ความห่วงใยจากหมอเด็กคนหนึ่ง

ความห่วงใยจากหมอเด็กคนหนึ่ง

ถึง ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ....

น้ำนมแม่เป็นอาหารที่ธรรมชาติจัดเตรียมไว้ให้ทารกแรกเกิด ฉะนั้นนมแม่จึงเป็นสารอาหารที่เหมาะสมที่สุด ที่แม่มีไว้สำหรับเลี้ยงลูกให้เจริญเติบโตและพัฒนาไปตามวัย แต่ในปีพศ. 2524 องค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความ ในการเลี้ยงทารกว่า Exclusive breast feeding หมายความว่าเด็กทารกควรได้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนมีอายุถึง อายุ 6 เดือน เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการได้เต็มตามศักยภาพและมีสุขภาพดี ซึ่งในวัฒนธรรม ความรู้ ความเชื่อและวิธีการเลี้ยงลูกของคนไทยนั้น ทั้งในหมู่ประชาชนเอง กุมารแพทย์และทันตแพทย์ มักจะมีความเชื่อว่า ควรให้เด็กดื่มน้ำตามทุกครั้งหลังดูดนมแม่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้มีคราบน้ำนมตกค้างอยู่ในปาก และการแนะนำและความเชื่อที่ว่านี้ ยังคงมีอยู่มาก จึงทำให้แม่ที่ให้นมลูกยังคงปฏิบัติตามความเชื่อเช่นนั้นอยู่ และกรมอนามัยได้อ้างเสมอว่า จากการสำรวจพบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น ซึ่งความจริงแล้ว กรมอนามัยอาจไปสำรวจว่า “ให้กินนมแม่อย่างเดียวไมให้กินน้ำเลย” แม้จะให้กินน้ำเพียงช้อนเดียวก็ไม่นับ จึงทำให้ได้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำมาก กรมอนามัยจึงเสนอร่างกฎหมายนี้ เพื่อให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยเพิ่มขี้น

ในการเลี้ยงเด็กนั้น พ่อแม่ควรมีความรู้ว่า เด็กแรกเกิดถึงอายุ 1 ปีหรือเรียกว่าเด็กทารกนั้น อาหารหลักคือน้ำนมแม่ ที่มีคุณค่าเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กทารกทุกคน เพราะเป็นสิ่งที่ธรรมชาติจัดสรรและจัดเตรียมมาไว้เพื่อลูกโดยเฉพาะ น้ำนมแม่นอกจากจะมีสารอาหาร เกลือแร่ วิตามินที่เหมาะสมครบถ้วนที่ทารกจำเป็นต้องได้รับเพื่อการเจริญเติบโตแล้ว น้ำนมแม่ยังมีภูมิคุ้มกันโรคและสารเร่งการเจริญเติบโต และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อให้เกิดความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูก และช่วยกระตุ้นการพัฒนาลูกทางด้านอารมณ์ สังคมและการเรียนรู้อีกด้วย

 แต่น้ำนมแม่มีสารอาหาร “เพียงพอ”สำหรับเด็กทารกที่จะกินนมแม่อย่างเดียว จนอายุครบ 6 เดือนเท่านั้น เนื่องจากน้ำนมแม่มีสารอาหารบางอย่างที่ไม่มากพอ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กทารกเติบโตได้ดีที่สุด เหมือนตอนเด็กอายุยังไม่ถึง 6 เดือน นักโภชนาการทั่วโลกและองค์การอนามัยโลกเอง ได้ให้ “คำแนะนำ”ว่าให้เริ่มป้อนอาหารเสริมให้เด็กทารกเมื่อมีอายุได้ 6 เดือน

องค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำ (Guidelines) สำหรับการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (infant formula) เพื่อช่วยให้เด็กทารกได้รับน้ำนมแม่อย่างเดียว(Exclude breast feeding ) เพื่อส่งเสริมสุขภาพและภาวะโภชนาการของเด็กทารกและเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง

แต่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของสนช. มีเนื้อหาที่จะห้ามการโฆษณาตามมาตรา14(1)ห้ามสื่อความ หมายเชิงเปรียบเทียบกับนมแม่ตามมาตรา 17(4) การแสดงฉลากอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตามมาตรา 19 ต้องไม่ให้ข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ส่งผลดีต่อสุขภาพการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกและเด็กเล็ก (2)ม่ให้มีข้อมูลเปรียบเทียบกับนมแม่(3) ใมาตรา 23 (4) ห้ามบุคลากกรสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์ เว้นแต่เป็นการสาธิตผลิตภัณฑ์เฉพาะแก่แม่และสมาชิกในครอบครัวที่มีทารกและเด็กเล็กที่มีเหตุผลและความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์เท่านั้น

มาตรา 29 เมื่อพบบุคลากรวิชาชีพทางการแพทย์และวิชาชีพทางการพยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 23 ให้กรมอนามัยส่งเรื่องห้สภาวิชาชีพผู้นั้นพิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของสภาวิชาชีพ

ความเห็นเพิ่มเติมของผู้เขียนบทความนี้ ในความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับองค์กรใดๆ ผู้เขียนเห็นว่าร่างพ.ร.บ.นี้ จะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างรอบด้านเกี่ยวกับความรู้ในการเลี้ยงลูกของประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลทางวิชาการด้านโภชนาการและหลักการด้านการส่งเสริมสุขภาพของมารดาและทารก

ถ้าดูในมาตรา 14(1) มาตรา 17(2) ห้ามเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กับนมแม่ ห้ามโอ้อวดสรรพคุณ ประโยชน์ คุณภาพ หรือคุณสมบัติของสรรพคุณอันเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ม.17(3) แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสารหรืออาหารนั้นๆใส่เข้ามาในผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์อันใด?

มาตรา 20 (2) การแสดงวิธีใช้ วิธีทำความสะอาด วิธีเก็บรักษา ให้ทำได้ในการแสดงฉลากเท่านั้น และในมาตรา 23 (4) ห้ามบุคลากรวิชาชีพทางการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขสาธิตผลิตภัณฑ์ ก็เป็นการปิดกั้นการกล่าวถึงการระวังเรื่องการรักษาความสะอาดและสุขอนามัย( Hygiene)ในการเตรยมอาหารให้เด็กทารกและเด็กเล็ก และการกล่าวถึงใช้ผลิตภัณฑ์ตลอดไป สำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปี

ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขไม่อยากให้ความรู้เกี่ยวกับการให้นม และอาหารเสริมที่เหมาะสมตามวัยแก่พ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก เนื่องจากไม่อยากเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายนี้ อาจมีผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองพลาดโอกาสที่จะได้รับความรู้ที่เหมาะสมในการเลี้ยงลูก

นับว่าเป็นร่างพ.ร.บ.ที่สุดโต่ง ในการปิดกั้นเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลในการเลือกอาหารสำหรับเลี้ยงลูก ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองขาดช่องทางที่จะรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาหารที่เหมาะสมตามวัยสำหรับการเลี้ยงลูกให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ อย่างครบถ้วน และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นตามหลักการข้อเท็จจริง (FACTS) ทางวิชาการด้านโภชนาการ ไม่สามารถให้ข้อมูลที่ตรงประเด็นแก่ประชาชนได้ จากบทบัญญัติในร่างพ.ร.บ.นี้

แม้องค์การอนามัยโลกเอง ก็ให้คำแนะนำเพียงว่า ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวจากแรกเกิดถึง 6 เดือนเท่านั้น ส่วนการที่แม่จะเลี้ยงลูกต่อไปอย่างไรนั้น แม่ควรจะได้รับรู้ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นอย่างรอบด้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกอาหารที่เหมาะสมตามวัย เหมาะสมกับแต่ละครอบครัว ที่มีสถานะทางสังคมแตกต่างกัน(เช่น แม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ต้องหาคนมาเลี้ยงลูก แม่ไม่มีน้ำนมมากพอที่จะบีบนมใส่ขวดไว้เลี้ยงลูกตลอดวันตลอดปี) สถานะทางเศรษฐกิจ (ค่าใช้จ่ายสูงเกินไปหรือไม่) สภาพการทางสุขภาพเช่น มีน้ำสะอาดให้ลูกดื่ม มีน้ำสะอาดไว้ล้างภาชนะในการบรรจุนม) และการมีความรู้ที่เหมาะสมในการป้องกันการมีเชื้อโรคเข้าไปผสมในนม และสถานะทางสุขภาพของแม่ที่จะให้นมลูกได้

มีข้อเสนอว่าร่างพ.ร.บ.นี้ควรจะมีการควบคุมการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กแค่ 12เดือนหรือ 1 ปีหรือในวัยทารกเท่านั้น แต่ในความเห็นของผู้เขียน ซึ่งเป็นกุมารแพทย์มานานก่อนที่จะมีคำแนะนำจากองค์การอนามัญโลกว่าให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนเด็กอยุครบ 6 เดือนนั้น ผู้เขียนเห็นว่า พ.ร.บ.นี้ควรควบคุมการตลาดเฉพาะอาหารสำหรับทารกอายุแค่ 6 เดือนเท่านั้น เพราะถ้ารอให้แม่รับรู้ข้อมูลด้านโภชานการเมื่อลูกอายุครบ 1 ปี มันก็สายเกินไปแล้ว จนอาจทำให้เด็กไทยพลาดอกาสในการจะได้รับอาหารที่เหมาะสมในวัยที่เขามีการเจริญเติบโตมากที่สุด

.......................

เชิดชู อริยศรีวัฒนา