'รัฐ' ปัจจัยสำคัญของ...เกษตรไทย 4.0

'รัฐ' ปัจจัยสำคัญของ...เกษตรไทย 4.0

คุณผู้อ่านบางท่านคงพอจะจำได้ว่า ผมเคยเขียนเรื่อง “ครัวของโลก” : หนึ่งใน..ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

 (กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 ธ.ค.2559) ซึ่งได้กล่าวถึง สังคมเมืองที่เติบโตขึ้น ความต้องการอาหารมากขึ้น ปัญหาโลกร้อน และไทยยังมีบริษัทอาหารระดับโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังได้ส่งผลมาถึงปัจจุบัน และจะเป็นฐานในการที่ประเทศไทยจะมุ่งสู่ ไทยแลนด์ 4.0” อีกด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ

หนึ่ง ผลการดำเนินงานภาคการเกษตรของไทยยังแข็งแกร่ง

ในปี 2557 ภาคการเกษตรไทยมีสัดส่วนในขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยสูงถึง 665,800 ล้านบาท โดยถ้าคิดเป็นร้อยละในปีที่ผ่านๆมา ตั้งแต่ปี 2553-2557 แล้ว ก็จะพบว่ามีสัดส่วนอยู่ระหว่าง 10.5-11.6% ทีเดียว ในปี 2558 พบว่า 68% ของมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดมาจากสินค้าพืชไร่ ภาคการประมงอยูที่ 17% ภาคปศุสัตว์อยู่ที่ 11% ภาคการบริการการเกษตร 2% และภาคป่าไม้ 1%

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความแห้งแล้งที่ยาวนานเป็นประวัติการณ์ ก็ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อภาคนี้ ในปี 2554 อัตราการเจริญเติบโตของภาคการเกษตรไทยอยู่ที่ 6.3% พอมาถึงปี 2557 อัตราการเจริญเติบโตของภาคการเกษตรไทยกลับมาเหลืออยู่แค่เพียง 0.3% เท่านั้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นในปี 2558 อัตราการเจริญเติบโตกลับกลายเป็น -5.8% แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะแย่ไปหมด ภาคปศุสัตว์และภาคการประมงของไทยกลับสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ในอัตรา 2.2% และ 2.5% ตามลำดับ

สอง ภาคการเกษตรไทยแข็งแกร่งได้เพราะ...ภาคเอกชนไทย

ยาง : ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกยางมากที่สุดในโลก คาดกันว่าตลาดรถยนต์ของสหรัฐอเมริกานั้น ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางนั้นเรามีสัดส่วนสูงถึง 35% ทีเดียว ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผลผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสองเท่ากล่าวคือ ในปี 2543 อยู่ที่ 2.35 ล้านตัน พอมาถึงปี 2558 สูงขึ้นเป็น 4.5 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่ของผลผลิตยังคงมาจากเกษตรกรรายย่อย นอกจากนั้นประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ส่งออกยางรายใหญ่ที่สุดของไทย สามารถส่งผลผลิตจนเข้าไปมีสัดส่วนการตลาดสูงถึง 10% ของทั้งโลกทีเดียว

น้ำตาล : การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยของไทยโดยภาคเอกชนของไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก โดยคาดการณ์กันว่า ในปีนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีผลผลิตทะลุระดับ 11 ล้านตัน โดยในปีที่ผ่านๆมา ผลผลิตน้ำตาลควรจะแตะระดับนี้แล้ว แต่ปัญหาความแห้งแล้งก็ได้บั่นทอนปริมาณผลผลิตให้ลดลงมานั่นเอง

ปศุสัตว์ : การขยายกิจการไปยังต่างประเทศของภาคเอกชนไทย อาทิ บริษัท CPF Investment Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ Westbridge Food Group Limited (WFGL) ซึ่งเป็นบริษัทอังกฤษ ที่ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์ และอาหารสำเร็จรูปให้กับลูกค้าที่เป็นร้านค้าปลีก ฟู้ดเซอร์วิส โรงงานผลิตอาหาร ในยุโรป คาดว่าการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใน WFGL จะทำให้ CPF สามารถขยายเครือข่ายช่องทางการค้าปลีก ฟู้ดเซอร์วิส และกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารในสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ถือเป็นโอกาสของไทยที่จะเจาะตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

สาม อุปสรรค โอกาส และการสนับสนุนของ เกษตรไทย 4.0”

ถึงแม้ว่า ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการเป็นศูนย์กลางของสินค้าหลายต่อหลายอย่าง นับตั้งแต่ศูนย์กลางผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงภาคการเกษตรของไทยอีกด้วย สินค้าภาคการเกษตรยังทำหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรีได้อีกด้วย โดยในโอกาสที่ประธานาธิบดีดูเดอร์เตของฟิลิปปินส์เดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อเร็วๆนี้ ทางกลุ่มซีพียังมีโอกาสได้เข้าพบและหารือกันในประเด็นการพัฒนาภาคเกษตรปศุสัตว์ของประเทศฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการมอบเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือการพัฒนาชนบทในฟิลิปปินส์ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากศึกษาลึกลงไปในรายละเอียด เราก็จะพบว่า ประเทศไทยยังต้องพัฒนาภาคการเกษตรอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก หรือการพัฒนาให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบันซึ่งอยู่อัตราผลผลิตยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ดูเหมือนว่า โครงการ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ภาครัฐกำลังรณรงค์อยู่ในขณะนี้ เวลานี้จะเป็นเพียง ลมปาก ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปหรือเปล่า? ถ้ามิใช่...นั่นหมายถึง “รัฐ” จะต้องเริ่มลงมือ ณ วินาทีนี้ ทั้งทางด้านงานวิจัยและงานสนับสนุนต่างๆ เพื่อให้ภาคการเกษตรของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรรมที่ผูกพันกับคนไทยจำนวนมากที่สุด ให้มีอันดับต้นๆในเวทีโลกให้ได้ เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ปัญหาต่างๆก็อาจจะกลับมาที่รัฐบาลเองก็เป็นได้

ทำให้นึกถึงคำพูดของ Jack Ma ที่เคยกล่าวไว้ว่า “I tell the government, if people have no jobs, you are in trouble. Government will be in trouble. My job is to help more people have jobs.” แปลตามความได้ว่า ผมเคยบอกรัฐบาลว่า ถ้าผู้คนไม่มีงาน...คุณจะเดือดร้อน รัฐบาลก็จะเดือดร้อน งานของผมก็คือ ช่วยทำให้จำนวนคนมีงานทำมากขึ้นนั่นเอง

ผู้อ่านหลายท่านคงทราบดีว่า เป็นระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษมาแล้ว ที่จีนได้พลิกหน้าประวัติศาสตร์โลก โดยการทำให้ประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่งและได้พัฒนาแซงหน้ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจไปเกือบทุกราย จนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สอง

..............................................................................................

หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ www.doctorwe.com