ความเกรงใจหรือการเคารพสิทธิผู้อื่น (จบ)

ความเกรงใจหรือการเคารพสิทธิผู้อื่น (จบ)

ดังได้กล่าวคราวที่แล้วว่า การสร้าง “ ความเกรงใจ” ให้เป็นเครื่องมือกำกับพฤติกรรมของคน ไม่ให้ล่วงละเมิดคนอื่นๆ

 และสังคมที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น หมดพลังไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันนี้ก็พบว่า “ความเกรงใจ” หมดพลังลงไปจนเกือบจะหมดสิ้นแล้ว

แม้แต่ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนที่เป็นคนคุ้นเคยกัน “ความเกรงใจ” ก็เหลือน้อยลง มิพักต้องพูดถึงในระดับสังคมซึ่งก็ไม่เคยสร้างความคิดเรื่อง “ความเกรงใจสังคม ” มาก่อน ยื่งทำให้การละเมิด “สังคม” เป็นไปได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การใช้พื้นที่สาธารณะในสังคมไทยของผู้คนในปัจจุบัน จะพบว่า “ความเกรงใจ” คนอื่นๆ และแทบจะไม่มีความเกรงใจต่อ “สังคม” เอาเสียเลย ทำให้พร้อมที่จะยึดเอาความพึงพอใจ ผลประโยชน์ หรือความสะดวกของตนเองเป็นหลัก

การสูญสลายไปของ “ความเกรงใจ” ก่อปัญหาการละเมิดกันมากมายในทุกมิติ ตั้งแต่การดำเนินชีวิตประจำวันในพื้นที่สาธารณะทุกแห่ง เช่น ถนน โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านกาแฟ โลกโซเชียล ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงความใฝ่ฝันถึง “ บรมธรรม” ก็ล้วนแล้วแต่วางอยู่บนความปรารถนาส่วนตัวอย่างไม่แคร์คนอื่นและสังคมเลย ลองนึกถึงการสร้างพระพุทธรูปรุ่น “ ดูดทรัพย์” ที่เน้นความร่ำรวยส่วนตัวอย่างไม่มีแก่ใจคิดไปถึงเรื่องของ “ ความเมตตา” ที่ควรจะมีต่อผู้อื่น ไม่ใช่คิดเพียงแค่จะดูดทรัพย์คนอื่นเท่านั้น

คนที่ “ขี้เกรงใจ” คนอื่น ก็จะพบว่า “ความเกรงใจ” ที่ตนมีและทำให้ตนเอง “ถอย” สักหน่อยเพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่คนอื่นมากขึ้นกลับกลายเป็นช่องทางและโอกาสให้คนอื่นนั้นได้ใช้ “ ความเกรงใจ” ที่ได้รับมากระทำการรุกล้ำ ล่วงเกิน ละเมิด และขูดรีด ตนมากขึ้นไปอีก

ท่ามกลางสังคมที่ปราศจาก “ ความเกรงใจ” กันและกันเช่นนี้ เราจะอยู่กันอย่างไร

ผมเชื่อว่าปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างผู้คนในทุกระดับและทุกมิติจะทวีมากขึ้น ลองนึกถึงการเกิดขึ้นและการขยายตัวของ “ มนุษย์ป้า/มนุษย์ลุง/มนุษย์แว้น/มนุษย์ลูกคนรวย ” ที่พร้อมจะเอาเปรียบคนอื่นและสังคมได้อย่างหน้าตาเฉยที่มากขึ้นตามวันเวลา เพื่อนสนิทผมคนหนึ่งก็พบกับพฤติกรรมเบรครถแล้วถอยมาจะชน แบบเดียวกับมนุษย์หนุ่มชื่อดังที่เคยทำเมื่อไม่นานมานี้

สังคมไทยในวันนี้จะต้องคิดอะไรกันบ้างเพื่อรักษาสังคมให้เป็นสังคมต่อไป

ผมคิดว่ามีสองทางเลือกที่จำเป็นต้องช่วยกันสร้างขึ้นมา ตั้งแต่ครอบครัว ระบบการศึกษาทุกระดับ และระดับของสังคมโดยรวม ทางเลือกแรก ได้แก่ การคืนและขยาย “ความเกรงใจ” ให้ครอบคลุมกว้างขวางจนเป็น “ ความเกรงใจสังคม” ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อสังคมไทยสร้างการรับรู้และให้ความหมายของ “ พื้นที่สาธารณะ” กันใหม่ว่าไม่ใช่พื้นที่ที่ใครจะมาถ่มถุยอะไรก็ได้อย่างที่เคยทำกันมา หากแต่ต้องเข้าใจและตระหนักว่า “พื้นที่สาธารณะ” นั้นเป็น “ สมบัติร่วมของสังคม” ที่ปัจเจกบุคคลไม่ควรล่วงละเมิด

ระบบการศึกษาในทุกระดับจะต้องสอนและสร้างกิจกรรมที่เชื่อมโยงตัวผู้เรียนเข้ากับ “สมบัติร่วมของชุมชนและสังคม” ตลอด และต้องทำให้ตระหนักถึงสายตาของคนรอบข้างที่จะตำหนิเด็กหากละเมิดกฏเกณฑ์ของ “สมบัติร่วม” ซึ่งแน่นอนว่ามีความยากลำบากในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีรู้สึกของคนไทยอยู่บ้าง เพราะหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจเป็นต้นมา สังคมไทยมักจะสั่งสอนให้ใส่ใจคนรอบข้างน้อยลง เช่น คำพูดทำนองว่า “อย่าไปแคร์ใคร เพราะเราไม่ได้ไปขอข้าวใครกิน” แต่ก็จำเป็นต้องคิดถึงการสร้างจินตนาการเชื่อมต่อผู้คนกับ“สมบัติร่วม” เช่นนี้ให้ได้

ทางเลือกประการที่สอง ได้แก่ การทำให้คนในสังคมไทย “เคารพสิทธิของผู้อื่น” แม้ว่าสังคมไทยจะพูดหรือเขียนประโยคนี้ถี่มากขึ้น แต่น่าแปลกใจที่การกระทำมากมายในสังคมกลับเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการจะสร้าง “สังคมที่เคารพสิทธิผู้อื่น”จำเป็นที่จะต้องสร้างความคิดและความรู้สึกถึง “ ความเท่าเทียม” ของคนขึ้นมาให้ได้ก่อน แต่สังคมไทยที่ผ่านมาได้ได้สร้างให้เกิดความคิดและความรู้สึก ถึงความเท่าเทียมกันแต่อย่างใด ความหมายของ“ ความเป็นไทย”ยังคงฝังลึกอยู่กับความสัมพันธ์ในเชิงลำดับชั้นอยู้ไม่เสื่อมคลาย

แม้ว่าจะแยก“ความเกรงใจสังคม” และ “ การเคารพสิทธิผู้อื่น” ออกเป็นสองทางเลือก แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองชุดความคิดนี้จะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพียงแต่แยกให้เห็นว่าหากเราจะเลือกอยู่กับ “ วัฒนธรรมไทย” ให้มากหน่อยก็จำเป็นต้องเลือกทางไปสู่การสร้าง “ ความเกรงใจสังคม” แต่หากเราจะเลือกเดินไปสู่ “ วัฒนธรรมสากล” ก็คงต้องเน้นการสร้าง “ การเคารพสิทธิผู้อื่น” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สองชุดความคิดนี้เป็นเสมือนสองหน้าของเหรียญเดียวกัน

หลายคนก็พูดกันนะครับว่าสังคมไทยอยู่ยากมากขึ้น ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่เราก็ยังพอจะช่วยทำให้สังคมไทยอยู่กันอย่างสงบ สันติ และอยู่สบายๆ ได้ครับ โดยที่พวกเราทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันสร้างระบบความหมายในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมกันใหม่ครับ