“High Yield Bond” โอกาสใหม่ในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

“High Yield Bond” โอกาสใหม่ในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

“High Yield Bond” โอกาสใหม่ในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน ตลาดการเงินและการลงทุนทั่วโลกมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนในระยะนี้ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการผลักดันร่างกฎหมาย “อเมริกันเฮลธ์แคร์” ที่อาจส่งผลกระทบให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ เช่น การปฏิรูปภาษี การผ่อนคลายกฎระเบียบทางการเงิน และมาตรการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการสาธารณูปโภคจะต้องล่าช้าออกไป หรือปัจจัยเสี่ยงในเรื่องการเมือง ทั้งการเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวจากสหภาพยุโรป (BREXIT) อย่างเป็นทางการของอังกฤษ และการเลือกตั้งในฝรั่งเศส และเยอรมันที่เริ่มมีกระแสการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปในลักษณะเดียวกับอังกฤษ ส่งผลต่อการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ดังนั้น การกระจายการลงทุนมายังตราสารหนี้ จึงเป็นทางเลือกของนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ประมาณ 1-2 ครั้ง จะกระทบกับการลงทุนในตราสารหนี้ เนื่องจาก เมื่อ Fed ซึ่งเป็นผู้ทรงอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ผู้ออกตราสารหนี้ก็จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในตราสารหนี้ใหม่ๆ ที่ต้องการออกขายเพื่อระดมทุนตามไปด้วยไม่มากก็น้อย ทำให้ตราสารหนี้ที่ออกใหม่ของผู้ออกตราสารคนเดียวกันมีดอกเบี้ยสูงกว่าตราสารหนี้ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ราคาของตราสารหนี้ที่เคยออกมาก่อนหน้าก็จะปรับตัวลดลงโดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาว ที่ระดับราคามีแนวโน้มปรับลดลงมากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น เมื่อ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดังนั้น ตราสารหนี้ระยะสั้นที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง (Short Term High Yield Bond) จึงมีความน่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจาก อัตราผลตอบแทนของ High Yield Bond สูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ในช่วงอายุเดียวกันเพราะอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของ High Yield Bond อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับตราสารหนี้ที่จัดว่าลงทุนได้ หรือ Investment Grade (BBB) หรือมีส่วนชดเชยความเสี่ยง (Risk Premium) ที่นักลงทุนต้องการมากกว่าตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งเมื่อ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ปรับลดลง แต่ผลตอบแทนของ High Yield Bond จะลดลงน้อยกว่าตราสารหนี้ทั่วไปนอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มาจากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้บริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้สูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนให้ราคากับตราสารประเภท High Yield มากขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนที่มาจากดอกเบี้ยยังคงอยู่เท่าเดิม แต่ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับความเสี่ยงของ High Yield Bond ที่นักลงทุนจะต้องระมัดระวัง คือ หากเศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวตามที่คาดไว้ หรือเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อบริษัท อาจทำให้สถานะการเงินของบริษัทผู้ออกตราสารแย่ลง ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลและเทขายตราสาร ทำให้ราคา High Yield Bond ปรับร่วงลงอย่างหนักดังเช่นที่เคยเกิดความกังวลในภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างมาก โดยอยู่ต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลในปี 2015 และทำให้นักลงทุนกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทน้ำมัน ซึ่งมีสัดส่วนใน High Yield Bond ค่อนข้างมาก จึงเทขายออกมา และส่งผลให้ราคา High Yield Bond ในช่วงนั้นปรับลดลงอย่างมาก

ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเลือกลงทุน High Yield Bond ในประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่ง บริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดี มีตราสารให้เลือกเป็นจำนวนมากอย่างเช่น สหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจกำลังขยายตัวได้ดี กำไรของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น และขนาดของตลาด High Yield Bond ของสหรัฐฯ ใหญ่มากกว่า 50% ของตลาด High Yield Bond ทั่วโลก นอกจากนี้ หากลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนใน High Yield Bond ก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนฯ ที่ผู้จัดการกองทุนมีความสามารถในการคัดสรรบริษัทผู้ออกตราสารฯ ที่มีคุณภาพ โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตของนักลงทุนได้ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม