จะให้นำโลก ต้องกระโดด

จะให้นำโลก ต้องกระโดด

ผมจำได้ว่าเคยเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งที่นำคำคมของดร.เทียม โชควัฒนา มาตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า “เพียงแค่ท่านหยุดก้าว ท่านก็เริ่มถอยหลังแล้ว”

 อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในโลกปัจจุบัน เพียงแค่การก้าวเดินอย่างไม่หยุดนั้นไม่เพียงพอแล้ว เผลอๆ การวิ่งที่ไม่ทันผู้อื่น ก็จะทำให้ท่านถอยหลังหรือช้ากว่าผู้อื่นแล้ว ดังนั้นในยุคปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตามผู้อื่นได้ทันและมีสิทธิ์ที่จะก้าวนำหน้าออกไปได้นั้น อาจจะต้องอาศัยการกระโดดแทนแค่การเดินหรือการวิ่งแล้ว

ในสถานการณ์ที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าองค์กรที่ท่านทำงานอยู่ หรือ ตัวท่านเอง มีการเปลี่ยนแปลงช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยรอบด้าน อะไรจะเกิดขึ้น? ที่ผ่านมาเรามักจะประเมินอัตราการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยรอบๆ ตัวเราช้าหรือน้อยกว่าความเป็นจริง ทั้งนี้เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วเราจะนำอัตราการเปลี่ยนแปลงในอดีตมาใช้คาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ดังนั้นเราจึงมักจะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นไปในอัตราเดียวที่สม่ำเสมอเหมือนในอดีต

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคตจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น Internet of Things ที่คาดการณ์ว่าในปี 2020 จะมีอุปกรณ์ที่ต่อเชื่อมในรูปแบบของ IoT กว่า 50,000 ล้านเครื่องทั่วโลก หรือ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ปัจจุบันเรายังถกเถียงกันเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า แต่ในต่างประเทศมีการทดลองรถยนต์ไร้คนขับ และ รถบรรทุกไร้คนขับกันอย่างกว้างขวางแล้ว (ไม่ใช่เฉพาะที่อเมริกาแต่ที่สิงค์โปร์ก็ยังมีการทดลอง)

คำถามที่น่าคิดก็คือพวกเราพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่กำลังจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดหรือยัง? ถ้าจะแบ่งคน (หรือองค์กร) ออกเป็นสามประเภท ตัวท่านหรือองค์กรของท่านตกอยู่ในประเภทไหน? ประเภทแรกคือไม่ยอมเปลี่ยนแปลง หรือ ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็เปลี่ยนแปลงช้า โดยรอให้มีความจำเป็นก่อนแล้วถึงจะเปลี่ยนแปลง ประเภทที่สอง คือมีการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปด้วยอัตราที่ค่อนข้างคงที่และสม่ำเสมอ ประเภทที่สามคือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เป็นกลุ่มที่พบว่าการเดินหรือวิ่งนั้นไม่ทันแล้ว แต่จะต้องก้าวกระโดดแทน

เชื่อว่าคนและองค์กรส่วนใหญ่ก็อยู่ในกลุ่มประเภทที่สอง (แต่จะสองน้อยหรือสองมากก็คงจะแตกต่างกันออกไป) แต่ในองค์กรชั้นนำระดับโลกหลายๆ แห่งเขากำลังมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงในประเภทที่สามกันแล้วนะครับ

ในระยะหลังผมจะได้ยินแนวคิดเกี่ยวกับ Exponential Technologies, Exponential Growth หรือ Exponential Mindset มากขึ้น ถึงขั้นที่ในต่างประเทศมีการรวมกันเพื่อจัดตั้ง Singularity University ที่ทำตัวเป็นสถาบันฝึกอบรมและพัฒนาผู้บริหารและบุคลากรให้เข้าใจต่อ Exponential Technologies รวมทั้งให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

ในบริษัทชั้นนำอย่าง Google เขาก็สนับสนุนให้บุคลากรของเขาเวลาคิดในสิ่งต่างๆ ให้คิดในลักษณะของ 10x หรือสิบเท่า เนื่องจากเมื่อจะคิดและจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแล้ว การคิดและเปลี่ยนแปลงให้ได้ 10 เท่านั้นย่อมจะดีและมีผลกระทบที่ดีกว่าการคิดและเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ 10%

มีการจัดบริษัททั่วโลกโดยดูจากความสามารถในการที่จะเติบโตแบบ Exponential โดยสามอันดับแรกได้แก่ Google, Amazon, Apple ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ ส่วนบริษัทที่มีสินทรัพย์เยอะๆ เช่น บริษัทพลังงานต่างๆ อันดับกลับจะอยู่ด้านท้ายๆ สนใจก็ลองเข้าไปดูที่f100.exponentialorgs.com ได้ครับ

สิ่งที่น่าคิดทั้งในระดับประเทศ องค์กร หรือตัวท่านเอง จะเลือกวิธีคิดในการเปลี่ยนแปลงและเติบโตแบบใด ระหว่าง 1. หยุดนิ่งอยู่กับที่ปลอดภัยและคุ้นเคยดี 2. ก้าวเดินด้วยความสม่ำเสมอและมั่นคง 3. วิ่งที่จะเหนื่อยแต่ถ้าวิ่งเร็วพอก็จะทันคนอื่น หรือ 4. กระโดดที่อาจจะเสี่ยงเจ็บตัวแต่มีโอกาสก้าวนำผู้อื่น