Social Enterprise ไม่ใช่ “การกุศล”

Social Enterprise ไม่ใช่ “การกุศล”

สวัสดีค่ะ วันนี้ดิฉันขอเก็บตกแนวคิดของผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม (SE) จากงาน “Digital Disruption for Impact”

ที่จัดโดยธนาคาร DBS Asia X ในสิงคโปร์เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมามาฝากกันค่ะ

โดยเว็บไซต์ด้าน startup อย่าง Vulcan Post ได้รายงานบทสัมภาษณ์ของผู้ประกอบการ SE ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในงานดังกล่าวว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นจะช่วยขยายกิจการ SE ของพวกเขาได้อย่างไรและมีกิจการอยู่รายหนึ่งที่ดิฉันเห็นว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และขอนำมาถ่ายทอดในครั้งนี้ค่ะ

นั่นคือ “Zaya Learning Labs” ตัวอย่างกิจการ SE จากประเทศอินเดียที่ชนะเลิศจากการแข่งขัน DBS-NUS Social Venture Challenge Asia ประจำปี 2557 โดยเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เยาวชนในชุมชนรายได้น้อยสามารถ “เข้าถึง” การศึกษาได้มากขึ้นและที่สำคัญ จุดยืนของเขาชัดเจน ว่านี่คือ “ธุรกิจ” ไม่ใช่ “การกุศล”

นีล เดอ โซวซา” ผู้ก่อตั้ง Zaya Learning Labs เล็งเห็นว่าปัจจุบันอินเทอร์เน็ตทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน แถมยังไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังมีคนอีกมากทั่วโลกที่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เรียกได้ว่า 2 ใน 3 ของประชากรโลกเท่าด้วยซ้ำที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ในอินเดียนั้นยังขาดแคลนครู อุปกรณ์การเรียน รวมถึงเด็กนักเรียนที่มีทักษะอันหลากหลาย นีลจึงเล็งเห็นว่าหากมีเทคโนโลยีและคอนเทนท์ที่ดีก็จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพในโรงเรียนต่างๆ ได้

เขาจึงก่อตั้ง Zaya Learning Labs เพื่อพัฒนาหลักสูตรและเนื้อหาที่มีคุณภาพ เพื่อให้เข้าถึงเด็กนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยในอินเดีย และในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

รูปแบบที่ใช้ในการเรียนการสอนของ Zaya Learning Labs คือการเรียนรู้แบบผสมผสานหรือ “Blended Learning model” แบบครบวงจรโดยโรงเรียนต่างๆ ในอินเดียสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้แม้จะไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าก็ตาม ผ่านระบบที่ชื่อว่า“ClassCloud”ที่บรรจุเนื้อหาทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ด้วยการเชื่อมต่อ hotspot ที่Zaya Learning Labsทำขึ้นเอง

“การสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพให้แก่เด็กๆ ทุกคนได้ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนหรือมีสถานะทางการเงินอย่างไร อาจฟังดูเป็นภารกิจที่ล้ำค่ามาก แต่ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ต้องบอกว่าเรามุ่งเน้นการสร้าง ‘ธุรกิจ’ จากภารกิจนี้” นีล กล่าว และขยายความต่อว่า ความท้าทายที่แท้จริงคือการดำเนินธุรกิจอย่างไรให้มีต้นทุนต่ำที่สุด ที่ทำให้แม้แต่คนที่รายได้น้อยก็สามารถจ่ายเงินหรือเข้าถึงได้

ห้องเรียนในโรงเรียนทั่วอินเดียจึงมีอุปกรณ์ Zaya Labkits ประกอบด้วย แท็บเล็ตพร้อม wifi โปรเจคเตอร์ และ ClassCloud ที่ดาวน์โหลดแผนการเรียนการสอนสำหรับครู และเนื้อหาการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ เอาไว้พร้อมแล้ว ซึ่งทำให้โรงเรียนเอกชนราคาถูกในอินเดียหรือทั่วโลกสามารถนำหลักสูตรเหล่านี้ไปสอนให้แก่เด็กๆ ได้ด้วยสนนราคาไม่ถึง 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน ต่อเด็กนักเรียน 1 คน

โรงเรียนในชุมชนรายได้น้อยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะคิดค่าเล่าเรียนประมาณเดือนละ 8 ถึง 10 เหรียญสหรัฐฯ เราจึงเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการการศึกษานี้ด้วยการทำให้ต้นทุนต่ำลง สิ่งที่สำคัญสำหรับเราคือการที่ลูกค้ายอมจ่ายเพื่อบริการ ดังนั้นธุรกิจของเราจึงไม่ใช่การกุศล แต่สิ่งที่เราทำคือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าเขากล่าว

เรามักจะต้องคอยแก้ความเข้าใจผิดเสมอ เมื่อมีคนชอบถามว่าทำไมเราไม่ให้บริการฟรีๆ หรือถ้าไม่อย่างนั้นพวกเขาก็อาจไม่เลือกใช้บริการของเราแต่ที่เราอธิบายคือ คุณต้องรู้ว่ามันมีต้นทุนสำหรับบริการเหล่านี้ และยังมีลูกค้า (โรงเรียน) อีกมากที่เต็มใจจ่ายเช่นกัน สิ่งที่เราทำคือแค่ทำให้เข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอนคุณภาพได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

นอกจากจะให้บริการด้านการศึกษาแล้ว ปัจจุบัน Zaya Learning Labs ยังใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงในชุมชนที่มีรายได้น้อย ให้ได้รับการฝึกอบรมให้กลายเป็นคุณครูที่มีคุณภาพ และมีความมั่นใจที่จะไปสอนเด็กนักเรียนด้วยเช่นกัน

กรณีของ Zaya Learning Labs เป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า กิจการเพื่อสังคมไม่ใช่การกุศล และต้องพยายามขายผลิตภัณฑ์และบริการด้วยราคาที่แข่งขันได้ ทั้งยังต้องพยายามควบคุมต้นทุนให้ต่ำที่สุด

เพราะหากธุรกิจกลายเป็นการกุศล ไม่สร้างกำไร และควบคุมต้นทุนไม่ได้ขึ้นมาเมื่อไหร่ เมื่อนั้นกิจการเพื่อสังคมก็ไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนค่ะ