สู้ความทันสมัย ด้วยการเพิ่มคุณค่าใหม่ให้ตัวเอง

สู้ความทันสมัย ด้วยการเพิ่มคุณค่าใหม่ให้ตัวเอง

ยุคสมัยนี้บางเรื่องบางอย่างอาจไม่ทันกับสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว ดังนั้นจึงต้องทำแบบคู่ขนานปรับเล็กปรับใหญ่ในคราวเดียว

ครั้งนี้ต้องออกมาเตือนกันดังๆ หวังว่าจะกระตุกต่อมความคิดและการกระทำที่องค์กรต่างๆดำเนินการอยู่ เพราะในยุคสมัยที่ทุกคนต่างออกมาประสานเสียงถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การขยับตัวเล็กๆแบบเดิมที่เคยทำมา ไม่ได้หมายความว่าการปรับปรุงเล็กๆน้อยๆที่ทุกคนมีส่วนร่วมและกระทำกันมาอย่างต่อเนื่องจะไม่สำคัญ หากแต่ถ้าเป็นยุคสมัยก่อนอาจจะพอไหว แต่ยุคสมัยนี้บางเรื่องบางอย่างอาจไม่ทันกับสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว ดังนั้นจึงต้องทำแบบคู่ขนานทั้งปรับเล็กปรับใหญ่พร้อมกันไปในคราวเดียวกัน

 

ดังนั้นกลยุทธ์และวิธีการบริหารจัดการองค์กรจึงต้องคิด วางแผน และเลือกใช้ให้เหมาะสม อย่าคิดว่าวิธีการเดิมจะนำมาซึ่งนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆแบบก้าวกระโดด เพราะการคิดเชิงนวัตกรรมต้องกระชากทั้งวิธีคิดและวิธีทำกันแบบแรงๆ จนบางครั้งมักจะพูดกันว่าคนรุ่นเก่า หรือพนักงานที่อยู่มานานทำงานมาก่อนอาจจะรับไม่ได้ ถ้ากลุ่มนี้มีมากทั้งในเชิงจำนวนและอำนาจหน้าที่ อาจถึงขั้นล้มกระดานต้านแผนการใหญ่กันได้ทีเดียว คำว่า “นวัตกรรม” ก็คงเป็นแค่คำพูดที่สวยหรูดูดี ให้รู้สึกเหมือนไม่เชย ไม่ตกยุค และให้ดูเหมือนว่าองค์กรเรากำลังตื่นตัวกับสิ่งนี้เท่านั้น

 

วัฒนธรรมที่หลายองค์กรปลูกฝังไว้ให้กับพนักงานทุกคนในองค์กร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงงาน ลดความสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพ โดยกระตุ้นทั้งคิดและทำผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนที่เป็นพื้นที่ตนเอง และพื้นที่แบ่งปันร่วมกันใช้ในแบบ 5ส (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย) การรวมกลุ่มของคนทำงานเพื่อแก้ปัญหาด้านคุณภาพเพื่อลดของเสียด้วยการวิเคราะห์เชิงลึกให้ถึงสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหา และกำหนดวิธีป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำในแบบ QCC(Quality Control Circle) การระดมสมองของทุกคนในองค์กรเพื่อช่วยกันคิดไอเดียใหม่ๆที่ไม่ต้องใหญ่แต่ได้ผล และลงมือทำได้จริงในช่วงเวลาสั้นๆ ผ่านกลไกกระบวนการกลั่นกรองแบบระบบข้อเสนอแนะ (Kaizen Suggestion Scheme) จนถึงระบบการจัดการที่เป็นมาตรฐานสากลในแบบ ISO9001 และ ISO14001 และอื่นๆอีกมาก ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้องค์กรมีรากฐานที่แข็งแรงและมั่นคง

 

หากแต่องค์กรอาจจะต้องคิดต่อด้วยว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องนำการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆและใหญ่ๆเข้ามา แต่ไม่ใช่เข้ามาแบบล้มเลิกสิ่งเดิม แต่มาในลักษณะเพิ่มเติมต่อยอดให้องค์กรสูงเด่นยิ่งขึ้น และแน่นอนอาคารยิ่งสูง ลมยิ่งแรง แรงประทะยิ่งมาก แต่ความสามารถในการสร้างโอกาสใหม่ๆจากการมองกว้างมองไกล ก็ทำให้เราเข้าถึงยุคสมัยที่เทคโนโลยีดิจิตัลและข้อมูลขนาดใหญ่ในโลกไซเบอร์ เป็นเหมือนเหมืองทองของแท้ที่ทุกธุรกิจต่างๆมุ่งหน้ามาขุดกันอย่างจริงจัง

 

วัฒนธรรมการทำงานแบบดิจิตัล และความสามารถของคนในองค์กรที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงเหมืองทองแห่งใหม่ในโลกไซเบอร์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า การจะมัวแต่ไปนั่งขุดหาแร่ในเหมืองเดิมๆ ซึ่งเริ่มเหลือน้อยลงทุกที แต่กลับต้องแย่งชิงกันกับคนจำนวนมากคงไม่ได้ คำว่า “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิตัล หรือ Digital Transformation” จึงเป็นคำฮิตติดอันดับบนสุดของระบบการจัดการองค์กร แล้วมันคืออะไร ใครมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องบาง และจะต้องทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม

เพื่อให้องค์กรก้าวไปสู่องค์กรแบบใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรดิจิตัล (Digital Organization) มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการที่ขอมาแบ่งปันกันดังนี้

1.Digital Mindset ชุดความคิดของคนในองค์กร ในทุกระดับชั้น และแน่นอนสำคัญที่สุดก็ต้องเริ่มจากคณะผู้บริหาร และผู้บริหารสูงสุด ที่จะต้องไม่ใช่แค่แสดงออกเท่านั้น หากแต่ตนเองจะต้องทำให้เห็นว่าการคิดในเชิงธุรกิจจะต้องเป็นดิจิตัล งบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานต้องพร้อม

2.Digital Processes ระบบงานและกระบวนการภายใน จะต้องลื่นไหลแบบไร้รอยต่อ ข้อมูลต่างๆภายในองค์กรจะไม่ถูกจัดเก็บแบบต่างคนต่างเก็บ ต่างคนต่างใช้ หากแต่อยู่ในระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อลดความซ้ำซ้อน เชื่อถือได้ว่าทุกคนจะใช้ข้อมูลที่ใหม่อยู่เสมอ และที่สำคัญคือเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังเป็น 2.0 และคิดว่าจะก้าวไปเป็น 3.0 หรือ 4.0 ในอนาคต โดยใส่เซนเซอร์และระบบอัตโนมัติเข้าไปให้ดูยิ่งใหญ่ไฮเทคนั้น ขอบอกว่านั่นเป็นแค่ด้านเดียว เพราะเป็นการยกระดับอัพเกรดเฉพาะระบบการผลิต (Physical Flow) ในความเป็นจริงจะต้องคำนึงถึงการไหลของข้อมูลและการประมวลผล (Information Flow) เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนและตัดสินใจในทุกจุดของโรงงานด้วย

 3.Digital Skills ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนทักษะในการใช้เทคโนโลยี ระบบควบคุม สมองกลฝังตัว การเชื่อมต่อทั้งแบบมีสายและไร้สาย และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆในการประมวลข้อมูลและคำสั่งได้อย่างรวดเร็ว เพราะองค์กรแบบใหม่จะไร้กระดาษ ทุกอย่างอยู่ในระบบ ถ้าไม่มีทักษะในการดึงข้อมูลมาใช้ให้เป็นรูปแบบรายงานต่างๆได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

 4.Digital Culture เป็นส่วนสุดท้ายที่ไม่ทำก็ไม่ยั่งยืน กำลังจะบอกว่าวัฒนธรรมการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องในแบบไคเซ็น หรือการสร้างผลงานแบบก้าวกระโดดในเชิงนวัตกรรมนั้น อาจจะมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ถ้าขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมแบบดิจิตัล เพราะช่วยลดปัญหาอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดเดิมๆไปได้อย่างสิ้นเชิง อาทิ ผู้บริหารเซ็นอนุมัติเอกสารสำคัญไม่ได้เพราะไปต่างประเทศ คนทำงานว่างไม่ตรงกันจึงไม่ได้ประชุมเสียที ข้อมูลกระดาษมากมายเก็บไว้จนล้นห้อง จัดทำรายงานแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไม่รู้สถานะเครื่องจักรและการผลิต เป็นต้น

 

คงไม่ต้องถามกันแล้วครับว่า “ทำไม” หรือ “เมื่อใด” ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะจากผลระทบที่เกิดขึ้น และความกังวลของใครหลายคนว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ อาจจะไม่ใช่แค่มาทำงานแทนคน แต่สามารถคิดและตัดสินใจในบางเรื่องได้ด้วยซ้ำ ดังนั้นทุกคนจะต้องขยับปรับตัวขึ้นไปในระดับที่สูงกว่าเจ้าเครื่องจักรที่ว่า ด้วยการเพิ่มคุณค่าในตัวเอง