'อีอีซี' ตั้งหลักดีแล้ว ลุยต่อ!

'อีอีซี' ตั้งหลักดีแล้ว ลุยต่อ!

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบาย การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

 (อีอีซี) ที่สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยองในวันพรุ่งนี้ (5 เม.ย.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุม สะท้อนถึงการให้ความสำคัญของรัฐบาล ในการผลักดันการลงทุนระดับ “ล้านล้าน” ให้เกิดขึ้นในพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะถัดจากนี้ 

นอกจากจะเป็นการประชุมในพื้นที่ลงทุน และตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินโครงการแล้ว ไม่เท่านั้น ในวันเดียวกัน ยังมีสีสันที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรี จะเปิดโอกาสให้บรรดานักธุรกิจไทยและเทศ “ตบเท้า เข้าพบ เพื่อนำเสนอความคิดเห็นและความต้องการของภาคธุรกิจเหล่านี้ ต่อแนวทางดึงดูดการลงทุนให้เกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้ตรงกับความต้องการของนักธุรกิจอย่างแท้จริง

อาทิ การเข้าพบของผู้บริหารระดับสูงของยักษ์อีคอมเมิร์ซอย่างลาซาด้า (ในเครืออาลีบาบา) ,บริษัทด้านไอทีชั้นนำ อย่าง ไมโครซอฟท์ และกูเกิล,ค่ายรถยนต์ชั้นนำระดับโลกจากโตโยต้า บีเอ็มดับเบิลยู เบนซ์ ,บริษัทด้านปิโตรเคมีจากเยอรมัน รวมถึงองค์กรการค้าระหว่างประเทศ เช่น องค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) หอการค้าสหรัฐ เป็นต้น  

การพบปะหารือที่กำลังจะเกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทย ที่เริ่มฟื้นกลับมาแล้ว พ่วงกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เริ่มจูงใจเพียงพอ อาทิ มาตรการภาษีจูงใจผู้มีความสามารถสูงระดับโลก ให้เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย จากเดิมเก็บในอัตราก้าวหน้าสูงสุด 35% ลดเหลือเพียง17% ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 

ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวในกลุ่มรายได้สูงและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร พร้อมกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 15 ปี

การเริ่มตั้งหลักได้ของรัฐในช่วงที่ผ่านมา กับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ถือว่าเดินมาถูกทางในการเป็นชักจูงการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ กับเป้าหมายให้ไทย เป็น เขตเศรษฐกิจที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน

โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตั้งเป้าหมายภายในปี 2560 ว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี “ไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐบาลทุ่มเต็มที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยเงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี ประกอบด้วย 1. การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบินหลัก ได้แก่ อู่ตะเภา,สุวรรณภูมิ และดอนเมือง 2. การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ให้เป็นท่าเรือชั้นนำ1ใน10ของโลก 3. การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและการซ่อมบำรุงอากาศยาน 4. พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และหุ่นยนต์ และ 5. การขยายเมืองปัจจุบันและสร้างเมืองใหม่ ในจ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

เมื่อ ปักหลักแน่น ความสำเร็จย่อมตามมา