รณรงค์เมาไม่ขับมากไปนั้นแก้ปัญหาผิดจุด

รณรงค์เมาไม่ขับมากไปนั้นแก้ปัญหาผิดจุด

เรารณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลมาแล้วไม่รู้กี่สิบปี กฏหมายสารพัดที่ออกมาบังคับใช้ ลงโทษอย่างแรงทั้งปรับทั้งจำ

 แต่ไม่เคยเลยที่อุบัติเหตุของประเทศไทยจะลดลง ตอนนี้ประเทศไทยมีคนตายในแต่ละปีด้วยอุบัติเหตุบนถนนมากที่สุดในโลก หน้าเทศกาลแต่ละทียิ่งกว่าไปรบในประเทศที่มีสงครามกลางเมือง สี่ห้าร้อยศพในแต่ละครั้งทั้งถนนหลักและถนนรอง นี่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดของนโยบายแล้ว ไม่ใช่แค่การปฏิบัติ และเพราะนโยบายที่เน้นเป้าผิด จึงนำไปสู่การรณรงค์ที่ผิด สำนึกของคนไทยก็ไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาอุบัติเหตุจึงแก้ไม่ได้ การลดอุบัติเหตุที่ดีที่สุดนั้นแทนที่จะมุ่งเน้น “การเมาไม่ขับ” เราควรมุ่งเน้นที่ “การไม่ขับรถเร็ว” ต่างหาก

ตามข้อเท็จจริง ทั้งการเมาไม่ขับและการไม่ขับรถเร็วนั้น เป็นสิ่งที่หน่วยงานเกี่ยวข้องรณรงค์อยู่ทั้งคู่ แต่ถ้าสังเกตจะเห็นว่าการเมาแล้วขับจะโดนลงโทษหนักกว่า มีการประกาศเตือนมากกว่า และถือเป็นความผิดบาปมากกว่า การทุ่มเทลงไปกับการห้ามคนเมาขับรถ ทำให้การรณรงค์การไม่ขับรถเร็วนั้นเบาบางลงไป สำนึกสังคมหันเหไปที่การรังเกียจคนเมาขับรถ เพราะเชื่อว่าจะควบคุมสติสัมปัญชัญญะไม่ได้ จะไปทำอันตรายคนอื่น สิ่งนี้ไม่ผิดหรอก แต่นั่นกลับเป็นการละเลย “ผู้ร้ายตัวจริงยิ่งกว่า” ซึ่งคือการขับรถเร็วเกินไป ประมาทเกินไป ที่ทำให้คนไทยตายโหงด้วยอุบัติเหตุมากมาย แม้จะไม่ได้ดื่มเลยสักหยด

แม้ว่าทางการมีความพยายามควบคุมความเร็วบนท้องถนน ถึงขั้นจัดหากล้องตรวจจับความเร็วไฮเทคมาติดอยู่ตามจุดสำคัญ ส่งใบสั่งไปถึงบ้าน แต่จะทำให้คนลดการขับรถเร็วนี้ไม่สำเร็จหรอกครับ ถ้าไม่ตอกเป้าไปที่สำนึกของเขา เพราะเท่าที่เป็นอยู่ ประชาชนไม่ได้รู้สึกสลดกับการเหยียบคันเร่งเกินกำหนดเลยหากโอกาสอำนวย พวกเขาอาจเกรงกลัวกฎหมาย เพราะอาจทำให้เขาเสียค่าปรับ แต่ถ้าเขามีโอกาส ถนนโล่งเมื่อไหร่ เป็นได้เหยียบมิดตามใจปรารถนา และถ้าพลาดขึ้นมาความเร็วเกิน 120 กม./ชม.ขึ้นไป แทบไม่มีโชคช่วยให้รอดเจ็บตาย

ในขณะที่ไม่มีถนนเส้นไหนในประเทศนี้อนุญาตให้ขับรถเร็วเกิน 120 กม./ชม. แต่กลับมีการโฆษณารถแรงเกินห้ามใจอยู่ทุกวัน ตั้งแต่บิลบอร์ดขนาดใหญ่ สื่อดิจิตอล สื่อสิ่งพิมพ์ และการจัดอีเวนท์ล่อใจ กระตุ้นให้คนหาซื้อรถเร็วๆแรงๆ ทั้งที่พวกเขาจะขับด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดไม่ได้เลย ถ้าพวกเขาไม่ไปแข่งในสนามแข่งหรือม่ายก็แอบขับเกินกฎหมายกำหนด ในเส้นทางที่เขาคิดว่าโล่ง แต่ถ้าเขาคิดผิด ก็จะเกิดอุบัติเหตุถึงตายด้วยความเร็วอันน่ากลัว

เมื่อเป็นเช่นนี้จะปล่อยให้มีการโฆษณาแบบนี้ไปทำไมครับ เพราะโฆษณาเหล่านี้เองสร้างสำนึกของนักขับรถจำนวนไม่น้อยเลยว่า ไม่เป็นไรหรอกถ้าจะเหยียบเร็วขึ้นอีกหน่อย 130-140 กม./ชม.ก็ได้ ถึงบ้านเร็วขึ้นอีกหน่อย พวกเขาจะไม่เผื่อใจไว้ให้กับอุบัติเหตุที่บางทีง่ายมาก เช่น หมาตัดหน้ารถ หรือมีรถจอดเสียข้างทาง พวกเขาพร้อมจะทำผิดกฏหมายแล้วมานั่งนึกเสียใจภายหลังหากเกิดเรื่องขึ้น แต่ในวันนี้ที่ไม่มีการหยุดยั้งการสร้างจิตสำนึกว่าการขับรถเร็วเป็นสิ่งผิด พวกเขาก็ไม่แคร์ ส่วนหนึ่งอาจเพราะคนไทยเป็นคนติดประมาทโดยนิสัย จึงเกิดการแก้ปัญหาแบบวัวหายค่อยล้อมคอกได้บ่อยครั้งจนเป็นสุภาษิตประจำ แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะการสร้างมโนทัศน์ของค่ายรถ

เมื่อเทียบกับสินค้าประเภทอื่นแล้ว ค่ายรถมักใช้กลยุทธการตลาดที่มุ่งเข้าถึงอารมณ์ของผู้บริโภคมาก ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าคุณสมบัติของรถเอง แคมเปญที่มีพริตตี้สวย ๆ ปลุกเร้าความรู้สึกแตกต่าง หรูหรา รูปทรงเท่และเร็วแรง เป็นสิ่งที่ค่ายรถไม่เคยหยุดยั้งในการเข้าถึงมโนทัศน์ของผู้บริโภค ไม่ใช่แค่การมีพาหนะที่พาไปถึงจุดหมายได้อย่างราบรื่นเท่านั้น สิ่งที่ค่ายรถทำนั้นไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการทำให้ผู้บริโภคอยากมีรถสมรรถนะแรงๆเร็ว ๆ ทั้งที่กฏหมายห้ามขับเร็ว

คนกินเหล้ามักจะขับรถเร็วขึ้นกว่าปกติก็ยังต้องคงกฎหมายเล่นงานคนเมาให้หนัก อุปกรณ์รถที่ไม่ตรวจเช็คเปลี่ยนซ่อมให้เรียบร้อยก็ทำให้รถแล่นเกินกำหนดตกเขาบ้าง ชนรถคนอื่นบ้างก็ต้องเล่นงานทางกฎหมายให้หนักเช่นกัน การขับรถอย่างคึกคะนองของพวกแก๊งค์ซ่าไปเป็นกลุ่มแล้วไม่คำนึงถึงเพื่อนร่วมทางก็ต้องกวดขันปราบปราม แต่หากผู้รณรงค์ต้องการลดตัวเลขอุบัติเหตุจริงอย่างได้ผล ก็ต้องมุ่งเรื่องอย่าขับรถเร็วให้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

การดำเนินการบางอย่าง เช่น จำกัดการโฆษณาของค่ายรถเรื่องสมรรถนะความเร็วแรงของรถ การสร้างจิตสำนึกบุคคลว่าความเร็วคือความตาย การจำกัดความเร็วทางเทคนิค เช่น ติดตั้งอุปกรณ์กับตัวรถที่เตือนหรือให้เครื่องยนต์ทำงานไม่เกิน 100-120 กม./ชม. และการเพิ่มโทษผู้ขับเร็วเกินกำหนด ล้วนแต่เป็นวิธีการที่น่าจะนำมาใช้ ลองรณรงค์เช่นนี้กันไม๊ครับ ในเมื่อมุ่งเป้าเรื่องกินเหล้าแล้วไม่ได้ผล ก็มุ่งเป้าใหม่เล่นคนไม่กินแต่รักความเร็วแรงนี่ล่ะ