เรื่องชวนคิดจากห้องส้วมจีน

เรื่องชวนคิดจากห้องส้วมจีน

เมื่อสัปดาห์ก่อน มีข่าวว่า ห้องน้ำสาธารณะที่หอฟ้าเทียนถาน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

และเป็นสวนสาธารณะยอดนิยมของกรุงปักกิ่ง ได้ติดตั้ง “เครื่องสแกนใบหน้าสำหรับจ่ายทิชชู่” เพื่อป้องกันคนใช้ทิชชู่สิ้นเปลือง และป้องกันมือดีแอบดึงเอาม้วนทิชชู่กลับบ้าน

เครื่องจ่ายกระดาษทิชชู่ไฮเทคนี้ จะตรวจสแกนใบหน้าของผู้ที่มาใช้ ก่อนที่จะจ่ายกระดาษทิชชู่ความยาว 60 เซนติเมตร ให้แต่ละคน หลังจากได้ทิชชู่ไปครั้งหนึ่งแล้ว จะต้องรออีกอย่างน้อย 9 นาที ก่อนที่จะขอรับทิชชู่จากเครื่องได้อีกครั้ง

ผมคิดว่า ข่าวเล็กๆ ที่ดูพิสดารนี้ สะท้อนหลายอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมืองจีนในปัจจุบันครับ

อย่างแรกเลย เดี๋ยวนี้เวลาถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในจีน จะต้องมีคนจีนเสนอให้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้แก้ไขปัญหา

บางคนอาจบอกว่า ปัญหาการขโมยทิชชู่สะท้อนการขาดศีลธรรมของคนจีน แต่เท่าที่ผมเห็นคนจีนพูดกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ในโซเชียลมีเดีย มักไม่ค่อยมีใครพูดในเชิงศีลธรรมของชาวบ้านสักเท่าไร แถมมีอยู่ไม่น้อยที่พูดถึงหลักเศรษฐศาสตร์เสียด้วยนะครับ!

เคยได้ยินเรื่อง “โศกนาฏกรรมของทรัพยากรร่วม” (Tragedy of the Common) ไหมครับ ตัวอย่างคลาสสิกก็คือ ทุ่งหญ้าที่เป็นของชุมชน ทุกคนในชุมชนสามารถเข้ามาใช้เลี้ยงสัตว์ได้อย่างไม่จำกัด สิ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือทุกคนรีบนำสัตว์ของตนเข้ามากินหญ้าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่มีใครมีแรงจูงใจจะดูแลรักษาทุ่งหญ้าหรือให้สัตว์ของตนกินหญ้าในปริมาณที่เหมาะสม สุดท้าย ทุ่งหญ้าก็เสื่อมสภาพลงในเวลาอันรวดเร็ว

แนวคิดเรื่องนี้ปรับใช้กับกระดาษทิชชู่ในห้องน้ำสาธารณะได้นะครับ ม้วนทิชชู่ของฟรีมีปริมาณจำกัด โดยที่ใครๆ ก็สามารถใช้ห้องน้ำสาธารณะได้อย่างไม่จำกัด และเราไม่สามารถกีดกันคนอื่นไม่ให้ใช้ทิชชู่ได้ ผลคือแต่ละคนใช้ทิชชู่อย่างสิ้นเปลือง (แถมยังมีบางคนขโมยกลับบ้านด้วย) จนทิชชู่หมดลงอย่างรวดเร็ว

วิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ก็คือ แปรรูปห้องน้ำสาธารณะให้เป็นของเอกชน (ไม่ใช่ของฟรีอีกต่อไป) ดูอย่างสถานที่บางแห่งในเมืองไทยที่เก็บค่าเข้าใช้ห้องน้ำ หรือติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญกระดาษทิชชู่ เป็นต้น หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ จ้างเจ้าหน้าที่มาคอยดูแล แต่ปัญหาคือ จะให้เจ้าหน้าที่ควบคุมไม่ให้คนใช้ทิชชู่สิ้นเปลืองได้อย่างไร

คนจีนซึ่งกำลังเห่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงคิดวิธีไฮเทคนี้ขึ้นมา เอาเทคโนโลยีสแกนแยกแยะใบหน้ามาใช้แจกกระดาษทิชชู่ ห้องน้ำก็ยังคงเป็นห้องน้ำสาธารณะ ทิชชู่ก็ยังฟรี เพียงแต่จำกัดไม่ให้ใช้เกินคนละ 60 เซนติเมตร

ผมรู้สึกว่าจีนสมัยนี้เริ่มคล้ายๆ ญี่ปุ่น (ประเทศที่เป็นจุดกำเนิดการ์ตูนโดราเอมอนที่เปี่ยมด้วยความฝันถึงเทคโนโลยีอนาคตมากมาย) มีคนบอกว่า สมัยก่อนห้องน้ำสาธารณะของญี่ปุ่นก็ไม่มีกระดาษทิชชู่ให้ โดยคนญี่ปุ่นจะรู้ดีว่าต้องพกกระดาษทิชชู่ของตัวเองติดตัว แต่ห้องน้ำสาธารณะของญี่ปุ่นเดี๋ยวนี้ล้วนเป็นระบบฝาชักโครกฉีดล้างอัตโนมัติหมดแล้ว (แบบที่กดปุ่มแล้วจะมีน้ำอุ่นพุ่งขึ้นมาล้างก้นให้อัตโนมัติ) มีคนถามว่าทำไมคนจีนไม่ใช้ส้วมไฮเทคแบบนั้นบ้าง? อาจเพราะต้นทุนยังแพงเกินไป หรืออาจเพราะชาวบ้านจีนยังคุ้นชินกับทิชชู่ก็ได้ครับ

เรื่องที่สอง คือ เสียงบ่นในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับสิทธิความเป็นส่วนตัว อะไรกัน จะเอากระดาษทิชชู่ยังต้องมีกล้องจับภาพถ่ายหน้าเก็บประวัติไว้!” พลเมืองเน็ตชาวจีนหลายคนรู้สึกไม่สบายใจครับ

แม้ทางการจะบอกว่านี่เป็นแค่โปรแกรมแยกแยะหน้าตา ไม่ได้บันทึกเก็บข้อมูลเอาไปใช้ทำอะไร (เครื่องจะดีลีทข้อมูลหน้าบุคคลออกเมื่อผ่านไป 9 นาที) แต่ความกังวลของชาวเน็ตส่วนหนึ่งสะท้อนความรู้สึกของคนจีนว่า รัฐบาลกำลังจับตามองพวกเขาทุกฝีก้าว ไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือในโลกภายนอก

ในโลกภายนอก กรุงปักกิ่งเป็นเมืองที่มีกล้อง CCTV ติดตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะมากที่สุดในโลก (กล้องจริงนะครับ ไม่ใช่กล้องดัมมี่) โดยมีมากกว่า 46,000 ตัว ต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำถึง 4,300 คน ในการตรวจตราภาพจากกล้องในแต่ละวัน

ส่วนในโลกออนไลน์ มีคนบอกว่ารัฐบาลจีนเริ่มศึกษาแนวทางประมวลข้อมูลในโลกออนไลน์ของแต่ละคน (ช็อปปิ้งอะไร เข้าเว็บอะไร จ่ายเงินตรงเวลาไหม) และอาจนำไปสู่การคิด “คะแนนพลเมือง” ให้แต่ละคน หลายคนกลัวว่า จีนอาจกลายเป็นประเทศเผด็จการ 4.0 ที่ควบคุมพลเมืองด้วย Big Data โดยรัฐบาลเก็บและมีข้อมูลละเอียดเกี่ยวกับประชาชนแต่ละคนในทุกด้าน

เรื่องที่สาม ก็คือ รัฐบาลจีนชอบดำเนินนโยบายโดยเริ่มจากการ ทดลองก่อน เช่น ในขณะนี้เพิ่งมีการติดตั้งเครื่องจ่ายกระดาษทิชชู่ไฮเทคจำนวน 6 เครื่อง ที่ห้องน้ำในหอฟ้าเทียนถาน สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติของจีนบอกว่านี่เป็นการทดลองเบื้องต้น ถ้าใช้ได้ผล ก็จะสนับสนุนให้ขยายไปติดตั้งในห้องน้ำตามสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ

มีการแถลงว่า หลังจากติดตั้งเครื่องจ่ายกระดาษทิชชู่ไฮเทคแล้ว สามารถประหยัดทิชชู่ได้ถึง 70% เมื่อคำนวณต้นทุนค่าติดตั้งเครื่องจ่ายทิชชู่ ประกอบกับต้นทุนกระดาษทิชชู่และจำนวนคนที่ใช้ห้องน้ำ คาดว่าผ่านไปเพียง 3-4 เดือนน่าจะคุ้มทุน

ไม่ว่าจะนโยบายใหญ่หรือเล็ก หน่วยงานต่างๆ ของจีนมักใช้วิธีทดลองในพื้นที่หนึ่งก่อน จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจว่าจะขยายวงกว้างขึ้นหรือจะเลิกล้มนโยบาย ทำให้ไม่ต้องเถียงกันนานก่อนเริ่มดำเนินนโยบาย (เพราะต้นทุนไม่สูง และถ้านโยบายไม่ได้ผล ผลกระทบก็ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ) ขณะเดียวกันก็สามารถเก็บข้อมูลผลของนโยบายว่าได้ผลจริงหรือไม่

เรื่องสุดท้าย คือ สมัยก่อนส้วมเมืองจีนไม่มีกระดาษทิชชู่ให้หรอกครับ กระดาษทิชชู่ ความสะอาด และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ล้วนเป็นผลมาจากนโยบาย ปฏิรูปห้องส้วมของรัฐบาลจีน รัฐบาลจีนยุคใหม่เริ่มสนใจภาพลักษณ์ของประเทศมากขึ้น และห้องส้วมก็เป็น “หน้าตา” ของประเทศครับ

เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลจีนประกาศโครงการปรับปรุงห้องน้ำ 100,000 แห่ง ตามแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศจีน เพราะผลสำรวจความเห็นของนักท่องเที่ยวบอกว่า ปัญหาส้วมสกปรกเป็นปัญหายอดฮิตติดอันดับที่นักท่องเที่ยวบ่นกันมาก

สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนได้จัดทำดัชนีชี้วัดคุณภาพห้องน้ำ และส่งคนลงตรวจสอบและประเมินคุณภาพของห้องน้ำตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ตอนนี้ห้องน้ำตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จะมีป้ายติดไว้ว่าได้รับการประเมินเป็นห้องน้ำกี่ดาว นอกจากนั้น ยังมีการประกาศรายชื่อ Top 10 ห้องน้ำสาธารณะของเมืองจีนด้วย โดยผู้ชนะเลิศอันดับ 1 คือห้องน้ำของกำแพงเมืองจีนด่านซือหม่าไถ ชานเมืองปักกิ่ง

สำหรับทริปปักกิ่งรอบหน้า อย่าลืมแวะไปลองเข้ากันนะครับ!