ปัญหาองค์ประชุมผู้ถือหุ้นไม่ครบ

ปัญหาองค์ประชุมผู้ถือหุ้นไม่ครบ

บริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น เป็นการประชุมสามัญประจำปี

ซึ่งตามปกติจะจัดให้มีการประชุมภายในสี่เดือนนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชี นอกจากนี้ผู้ถือหุ้น ที่ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นของบริษัท อาจร้องขอให้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นก็ได้ ถ้าพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ร้องขอ บริษัทไม่จัดให้มีการประชุมตามที่ร้องขอ ผู้ถือหุ้นสามารถเรียกประชุมเองได้ สำหรับบริษัทมหาชนจำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ก็ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น เป็นการประชุมสามัญประจำปีภายในสี่เดือนนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชี ส่วนผู้ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด สามารถทำหนังสือขอให้คณะกรรมการเรียกประชุมวิสามัญก็ได้ แต่ถ้าคณะกรรมการไม่เรียกประชุมภายในหนึ่งเดือน ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเรียกประชุมเองได้ แต่กรรมการมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

องค์ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด ต้องมีผู้ถือหุ้นมาประชุมแทนหุ้นได้อย่างน้อยหนึ่งในสี่ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ส่วนองค์ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัดต้องมีผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นมาประชุมไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคน หรือไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ถือหุ้นทั้งหมด และต้องมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด องค์ประชุมผู้ถือหุ้นกรณีเป็นบริษัทจำกัดนับเฉพาะจำนวนหุ้น ไม่นับจำนวนผู้ถือหุ้น แต่อย่างน้อยต้องมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมสองคน เพราะหากมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมเพียงคนเดียวไม่ถือว่าเป็นการประชุม สำหรับองค์ประชุมผู้ถือหุ้นกรณีเป็นบริษัทมหาชนจำกัด นับทั้งจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมและจำนวนหุ้น ในกรณีมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน นับจำนวนผู้ถือหุ้นที่มอบฉันทะ แม้จะมอบฉันทะให้บุคคลคนเดียวกันเข้าประชุมแทนก็ตาม

ในการประชุมผู้ถือหุ้นไม่ว่าเป็นการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ถ้าเลยเวลานัดไปแล้วหนึ่งชั่วโมง มีผู้ถือหุ้นมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม จะพิจารณาและมีมติใดฯไม่ได้ หากมีการพิจารณาและมีมติใดออกไป ก็จะเป็นมติที่ไม่ชอบ ถ้าเป็นบริษัทจำกัด กรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดอาจร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนมตินั้นเสียได้ แต่ถ้าหากเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าห้าคนหรือผู้ถือหุ้นที่นับหุ้นรวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด จะร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนมตินั้นได้ แต่ทั้งสองกรณีต้องร้องขอภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมลงมติ

การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นที่มีผู้เข้าประชุมไม่ครบเป็นองค์ประชุม ถ้าการประชุมนั้นเป็นการเรียกให้ประชุมเพราะผู้ถือหุ้นร้องขอ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด การประชุมนั้นให้ระงับไป แต่ถ้าเป็นการจัดประชุมไม่ใช่โดยผู้ถือหุ้นร้องขอ เช่นการจัดประชุมสามัญประจำปีที่บริษัทมีหน้าที่ต้องจัดขึ้นตามกฎหมาย ทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้คือถ้าเป็นบริษัทจำกัด กฎหมายให้บริษัทเรียกประชุมอีกคราวหนึ่งภายในสิบสี่วัน การประชุมครั้งใหม่กฎหมายไม่บังคับว่าต้องมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมครบองค์ประชุม ในกรณีเป็นบริษัทมหาชนจำกัด กฎหมายให้นัดประชุมใหม่โดยบริษัทต้องส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันประชุม การประชุมครั้งหลังไม่บังคับต้องครบองค์ประชุม

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีเป็นบริษัท จำกัด ที่มีข้อบังคับกำหนดเรื่องการเรียกประชุมไว้แตกต่างจากที่กฎหมายกำหนด เช่นต้องส่งหนังสือแจ้งการประชุมล่วงหน้านานกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่นให้แจ้งล่วงหน้า 21 วันก่อนการประชุม การประชุมครั้งหลัง จะได้รับการยกเว้นไม่บังคับเรื่ององค์ประชุมเท่านั้น แต่การแจ้งการประชุมต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว มิฉะนั้น จะทำให้การประชุมครั้งหลังเป็นไปโดยไม่ชอบ ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2527 ที่วินิจฉัยว่า ข้อบังคับของบริษัทได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งถึงการที่ให้แจ้งการเรียกประชุมให้ผู้ถือหุ้นทุกคนทราบล่วงหน้า 21 วัน ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่ทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการประชุมสามัญหรือวิสามัญ โดยกำหนดเวลาดังกล่าวอาจได้รับยกเว้นหรือย่นเวลาให้น้อยกว่า 21 วันได้ เฉพาะแต่ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นได้รับรู้การเรียกประชุม โดยเข้าร่วมประชุมด้วยตัวเองหรือโดยผู้รับฉันทะแม้การประชุมใหญ่นั้น จะเป็นการเรียกนัดใหม่อีกคราวหนึ่งก็อยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว 

กรณีเช่นนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทตามป.พ.พ. ม.1177 จะนำ ม. 1175 และ ม.1179 มาใช้บังคับมิได้ เมื่อการประชุมใหญ่วิสามัญของผู้ถือหุ้นครั้งแรก ตามที่นัดไว้กระทำไม่ได้เพราะผู้ถือหุ้นเข้าประชุมไม่ครบองค์ประชุม และได้มีการเรียกนัดประชุมใหม่โดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นได้รับหนังสือแจ้งการเรียกนัดประชุมใหม่ ก่อนที่จะมีการประชุมเพียง 8 วัน จึงเป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของบริษัท การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งใหม่ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท ศาลชอบที่จะเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ อันผิดระเบียบนั้นเสียได้ตาม ม.1195

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น ก็ชอบที่บริษัทมหาชนจำกัด ต้องนำไปปฏิบัติด้วย กล่าวคือ ในการประชุมครั้งหลัง แม้กฎหมายจะกำหนดให้มีหนังสือแจ้งการประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ถ้าข้อบังคับของบริษัทกำหนดเรื่องการแจ้งประชุมล่วงหน้า ยาวกว่า ก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับ