ภาพรวมตลาดอนุพันธ์โลกปี 2559

ภาพรวมตลาดอนุพันธ์โลกปี 2559

ภาพรวมตลาดอนุพันธ์โลกปี 2559

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการซื้อขายอนุพันธ์ใน Exchange ทั่วโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าในปี 2559 จะมีการขยายตัวเพียง 1.7% แต่ปริมาณการซื้อขายทั่วโลกก็ยังสามารถปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.522 หมื่นล้านสัญญา โดยได้รับแรงหนุนปริมาณการซื้อขายสัญญา Futures ที่ขยายตัวมาอยู่ที่ระดับสูงถึง 1.589 หมื่นล้านสัญญา โดยเฉพาะปริมาณการซื้อขาย Interest Rate Futures ที่ขยายตัวถึง 7.2% ท่ามกลางความผันผวนจากจังหวะเวลาการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก รวมไปถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการซื้อขายสัญญา Futures ที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มสินค้าเกษตร พลังงาน และโลหะอุตสาหกรรม ซึ่งขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตามความผันผวนของราคาน้ำมันและการเปลี่ยนแปลงวัฎจักรเศรษฐกิจ

ในขณะที่การซื้อขายสัญญา Options ในปี 2559 นั้นกลับมีการปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 9.33 พันล้านสัญญา หรือลดลง 9.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน และหากเทียบกับปริมาณสูงสุดที่เคยทำไว้ในปี 2011 จะเป็นการปรับลดลงถึง 27.3% เลยทีเดียว เนื่องด้วยสัญญา Options ส่วนใหญ่นั้นจะอ้างอิงอยู่กับตราสารทุน ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายสัญญา Options ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการซบเซาของปริมาณการซื้อขายตราสารทุนในตลาดโลก

แม้ว่าการซื้อขายอนุพันธ์รวมทั่วโลกในปี 2559 จะยังมีการขยายตัว แต่หากพิจารณาการเติบโตในแต่ละภูมิภาคนั้น จะพบว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่แตกต่างกันออกไป โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีปริมาณการซื้อขายลดลงถึง 5.3% ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการซื้อขายที่ปรับตัวลดลงถึง 30.1% ของตลาด National Stock Exchange (NSE) ในประเทศอินเดียที่เป็นตลาดอนุพันธ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เนื่องจากปริมาณการซื้อขายของอนุพันธ์กลุ่มที่อ้างอิงกับตราสารทุนปรับตัวลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของการซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศจีน โดยในตลาด Shanghai Futures Exchange (SHFE) มีการขยายตัว 60% และตลาด Dalian Commodity Exchange (DCE) มีการขยายตัว 37.7% โดยทั้งสองตลาดจัดเป็นตลาดอนุพันธ์อันดับที่ 6 และ 8 ของโลกตามลำดับ ส่งผลให้เอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดในโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายในภูมิภาคอื่นทั่วโลกนั้นมีการขยายตัวที่ดี โดยมีสาเหตุมาจากขยายตัวของการซื้อขายสัญญา Futures และ Options ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และน้ำมันดิบ เช่น 10-Year Treasury Bond, Eurodollar, WTI Crude Oil และ Brent Crude Oil เป็นต้น

สำหรับการซื้อขายอนุพันธ์ของประเทศไทยภายใต้ตลาด TFEX นั้น การเติบโตส่วนใหญ่จะมาจากการซื้อขายฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับตราสารทุน เช่น Single Stock Futures ที่ขยายตัวสูงถึง 71.6% และ SET50 Futures ที่มีการเติบโต 20.3% อันเป็นผลมาจากการความผันผวนในตลาดทุน เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และการออกจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษในปีที่ผ่านมา ซึ่งการดำเนินงานในอนาคตนั้น TFEX จะสนับสนุนให้สภาพคล่องขยายตัวไปยังสินค้าอ้างอิงอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น สินค้าในกลุ่ม Commodity ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของตลาดต่างประเทศ เพื่อให้การเติบโตของ TFEX ดำเนินได้อย่างสมดุลในทุกวัฎจักรเศรษฐกิจ

ทิศทางการพัฒนาของตลาด TFEX ในอนาคตนั้น มีความท้าทายอย่างมากด้วยสภาวการณ์ในตลาดอนุพันธ์โลกมีการปรับเปลี่ยนตลอด ทั้งในด้านระบบงาน กฏเกณฑ์ และผู้ร่วมตลาด โดยเราต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับตลาดอื่นๆ เนื่องจากอนุพันธ์เป็นสินค้าที่สามารถพัฒนาขึ้นมาให้มีความคล้ายคลึงได้ง่าย เช่น ทองคำล่วงหน้า มีการซื้อขายทั้งในสหรัฐ ดูไบ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย ยุโรป เป็นต้น หรือแม้แต่ยางพาราล่วงหน้า ก็มีซื้อขายทั้งในญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ดังนั้น การดึงดูดให้ผู้ลงทุนมาซื้อขายจึงนับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะตลาดอนุพันธ์นั้นต้องมีระบบซื้อขายที่ดี มีกฏเกณฑ์ที่เป็นสากล และมีต้นทุนการซื้อขายที่สมเหตุสมผล ด้วยผู้ลงทุนสามารถย้ายถิ่นฐานการซื้อขายไปในตลาดอนุพันธ์อื่นได้ง่าย ดังนั้น ตลาดอนุพันธ์ในต่างประเทศส่วนใหญ่จึงได้รับความสนับสนุนจากภาครัฐในหลายๆเรื่องทั้งในด้านกฏเกณฑ์และภาษี เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดมีศักยภาพในการแข่งขันเทียบเคียงกับตลาดอนุพันธ์อื่น โดยในส่วนของ TFEX นั้น จะมุ่งเน้นการสร้างสภาพคล่องของสินค้า และการพัฒนา Infrastructure ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนาระบบซื้อขายให้รองรับการซื้อขายแบบหลายสินค้า หลายสกุลเงิน และหลายตลาด ซึ่งในส่วนนี้ ระบบงานของ TFEX ได้รับรางวัลตลาดอนุพันธ์ที่มีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยียอดเยี่ยม (Best Technology Innovation by an Exchange) ปี 2558 จาก Futures and Options World (FOW)

สำหรับส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปี 2560 นี้ ได้แก่ การเตรียมการรับหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นหลักประกันในการซื้อขายใน TFEX ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการซื้อขายของผู้ลงทุนลดลง การขยายช่วงเวลาซื้อขาย Gold Futures ให้สอดคล้องกับการซื้อขายในตลาดต่างประเทศ การพัฒนาสินค้า TFEX Gold-D ที่อ้างอิงกับทองคำบริสุทธิ์ 99.99% โดยจะซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกรับทองคำจริงได้