ไม่มีอะไรเร็ว แค่เราเริ่มช้า

ไม่มีอะไรเร็ว แค่เราเริ่มช้า

เราควรคิด disrupt ตัวเอง จะได้ไม่เสียใจในภายหลัง แล้วเราจะเห็นว่าโลกไม่ได้หมุนเร็วอย่างที่คิด เพราะเราก็คิดได้เร็วไม่ต่างจากโลก

นั่งเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดกับคนทำงานหลายๆคน แม้ว่าจะผ่านโลกมามาก มีประสบการณ์นานหลายปี แต่ครั้งนี้ในช่วงเวลานี้ ดูเหมือนหลายคนเริ่มท้อและขอพัก บอกว่าตามโลกไม่ทันจริงๆ มันหมุนเร็วจนรู้สึกว่าไม่ใช่แค่แก่ทางกาย แต่กำลังจะเก่าในความคิดและการทำงาน เพราะเดี๋ยวนี้มีเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามาลดขั้นตอน ลดความซ้ำซ้อน และลดต้นทุนได้มาก หากแต่เราไม่รู้จักมันและใช้ไม่เป็น หลายคนเริ่มบ่นว่าตามไม่ทันและเริ่มถอดใจ

 

อาการแบบที่ว่าไม่ใช่ว่าโลกหมุนเร็วอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเราปรับตัวช้าด้วย ลองคิดดูว่าถ้าเราวิ่งด้วยความเร็วที่เท่ากับการหมุนของโลก เราก็อยู่นิ่งและได้เห็นสภาพแวดล้อมรอบตัวค่อยๆเปลี่ยนไป แต่ถ้าเราหยุดนิ่งในขณะที่โลกหมุนด้วยความเร็วที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะพบว่าภาพเหตุการณ์รอบข้างมันเริ่มที่จะเบลอขึ้นจนสายตาเราจับจ้องและมองไม่ทัน ซึ่งนั่นแหละที่เป็นสาเหตุของโรคหัวหมุนของคนทำงานรุ่นเก่าที่ก้าวไม่ทันเทคโนโลยีใหม่ การหยุดซ้อมไม่ฟิตร่างกายไม่ได้ลับสมองมานาน จึงทำให้เกิดความรู้สึกตกยุคและไม่ทันสมัย คำพูดที่ว่า “การหยุดนิ่ง ก็เท่ากับการถอยหลัง” จึงเป็นเรื่องจริง เพราะเราจะเห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงภายนอกมีระยะห่างออกไปจากเราทุกที

 

วันนี้หลายองค์กรจึงเริ่มขยับและรับเอาคำว่า “นวัตกรรม” ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร บางองค์กรบรรจุไว้ในวิสัยทัศน์ พันธกิจ หรือในค่านิยมขององค์กร อย่างน้อยก็ให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ ไม่ทำไม่ได้ และดูเหมือนหนทางเดียวที่จะทำให้ทุกคนตระหนักอย่างแท้จริงก็คือ ทำให้เรื่องของการคิดสร้างสรรค์และลงมือทำสิ่งใหม่ๆ กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร แผนงานและกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมจึงเกิดขึ้นและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการทำกิจกรรมข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงงาน (Kaizen Suggestion Scheme) หรือในภาคบริการที่มีการคิดสร้างสรรค์ในแบบ Design Thinking ก็คงต่อยอดได้ไม่ยากนัก

 

นอกจากการรณรงค์ส่งเสริมเพื่อสร้างความตระหนักและเห็นความสำคัญของนวัตกรรมแล้ว การกระตุ้นให้พนักงานได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำสิ่งใหม่ๆมักจะทำควบคู่กัน และจะให้ดีควรทำอย่างเป็นระบบและมีกระบวนการที่ดีรองรับ การกระตุ้นให้พนักงานส่งไอเดียนวัตกรรม จึงจำเป็นต้องมีเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจนด้วย แต่ละองค์กรก็ควรจะกำหนดให้สัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ขององค์กร หลักคิดกว้างๆที่พอจะนำมาแนะนำได้ในเบื้องต้นคือ

1.ความคิดใหม่ (new Idea) เริ่มต้นง่ายๆจากทุกคน เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราคิด งานที่เราทำ ผลงานที่ได้ออกมาเริ่มซ้ำเดิม ให้เราเริ่มต้นที่จะคิดอะไรใหม่ได้แล้ว นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการสร้างสิ่งใหม่ในตัวเอง ถ้าเราทำเช่นนี้ได้ เราจะสามารถคิดในระดับที่สูงขึ้น ยากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้นได้ และนี่คือก้าวสำคัญที่จะนำเราไปสู่ผลงานที่สร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ การพิจารณาผลงานนวัตกรรมจึงเริ่มต้นจากความคิดเสมอ

-       ใหม่ในองค์กร เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครในองค์กรทำมาก่อน นำไปสู่การปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น

-       ใหม่ในอุตสาหกรรม เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เราอยู่ ซึ่งจะทำให้เรากลายเป็นผู้นำในตลาด

-       ใหม่ในประเทศ เป็นสิ่งที่ช่วยขยายโอกาส หากเราจะนำมันไปใช้ในธุรกิจประเภทอื่นขององค์กร หรือขายสิทธิให้กับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นนำไปใช้ประโยชน์

-       ใหม่ในภูมิภาค ถ้าจะก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาค การที่เรามีนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันไม่มี ก็ทำให้เราสามารถขยายการค้าไปในตลาดที่กว้างมากขึ้น

-       ใหม่ในโลก ถ้านวัตกรรมนั้นแพร่หลายและใช้ได้จริงในประเทศต่างๆในโลก บางทีการไลเซ่นหรือขายสิทธิในการใช้เทคโนโลยีนั้นๆ อาจจะสร้างรายได้มากกว่าการผลิตสินค้าขายเอง

2.คิดค้นทดลอง (Invention) แค่คิดแต่ไม่ศึกษาหาวิธีการ ไม่ลงมือทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าความคิดนั้นว่าสามารถเป็นจริงได้ มันก็เป็นได้แค่ฝัน ดังนั้นการส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอสำหรับการทดลอง จึงเป็นสิ่งที่ดูเหมือนยากเพราะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจจะสูญเงิน แต่เป็นความท้าทายและความใจกล้าของผู้บริหารโดยแท้ การเสี่ยงอย่างมีเหตุผลและรอบคอบ จึงต้องการผู้นำที่มีความเข้มแข็งและจิตใจมั่นคงยิ่งนัก

 3.นำไปใช้ได้จริง (Implementation) ต้องไม่จบแค่การประดิษฐ์คิดค้น แต่ต้องต่อยอดให้มีความสมบูรณ์และนำไปใช้ได้จริง การแก้ไขปรับปรุงซ้ำไปมาจนแน่ใจ บางครั้งอาจต้องขยายสเกลไปสู่ระบบที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่านวัตกรรมนั้นจะนำไปสู่ธุรกิจและสร้างประโยชน์ได้จริงแบบที่คาดการณ์ไว้

 4.เกิดผลกระทบในทางบวก (Impact) ประเมินผลเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เผยแพร่และนำไปใช้จริงอย่างกว้างขวาง และที่สำคัญควรตรวจติดตามผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน แม้ว่าจะมีการประเมินมาอย่างดีแล้วก็ตาม

 5.อธิบายขยายผล (Information) การส่งต่อข้อมูลและเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ของนวัตกรรมใหม่ออกไปสู่วงกว้าง ก็คือการทำการตลาดดีๆนี่เอง ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือการให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อผู้บริโภคและลูกค้าเป้าหมายก็ตาม

 

มาเริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมใหม่ในวันนี้ เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมในวันหน้า ไม่ใช่แค่ก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราสามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้ยิ่งดี จึงอย่านั่งรอให้คนอื่นคิดแล้วมา disrupt เรา

แต่เราควรคิด disrupt ตัวเอง จะได้ไม่มานั่งเสียใจในภายหลัง แล้วเราจะเห็นว่าโลกไม่ได้หมุนเร็วอย่างที่คิด เพราะเราก็คิดได้เร็วไม่ต่างจากโลก