4 เพิ่ม..ที่ควรทำในสถานการณ์ปัจจุบัน!

4 เพิ่ม..ที่ควรทำในสถานการณ์ปัจจุบัน!

ในสถานการณ์ปกติ..ที่เศรษฐกิจดี แต่ละธุรกิจขายดิบขายดี ทุกอย่างไปได้ด้วยดี...

การบริหารทีมงานที่บรรดาผู้บริหารหรือผู้จัดการ อาจจะบริหารทีมแบบไม่ต้องใช้ฝีมือซักเท่าไหร่ หรือใช้แต่อารมณ์เป็นตัวตั้งในการบริหาร หรือสื่อสารแย่ๆก็ยังไม่ค่อยมีผลกับลูกน้อง เพราะทุกคนอยู่ดีกินดี เงินเดือนขึ้นทุกปี โบนัสใช้ได้ แทบทุกอย่างดีต่อใจหมด ทีมงานก็ยังอยู่กันครบ อัตราการเข้าออกเป็นไปตามปกติ ก็ไม่มีปัญหาอะไร

แต่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อไม่ค่อยมี และยิ่งเจอกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ DIGITAL MARKETING ที่หลายๆ ธุรกิจพลิกตำรารับมือไม่ค่อยทันจนส่งผลกระทบกับการตลาดการขายและยอดขายในทุกวันนี้..

การบริหารทีมของผู้นำทุกหน่วยงาน ทุกระดับในองค์กร จะเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนเลยว่า... ที่ผ่านมา บรรดาผู้จัดการหรือผู้นำทีม รอดหรือรุ่งเพราะฝีมือการบริหารทีม หรือเพราะปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ทีมอยู่รอดมาได้ !?

ที่ใดก็แล้วแต่...ที่ผู้นำทีมในแต่ละหน่วยงาน “ลนและล่ก” บี้ กดดัน ทีมงานแบบสุดชีวิต แล้วหวังว่าทุกคนจะช่วยกันทุ่มเทเพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กร ผ่านพ้นวิกฤติ ถือว่าเป็น “วิธีคิด วิธีบริหารที่ผิดพลาดอย่างมหันต์!”

เพราะการกดดัน (รวมถึงการกดขี่ กรรโชก ขู่)ในสถานการณ์ที่เลวร้าย มีแต่จะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายมากยิ่งขึ้น!

ไม่ได้บอกว่า ต้องโอ๋ หรือปล่อยปละเลยให้สบายๆนะครับ ถ้าทำแบบนั้นก็ไม่น่าจะรอดไปได้ เพราะคงเละเทะน่าดู

แล้วอะไรบ้างคือสิ่งที่ไม่ควรทำ และสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้หน่วยงานและองค์กร รอดและเติบโตได้ในทุกสถานการณ์!?

สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ..สั่งลดค่าใช้จ่ายหรือลดผลประโยชน์ของทีมงานในแต่ละหน่วยงานแบบไม่มีเหตุผลมารองรับ หรือไม่มีการทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่จำเป็น” เพราะขวัญกำลังใจจะหดหาย วงจะแตกเอาง่ายๆ!

ถ้าจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในเรื่องใดก็แล้วแต่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องชี้แจง ข้อเท็จจริงอย่างสร้างสรรค์” เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ลดน่ะลดได้ แต่อย่าลดขวัญกำลังใจและความทุ่มเทของทีมไปพร้อมกับค่าใช้จ่าย ด้วยการสั่งแบบไม่มีการอธิบาย หรือมีหน่วยงานลูกรักที่ได้รับการปกป้องได้รับอภิสิทธ์แต่หน่วยงานอื่นโดนลดหมด ลดแบบนี้อาจเละได้!

สิ่งที่ควรทำในตอนนี้ ไม่ใช่แค่ตั้งหน้าตั้งตาลด... แต่ควรจะ “เพิ่ม” มากกว่า!

เรื่องที่ควรเพิ่ม มีอยู่ 4 เรื่องครับ!

  1. เพิ่มการสื่อสารกับทีมงานให้มากขึ้น” และต้องเป็นการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ในทุกๆเรื่อง ถึงแม้จะเป็นเรื่องร้ายๆ ก็ต้องสื่อให้เห็นทางออก ทางแก้ และความหวัง ไม่ใช่สื่อสารให้จิตตกแบบขาดสติ สื่อข้อเท็จจริงอย่างสร้างสรรค์ ให้ทุกคนเห็นความจำเป็นที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจ และชี้ให้เห็นความหวังและทิศทาง
  2. เพิ่มทัศนคติในการมองปัญหาเป็นโอกาส ถ้าใครเคยได้ฝึกก็จะรู้ว่า ในทุกๆปัญหาที่เจอ จะมีโอกาสแฝงอยู่เสมอ ไม่ใช่เป็นแค่คำพูดโลกสวย แต่ทำได้จริง! ตัวอย่างเช่น .. ปัญหาที่เจอคือ ยอดขายตก หรือขายยากขึ้น ถ้ามองเห็นแต่ปัญหา ก็จะเจอแต่ปัญหาไม่เห็นทางออก แต่พอมองอีกมุม เราจะเห็นว่า ยอดขายตกเพราะลูกค้ากลุ่มเดิมกำลังซื้อลดลง เป็นโอกาสที่จะเจาะจะขยายลูกค้ากลุ่มอื่นๆเพิ่ม ไม่ใช่รอกินแต่บุญเก่า และยังเป็นโอกาสที่จะเคี่ยวเข็ญ พัฒนาทักษะของทีมขาย ที่ที่ผ่านมาอาจจะขายแบบโชคช่วยมากกว่าด้วยฝีมือ!
  3. เพิ่มทักษะด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับทีมงานทุกหน่วยงาน” ถ้ายังปล่อยให้แต่ละหน่วยงาน คิดและทำแบบเดิมๆทุกๆวัน โดยไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ในขณะที่โลกและการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าอดีตเป็นสิบเท่า ไม่มีทางที่จะอยู่รอดได้ในอนาคตอันใกล้นี้!

สถานการณ์ปัจจุบัน เป็นโอกาสที่จะพัฒนาทีมงานทุกหน่วยงานทุกระดับ ที่ไม่ได้จบแค่เพียงการฝึกอบรม แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องโดยการ Coaching ทีมงาน เพื่อบ่มเพาะ หล่อหลอมทั้งทัศนคติและทักษะ. ให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

      4.เพิ่มโครงสร้างผลตอบแทนให้กับทีมงานที่มีศักยภาพ! ดูเหมือนจะสวนกระแสใช่มั๊ยครับในข้อนี้!? แต่เชื่อเถอะครับ การเพิ่มผลตอบแทนให้กับหน่วยงานหรือทีมงานใดก็แล้วแต่ ที่สามารถพลิกฟื้นและสร้างรายได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้กับหน่วยงานและองค์กร ขอยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย แต่เป็นการลงทุนเพื่อสร้างรายได้ เพราะค่าใช้จ่ายที่จ่ายเป็นผลตอบแทนนั้น จะนำมาจากรายได้ที่แตะหน่วยงาน หามาเพิ่มครับ!

ถ้าทำได้แบบนี้ จะเป็นแค่บางข้อ หรือทุกข้อ หรือเพิ่มได้มากกว่านี้.. ก็ไม่ต้องไปกลัวกับสภาวะเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงใดๆ ... เพราะปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รอดและรุ่ง ไม่ใช่ว่าเจอกับสถานการณ์อะไรแล้วผลจะต้องเป็นแบบนั้น

แต่อยู่ที่ วิธีมองและวิธีรับมือกับสถานการณ์ที่เจอมากกว่า

ยิ่งเจอปัญหา ยิ่งทำให้เราแข็งแกร่ง และถ้ารู้จักฝึกให้มองปัญหาเป็นโอกาสในการค้นหาวิธีคิด วิธีการใหม่ๆมาบริหารจัดการ

ลองนำไปพิจารณาปรับใช้ดูนะครับ ผมมั่นใจว่าไม่ได้ยากอะไรเลย แต่ต้อง คิดเป็นทำเป็น และทำอย่างสร้างสรรค์” ไม่เกิน 3 เดือนก็จะเห็นผลงานที่สร้างสรรค์จากสิ่งที่ท่านและทีมของท่านทำอย่างแน่นอนครับ!