ทรัมป์จะประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ (2)

ทรัมป์จะประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ (2)

ทรัมป์จะประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ (2)

[ทัศนะ / เศรษฐศาสตร์จานร้อน / 10 เม.ย. / 20.49]

ทรัมป์จะประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ (2)

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงความล้มเหลวในการปฏิรูประบบประกันสุขภาพว่าประธานาธิบดีทรัมป์ และนายพอลล์ ไรอัน คงจะต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีที่พึ่งพาเสียงของพรรครีพับลิกันเป็นหลักในการผ่านกฎหมายมาเป็นการเชื้อเชิญให้สส.พรรคเดโมแครทมาร่วมสนับสนุนแผนการปฏิรูปและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลดภาษีและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อมิให้ถูกกลุ่มขวาจัดในพรรครีพับลิกันประมาณ 30-40 คนสามารถขัดขวางการผ่านกฎหมายได้ ซึ่งหากพิจารณาจากจำนวนสส.ที่รีพับลิกันมีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร 237 คนนั้น โดยปกติจะต้องมีเสียงสนับสนุนกฎหมายเกินกึ่งหนึ่งของสภาที่มีสส.ทั้งสิ้น 435 คนคือ 218 คน แต่ปัจจุบันนั้นมีว่างอยู่ 5 ตำแหน่ง ทำให้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งเท่ากับ 216 คน ดังนั้นสส.พรรครีพับลิกันจะแปรพรรคไปลงคะแนนเสียงค้านกฎหมายของพรรคเองเกินกว่า 21 คนไม่ได้ ซึ่งกลุ่มขวาจัดคือ Freedom Caucus นั้น เข้าใจว่าสามารถคุมเสียงได้ประมาณ 30-40 เสียง

บางคนอาจข้องใจว่าทำไมประธานาธิบดีทรัมป์และประธานสภาพอลล์ ไรอันจึงจะไม่สามารถ “สั่ง” สส.กลุ่มดังกล่าวได้ แต่ระบบการเมืองของสหรัฐนั้นมีความแตกต่างจากระบบรัฐสภาของอังกฤษ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติมีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและเป็นระบบที่เน้นการคานอำนาจซึ่งกันและกันมากกว่า นอกจากนั้นก็ยังมีประเด็นเฉพาะที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์มีบารมีไม่มากนัก กล่าวคือ

เป็น คนนอก ที่หาเสียงและได้รับการเลือกตั้งเพราะเป็นคนนอก เพราะกล่าวโจมตีดูถูกนักการเมืองมาโดยตลอดและเมื่อมารับตำแหน่งและต้องปกครองประเทศ ก็จึงไม่ได้รู้จักนักการเมืองหรือมีเครือข่ายที่จะประสานผลประโยชน์ได้ แม้จะเลือกรองประธานาธิบดี ไมค์ เพ็นซ์ ซึ่งมีจุดยืนอนุรักษ์นิยม แต่ก็ถือว่านายทรัมป์มีความคุ้นเคยกับนักการเมืองน้อยมาก

ความน่าเชื่อถือของประธานาธิบดีทรัมป์ถูกบั่นทอนลงไปมากเมื่อกล่าวหาว่าประธานาธิบดีโอบามาสั่งให้หน่วยข่าวกรองแอบดักฟังตึกทรัมป์ที่นิวยอร์ก แต่ปรากฏว่าหน่วยข่าวกรอง รวมทั้งเอฟบีไอยืนยันว่าไม่เคยมีคำสั่งดังกล่าวและไม่มีการกระทำดังกล่าว แต่ทรัมป์ก็ยังเบี่ยงประเด็นไปอ้างว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐใช้ให้หน่วยข่าวกรองอังกฤษช่วยดักฟังให้ ซึ่งต่อมารัฐบาลอังกฤษก็ออกมาปฏิเสธอย่างทันควัน

การออกคำสั่งประธานาธิบดีห้ามประชาชนจากประเทศมุสลิม 7 ประเทศเข้าประเทศสหรัฐ ก็เป็นคำสั่งที่ทำให้ความนิยมในประธานาธิบดีทรัมป์ตกต่ำลง นอกจากนั้นการที่ศาลสหรัฐพิพากษาแย้งคำสั่งดังกล่าว ทำให้ต้องออกคำสั่งใหม่ห้ามประชาชนจากประเทศมุสลิม 6 ประเทศเข้ามายังสหรัฐ (จาก 7 ประเทศ) แต่ก็ยังถูกศาลพิพากษาแย้งคำสั่งดังกล่าวอีก ทำให้ความน่าเชื่อถือของทรัมป์ตำต่ำลงไปอีก

การสำรวจความเห็นของประชาชนโดย Gallup พบว่าล่าสุดมีเพียง 40 % เท่านั้นที่พอใจ (approve) กับการบริหารประเทศของทรัมป์ ในขณะที่ 54% ไม่พอใจ (disapprove) ซึ่งตกต่ำลงมากจากวันที่รับตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่ง 45% พอใจและ 45% ไม่พอใจเท่ากัน ความนิยมชมชอบประธานาธิบดีทรัมป์ที่ลดลงนั้น ทำให้สส.รีพับลิกัน เกรงใจ ประธานาธิบดีน้อยลง

แต่การจะไปหาเสียงจากสส.พรรคเดโมเครทมาเติมก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เพราะแนวคิดของ 2 พรรคแตกต่างกันแบบฟ้ากับดิน แนวคิดหลักของพรรคเดโมแครทคือ Big Governmentหมายความว่ารัฐบาลจะต้องมีขนาดใหญ่ เพราะมีหน้าที่ดูแลประชาชนให้ทั่วถึง จะต้องมีเงินช่วยเหลือประชาชนและเป็นแกนนำในการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจนกำหนดกฎเกณฑ์ด้านต่างๆ เพื่อความปลอดภัยและกินดีอยู่ดีของประชาชนซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณมาก และต้องเก็บภาษีจากคนร่ำรวยให้มากๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม แต่สำหรับพรรครีพับลิกันนั้นต้องการ Small Government หมายความว่ายิ่งสามารถจำกัดการที่รัฐบาลจะเข้ามาก้าวก่ายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นประชาธิปไตยและนำไปสู่ระบบตลาดเสรี ที่จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ในส่วนของการเก็บภาษีนั้นพรรครีพับลิกันมองว่าเป็นสิ่งที่ควรทำน้อยที่สุด เพราะเป็นการเบียดเบียนประชาชน

หากจะขอเสียงพรรคเดโมแครทมาสนับสนุนการปฏิรูปภาษีและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น เดโมแครทน่าจะยืนยันให้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลักใหญ่ และอาจต้องการให้มีการลงทุนก่อนการลดภาษี

การลดภาษีรายได้นิติบุคคลและลดขั้นบันไดภาษีบุคคลธรรมดาตามที่ทรัมป์เสนอนั้น เดโมแครทคงจะรับไม่ได้ เพราะจะเป็นประโยชน์กับคนรวยเป็นหลัก แต่เว้นแต่จะต้องมีการเก็บภาษีคนรวยในด้านอื่นมาทดแทน รวมทั้งการลงโทษบริษัทที่ฝากกำไรเอาไว้ในต่างประเทศ

ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีที่ชายแดน 20% หรือที่เรียกว่า Border Adjustment Tax (BAT) แต่หากไม่รับตรงนี้รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก

กล่าวโดยสรุปคือร่างกฎหมายปฏิรูประบบภาษี และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน คงจะมีความหลากหลายอย่างมาก และอาจต้องการเป็นนโยบายขนาดย่อมไม่ใช่นโยบายขนาดใหญ่ ดังที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยหาเสียงเอาไว้ ตัวอย่างเช่น แทนที่จะลดภาษีรายได้นิติบุคคลจาก 35% เหลือ 15% ตามที่ทรัมป์เคยสัญญาเอาไว้ก็อาจลดลงให้เหลือ 30% เพื่อมิให้ขาดดุลงบประมาณมากเกินไป