอบมหาจักรี..

พึงทราบทั่วกันว่า วันที่ 6 เม.ย.2475 นั้น เป็นวันสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งของประเทศไทย ในวาระโอกาสที่ราชวงศ์จักรีได้ปกครองแผ่นดินไทยมาครบรอบบรรจบ 150 ปีบริบูรณ์ พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้กับปวงชนชาวไทยเสมือนเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่คนไทยจะได้มีโอกาสและมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองมีปากมีเสียงในการบริหารชาติบ้านเมืองอย่างนานาอารยประเทศ แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในขณะนั้นได้นำไปสู่เหตุการณ์สำคัญอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยในปีเดียวกันนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม นัยที่กล่าวถึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของชาติไทยเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา ในวันนี้จะเป็นเหตุและผลอย่างไรเป็นสิ่งทีทุกท่านต้องใช้การพินิจพิจารณาด้วยการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป แต่ที่นำเสนอมาเป็นสิ่งที่ผมในฐานะนักวิชาการสามารถกระทำได้ด้วยการนำเสนอข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎเป็นพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีการจารึกไว้ในอดีตที่ผ่านมา

อีกคำถามที่มีผู้สอบถามมาอย่างกว้างขวางอีกคำถามหนึ่ง นั่นคือ อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ส่วนใหญ่จะถามตรงๆ ว่า “แล้วการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด” ผมทั้งให้สัมภาษณ์พี่น้องสื่อมวลชนและตอบคำถามผู้สงสัยอย่างจริงใจและตรงไปตรงมาว่า หน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งดังกล่าวมิใช่ความรับผิดชอบของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าเมื่อใดที่ภารกิจในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของพวกเรากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ) เสร็จสิ้นลงในเวลา 240 วัน หรือแปดเดือนนับจากนี้ การเลือกตั้งจะต้องมีขึ้นภายใน 150 วันหรือ 5 เดือน ซึ่งเข้าใจว่ามีผู้ถูกถามเรื่องเดียวกันนี้อีกหลายท่าน อาทิ คำตอบของท่านรองนายกรัฐมนตรี ศ ดร วิษณุ เครืองาม ได้ให้ความชัดเจนในลักษณะเดียวกัน แต่มีสิ่งที่ตรงกันอีกประการหนึ่งคือ กรอบเวลาที่ว่ามีเงื่อนไขที่จะต้องนำมาพิจารณาทั้งในเรื่องของความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและการดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งท่านอาจารย์วิษณุฯ มองในแง่ดีว่า หากเสร็จเร็วก็อาจมีการเลือกตั้งเร็วขึ้น ทั้งนี้สิ่งที่ท่านอาจารย์ฯ ปรารภเป็นแนวทางที่เดินไปตามตัวบทกฎหมายที่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในรัฐธรรมนูญ

ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะที่ผ่านความเห็นชอบของปวงชนชาวไทยในการทำประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 และเป็นพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างสูงสุดที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำโบราณราชประเพณีทั้งการยิงสลุตก็ดี การย่ำระฆังกลองของวัดทั่วราชอาณาจักรซึ่งได้เคยกระทำมาหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา สิ่งที่ได้ทรงริเริ่มดำเนินการนี้จะเป็นบทเรียนและเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของชาติที่เยาวชนและชาวไทยทั้งมวลจะมีโอกาสได้เห็นภาพและวินาทีที่สำคัญยิ่งครั้งหนึ่งในแบบแผนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข