การเมือง...กับ...ตลาดทุน

การเมือง...กับ...ตลาดทุน

การเมือง...กับ...ตลาดทุน

กว่า 2 ปีที่ “ประเด็นการเมือง” ขับเคลื่อนและสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดทุนโลก ไล่มาตั้งแต่ BREXIT จนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

ปี 2560 เราต้องเผชิญเหตุการณ์สำคัญอีกหลายครั้ง ล่าสุดสหราชอาณาจักรเริ่มขั้นตอนการเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรป ตามมาติดๆ กับการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนี ดังนั้น การเข้าใจบริบทรวมถึงประเมินผลกระทบในประเด็นการเมืองเหล่านี้จะช่วยให้นักลงทุนสามารถปรับพอร์ตรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นกับตลาดทุนได้

ความเสี่ยงด้านการเมือง มี 2 มิติที่ต้องพิจารณา มิติแรก คือ โครงสร้างระบบการเมือง ระบบเลือกตั้งในแต่ละประเทศต่างกัน สหรัฐและอังกฤษใช้ระบบเลือกตั้งแบบคะแนนนำเสียงข้างมาก (First-Past-the-Post System) ซึ่งผู้ได้คะแนนสูงสุดจะชนะ โดยไม่คำนึงว่าผู้ชนะจะได้คะแนนเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิทั้งหมดหรือไม่ ขณะที่หลายประเทศในยุโรป รวมถึงไทยใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representation System) โดยเลือกผู้แทนเป็นสัดส่วนในสภาใกล้เคียงกับเสียงสนับสนุนจากประชาชน ทำให้ทุกคะแนนเสียงไม่สูญเปล่า

ระบบเลือกตั้งแบบคะแนนนำเสียงข้างมากเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และให้อำนาจพรรครัฐบาลสูงกว่าระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่สนับสนุนให้เกิดรัฐบาลผสม ซึ่งมั่นคงน้อยกว่า เพราะเสียงที่แตกแยกอาจทำให้การดำเนินนโยบายล่าช้าจนนักลงทุนไม่มั่นใจ

มิติที่ 2 คือ ระยะเวลาการเลือกตั้ง ดูตัวอย่างจากสหรัฐที่กว่าจะได้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มาบริหารประเทศ ใช้เวลาถึง 597 วันในการหาเสียง ระยะเวลาอันยาวนานนี้เองทำให้ตลาดทุนผันผวนตามประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาเรียกคะแนน ทุกการเปลี่ยนแปลงล้วนเกิดบนพื้นฐานของคำพูด ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือแรงขายหุ้นกลุ่ม HealthCare ในสหรัฐจากข้อความบน Twitter ของนางฮิลลารี คลินตัน ตัวเก็ง ประธานาธิบดี ในขณะนั้น ที่โจมตีราคายา จนกดดันราคาหุ้นบริษัทผู้ผลิตยาอย่างหนัก โดยปรับลงกว่า 13% ในเวลาเพียง 4 เดือน มาถึงวันนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คือผู้ชนะการเลือกตั้ง นโยบายจัดการราคายาจึงถูกมองข้าม การเลือกตั้ง ประธานาธิบดี สหรัฐ เป็นอีกบทพิสูจน์ว่าถึงความถดถอยของความแม่นยำในผลสำรวจก่อนการเลือกตั้ง 

โดยหลายสำนักเคยตั้งข้อสงสัยว่าประชาชนที่ถูกสำรวจนั้นพูดความจริงมากน้อยเพียงใด เพราะผล BREXIT และชัยชนะของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ หักหน้าสถาบันสำรวจโดยสิ้นเชิง ส่วนหนึ่งอ้างว่าประชาชนอายที่จะยอมรับว่าตนเลือกเดินตามลัทธิอนุรักษนิยม เป็นพวกฝั่งขวา หรือชื่นชอบนโยบายปกป้องประโยชน์ตัวเอง จึงทำให้ผลสำรวจเพี้ยน นั่นหมายถึง Surprise หรือสิ่งที่ไม่เป็นไปตามตลาดคาด เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ประเด็นสำคัญคือ การนำแนวคิดถึงผลที่คาดหรือ Surprise มาพิจารณาต่อไปที่ตลาดทุน เพราะความไม่มั่นคงทางการเมืองจะเกิด Domino Effect ลองนึกภาพดูว่า เมื่อภาคเอกชนไม่มั่นใจ และชะลอลงทุน กิจกรรมเศรษฐกิจจะลดลง การขยายตัวของ GDP ถดถอย ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย เงินอ่อนค่า บรรยากาศลงทุนซบเซา และท้ายที่สุดราคาสินทรัพย์จะผันผวนสูง ทั้งนี้ ประเด็นการเมืองโลกที่ต้องจับตาในเวลาอันใกล้นี้ คือ 

ความเป็นหนึ่งเดียวของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และพรรคริพับลิกัน หากจำกันได้ ตั้งแต่การคัดสรรผู้เข้าชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพรรค ล่าสุดตอกย้ำด้วยการที่ ประธานาธิบดี โดนัดล์ ทรัมป์ ต้องถอนร่างแก้กฎหมาย Obamacare เพราะเสียงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมพรรคไม่พอ ดังนั้น การผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีซึ่งเป็นนโยบายชูโรงอาจล่าช้าและทำได้น้อยกว่าที่คาด

การเลือกตั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนี ความเสี่ยงคือความนิยมที่สูงขึ้นของพรรคฝ่ายขวาอย่างพรรค National Front ของนางมารีน เลอ แปนในฝรั่งเศส และพรรค Alternative für Deutschland (AfD) ในเยอรมนี ที่อาจทำให้สหภาพยุโรปสั่นคลอน แม้มีความเสี่ยงนี้อยู่ แต่เรามองว่าการได้เสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวของพรรคทั้งสองนั้นเป็นไปได้ยากมาก