ระวัง 'ขยะดิจิทัลสะสม' ช่องโหว่โดนล้วงข้อมูล

ระวัง 'ขยะดิจิทัลสะสม' ช่องโหว่โดนล้วงข้อมูล

เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานชิ้นหนึ่งน่าสนใจของ แคสเปอร์สกี้ แล็บ บริษัทด้านไซเบอร์ ซิเคียวริตี้รายใหญ่ของรัสเซีย

 พูดถึงอาการ “ขยะดิจิทัลสะสม” (Digital clutter) ที่เป็นกันมากในหมู่ประชากรดิจิทัลทุกวันนี้ ด้วยความก้าวด้านการจัดเก็บข้อมูล ทำให้มีแอพพลิเคชั่นจำนวนมากมายที่ใช้งานกันแต่ละวัน แต่น้อยคนที่ใส่ใจดูแลแอพเหล่านี้ ซึ่งสามารถกลายเป็นช่องโหว่ด้านความปลอดภัยบนอุปกรณ์ที่พวกคุณใช้งานกันได้

รายงานชิ้นนี้ ยกตัวอย่าง ในกลุ่มผู้ใช้แอนดรอยด์ พบว่า ปกติยูสเซอร์จะลงแอพแอนดรอยด์ 12 แอพทุกเดือน แต่จะลบทิ้งเพียง 10 แอพเท่านั้น คงเหลือ 2 แอพบนเครื่องทุกเดือน ด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้น การบริหารจัดการแอพจึงเป็นเรื่องสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดการทับถมของขยะดิจิทัล มียูสเซอร์ 55% เท่านั้นที่รีเฟรชเครื่อง และใส่ใจตรวจดูคอนเทนท์ ลบไฟล์ หรือแอพที่ไม่ใช้ทิ้งไป 

แต่ถ้าเมื่อไหร่ขยะดิจิทัลค่อยๆ ก่อตัวแสดงว่า อุปกรณ์นั้นต้องการรีเฟรช อัพเดทแอพต่างๆ เพื่อกันไม่ให้มัลแวร์ที่คอยจ้องอาศัยช่องโหว่ผ่านแอพเหล่านั้นเจาะเข้าอุปกรณ์มาได้

รายงาน พบว่า ยูสเซอร์จำนวนหนึ่งในสี่ หรือ 28% จะอัพเดทแอพบนเครื่องก็ต่อเมื่อโดนบังคับให้ต้องทำเท่านั้น และอีก 10% พยายามที่จะไม่อัพเดทเลย

อันตรายข้อใหญ่ประการหนึ่งคือแอพนั้นๆ จะเป็นตัวก่อความเสี่ยงต่อข้อมูลและอุปกรณ์ โดยมาจากกิจกรรมที่ทำอยู่ประจำ นอกจากนี้ การวิเคราะห์เชิงเทคนิคโดยแคสเปอร์สกี้ แลป แสดงว่า ผู้ใช้แอพแอนดรอยด์จำนวน 100 รายสามารถบริหารจัดการแอพได้เอง เช่น ติดตั้งและลบออก ยูสเซอร์ 83 รายมีแอคเซสไปถึงข้อมูลที่มีความสำคัญส่วนตัว เช่น ที่ติดต่อ ข้อความและข้อมูลสำคัญ บางรายถึงกับต่อโทรศัพท์และส่งข้อความได้ด้วย

อังเดร โมโคลา หัวหน้าฝ่ายธุรกิจคอนซูมเมอร์ แคสเปอร์สกี้ เล็บ บอกว่า อุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งข้อมูลส่วนตัวของยูสเซอร์ทุกวันนี้ ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการคุกคามด้านความปลอดภัย เพราะละเลยที่จะดูแลอุปกรณ์ของตัวเอง ทั้งที่ทำได้ง่ายๆ แต่มีความสำคัญอย่างมาก เช่น คลีน อัพเดทซอฟต์แวร์และแอพ ปรับตั้งค่า setting ยกเลิกแอพที่ไม่ได้ใช้งาน

การทับถมของขยะดิจิทัลบนอุปกรณ์สื่อสาร แสดงถึงการละเลย และปล่อยให้ตัวเองเสี่ยงไปวันๆ

ความละเลยเช่นนี้นำไปสู่ปัญหาอีกมากมาย เช่น ใช้งานสะดุด ปัญหาอายุใช้งานของแบตเตอรี่ หรือการแพร่ระบาดของมัลแวร์ แอพที่เราติดตั้งลงในเครื่อง บางแอพสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความสำคัญของผู้ใช้งาน ยูสเซอร์เองก็มักลืมความจริงข้อนี้ไปว่า เป็นช่องโหว่ที่วันใดวันหนึ่งข้อมูลสำคัญของพวกคุณอาจถูกแชร์ออกไปด้วย

ยุคดิจิทัลแบบนี้ จึงต้องจัดระเบียบปัดกวาดบ้านดิจิทัลของคุณให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น เข้าใจว่าอะไรเก็บที่ไหน ให้เวลากับอุปกรณ์สื่อสารของตัวเอง ไล่ดูว่ามีข้อมูลอะไรในนั้นบ้าง ข้อมูลใดควรเก็บไว้ มีแอพอะไร ไฟล์ใดอยู่บ้าง หมั่นอัพเดทแอพและซอฟต์แวร์เป็นประจำ 

 เช่น ห้องที่ได้รับการดูแลให้สะอาด ไม่ยุ่งเหยิง ก็จะเต็มไปด้วยพลังสดใสต่อชีวิตและที่อยู่อาศัยเป็นต้น เช่นเดียวกัน คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนที่สะอาดเป็นระเบียบ ก็จะให้ประสบการณ์ที่ทั้งปลอดภัยและเพลิดเพลินในการใช้งาน