หน้ากากประชานิยม กับอนาคตของ EU

หน้ากากประชานิยม กับอนาคตของ EU

เหล่าประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) เพิ่งร่วมกันจัดงานฉลองครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งไป

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา แต่มีการคาดการณ์ก่อนว่าหลังจากนั้นไม่กี่วันคือในวันที่ 29 มีนาคม 2560 นางเทเรซา เมย์ (Theresa May) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรมีกำหนดการประกาศใช้มาตรา 50 (Article 50) เพื่อเริ่มกระบวนการถอนตัวออกจาก EU หรือ Brexit อย่างเป็นทางการ ซึ่งนายณ็อง-คลูเดอ ฌุงแกร์ (Jean-Claude Juncker) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปก็ได้ออกมากล่าวว่า EU คงจะต้องถึงกาลล่มสลายในไม่ช้า หากชาติอื่น ๆ พากันถอนตัวเพิ่มมากขึ้นตามหลังอังกฤษ ซึ่งคำกล่าวนี้สะท้อนโดยตรงถึงความกังวลของ EU ต่อผลการเลือกตั้งทั่วไปของฝรั่งเศสที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายนและพฤษภาคมนี้ เนื่องจากว่าฝรั่งเศสถือเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะชี้ชะตาอนาคตของ EU ต่อไป

แม้ก่อนหน้านี้ไม่นาน เหล่าผู้นำ EU จะโล่งอกได้ในระดับหนึ่งกับผลการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผลออกมาว่า นายมาร์ก รุท (Mark Rutte) นายกรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์สามารถเอาชนะผู้ท้าชิง คือนายเคียร์ต วิลเดอร์ (Geert Wilder) จากพรรคฝ่ายขวาประชานิยม (populist) ที่หาเสียงผ่านนโยบายการกีดกันผู้อพยพต่างชาติเป็นหลัก จนทำให้นายมาร์ก รุท ประกาศอย่างมั่นใจภายหลังทราบผลการเลือกตั้งว่า ประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์ได้หยุดยั้งปรากฎการณ์โดมิโนของกระแสประชานิยมได้แล้ว

แต่มีหลายฝ่ายที่ยังเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งล่าสุดในเนเธอร์แลนด์ถือเป็นกรณีเฉพาะตัวของเนเธอร์แลนด์เท่านั้น ไม่อาจใช้เป็นดัชนีตัวชี้วัดที่จะบอกใบ้ล่วงหน้าถึงความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชานิยมฝรั่งเศสในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้า เนื่องจากว่า มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในสาระสำคัญของนโยบายหลักของผู้ท้าชิงจากเนเธอร์แลนด์เมื่อเทียบกับของผู้ท้าชิงจากฝรั่งเศส ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะถูกจัดให้อยู่ภายใต้กลุ่ม หน้ากากนักการเมืองประชานิยม (populist mask) ที่เหมือนกันก็ตาม 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเรื่องปัญหาพื้นฐานทางสังคมเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในสองประเทศนี้ ซึ่งจะมีผลให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งในแต่ละประเทศต้องการเลือกคนและวิธีเแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน

ในกรณีของฝรั่งเศสนั้น แม้ว่านางมารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) หัวหน้าพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (The National Front Party) จะได้รับการคาดหมายจากการสำรวจความคิดเห็น (polls) ของหลายสำนักว่าเธอในฐานะผู้ท้าชิงจะได้รับคะแนนนำในการเลือกตั้งทั่วไปรอบแรกในวันที่ 23 เมษายน 2560 นี้ แต่ทว่า มีหลายสำนักโพลที่เชื่อว่าเธอจะไม่มีฐานเสียงที่เพียงพอที่จะช่วยให้เธอได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในรอบที่สองในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ หากต้องเจอกับคู่แข่งคนสำคัญที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็น นายเอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) นักการเมืองวัย 39 ปีซึ่งเป็นอดีตนายธนาคารและรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือนายฟร็องซัว ฟียง (Francois Fillon) อดีตนายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส ทั้งนี้ สำนักโพลส่วนใหญ่เชื่อว่า ระบบการเลือกตั้งที่มีสองรอบของฝรั่งเศส จะเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงของทั้งทางฝ่ายขวาสายกลางและฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้ามีโอกาสเป็นครั้งที่สองในการร่วมมือกันเอาชนะฝ่ายขวาสุดกู่ที่ถือเป็นศัตรูร่วมทางการเมืองหรือก็คือ นางมารีน เลอ แปน ได้

  หากนางมารีน เลอ แปน ต้องการจะเอาชนะในรอบที่สองให้ได้ทั้งที่มีโอกาสเพียงริบหรี่ก็ตาม เธอก็ต้องใช้กลยุทธ์สำคัญอย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้

ประการแรก คือ การใช้ประโยชน์จากการสร้างกระแสปลุกเร้าให้ชาวฝรั่งเศสเห็นถึงความจำเป็นในการหยุดยั้งภาวะการเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสที่เป็นมานานแต่ยังไร้ทางออก ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ปัญหาการว่างงานโดยไม่สมัครใจของแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในแต่ละปี สาเหตุก็เนื่องมาจากสหภาพแรงงานมีอำนาจที่เหนือกว่าตลาดมาก จึงทำให้ค่าจ้างแรงงานไม่ถูกปรับลดลงแม้ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก

 นอกจากนี้ การเลิกจ้างแรงงานก็ทำได้ยาก หรือไม่ก็จะมีต้นทุนที่สูงมาก นอกจากนี้ ยังมีกฏหมายที่บังคับจำกัดจำนวนชั่วโมงทำงานต่ออาทิตย์ไว้ในระดับที่ต่ำจนเกินไป ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีผลทำให้แรงงานเก่าที่อยู่ในระบบแล้ว ไม่มีแรงจูงใจจะแข่งขันเพื่อปรับเพิ่มประสิทธิภาพของตน ในขณะที่เจ้าของธุรกิจเอกชนก็ไม่ต้องการจะผูกมัดตนเองด้วยการจ้างแรงงานใหม่เต็มเวลามากขึ้น ท่ามกลางปัญหาเหล่านี้ ทาง EU ก็ยังมีนโยบายเรื่องการรับผู้อพยพต่างชาติที่เพิ่มขึ้น จนกลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมตามมา

 นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านความมั่นคงจากการก่อการร้ายในประเทศ และปัญหาหนี้สาธารณะของภาครัฐเมื่อเทียบกับผลผลิตรวมที่สูงขึ้นตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ทำให้ต้องรัดเข็มขัดเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐอย่างเข้มงวด และกลายเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของรัฐเพื่อปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เก่าแก่ จนกลายเป็นผลลบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจเอกชน และสุดท้ายคือ ปัญหาทุจริตเรื้อรังในหมู่นักการเมืองและข้าราชการที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย

ประการที่สอง คือการสื่อสารกับประชาชนให้เห็นข้อจำกัดของระบบราชการปัจจุบันที่ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ และแม้แต่ระบบการทำงานของ EU ก็อุ้ยอ้าย ล่าช้าและเปลี่ยนแปลงยากเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ดังนั้นการนำเสนอชุดนโยบายประชานิยมต่าง ๆ ของนางมารีน เลอ แปน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกีดกันการค้าเสรี นโยบายกีดกันผู้อพยพ แผนการยกเลิกระบบเงินยูโร และการถอนตัวออกจากEU ทั้งหมดเหล่านี้จึงถูกมองว่า อย่างน้อยก็ไม่เป็นการหนีปัญหาแม้ว่าเรื่องหล่านี้จะต้องถกเถียงกันอีกนานก็ตาม 

แต่จุดสำคัญในขณะนี้คือ นโยบายเหล่านี้ถูกชูขึ้นในสถานะของ “ตัวเปลี่ยนเกม (game changer)” ที่จะบังคับให้ทั้ง EU และระบบการเมืองเดิมของฝรั่งเศสไม่อาจหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนตัวเองได้อีกต่อไป เพราะเมื่อมีชาวฝรั่งเศสจำนวนมากขึ้นที่หันมามี จุดร่วมตรงกัน ในเรื่องตัวเปลี่ยนเกมแล้ว ก็จะเปิดโอกาสให้ นางมารีน เลอ แปน สามารถกุมชัยชนะได้มากขึ้น นอกจากนี้ก็อาจมีตัวแปรอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของนักการเมือง แต่อาจเป็นคุณมากกว่าโทษกับนางมารีน เลอ แปน ได้ เช่น ปัญหาเรื่องการก่อการร้ายล่าสุดในกรุงลอนดอน ที่ช่วยกระตุ้นความกังวลของชาวฝรั่งเศสให้กลายเป็นความต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและรวดเร็วในเรื่องการจัดการกับปัญหาเหล่านี้เสียที

ดังนั้น อนาคตของ EUจึงถูกกำหนดจากผลการเลือกตั้งของฝรั่งเศสในครั้งนี้ด้วย