แนวคิด 'หลังทุนนิยม' และเศรษฐกิจสมานฉันท์

แนวคิด 'หลังทุนนิยม' และเศรษฐกิจสมานฉันท์

การครอบงำของกระบวนทัศน์ ว่าตลาดเป็นกลไกที่ดีที่สุดในการตัดสินใจ ปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐาน จะผลิตอะไร อย่างไร และเพื่อใคร

 ทำให้ปริมณฑลของชีวิต ที่ไม่เคยถูกนิยามว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ถูกกลืนกินเข้าไปอยู่ในอาณานิคมของระบบตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ

เรามาไกลถึงจุดที่ระบบตลาด ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ กลับถูกใช้เป็นกลไกหลัก ในการแก้ไข เช่น ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เราสามารถทำสัญญาเช่าร่างกายของผู้หญิง ราวกลับว่าเป็น “โรงงาน”​ ผลิตทารก ในอุตสาหกรรมตั้งท้องแทน (surrogate mother) เพื่อสนองความต้องการของคนในประเทศพัฒนาแล้ว

เจ เค กิ๊บสัน-แกรม​ (J.K.Gibson-Graham) นามปากกาของนักภูมิศาสตร์สังคมสายเฟมินิสต์สองคน คือ จูลี แกรม (Julie Graham) และแคทเธอรีน กิ๊บสัน (Katherine Gibson) กล่าวว่า กระบวนทัศน์ว่าด้วยเศรษฐกิจแบบดังกล่าว ทำให้เราไม่สามารถจินตนาการถึงการเมืองของเศรษฐกิจ (economic politics) แบบทางเลือก หรือ “การเมืองหลังทุนนิยม (post-capitalist politics)”​ เพราะระบบทุนถูกสร้างให้น่าเกรงขาม ทรงพลัง ปรากฎอยู่ทุกที่ทุกเวลา และไม่หลงเหลือพื้นที่ สำหรับความแตกต่างหลากหลายและคุณค่าแบบอื่น

คำประกาศของทั้งสองคนว่า “ถึงจุดสิ้นสุดของทุนนิยมแล้ว” ที่เป็นเสมือนคำเชิญชวน ให้พวกเรากลับมาทบทวนกระบวนทัศน์กระแสหลัก จึงได้รับการตอบรับอย่างดี จากนักวิชาการสายทางเลือกและแอ็คติวิสต์ เพราะสอดรับอย่างดีกับสโลแกน “โลกอีกใบที่แตกต่างนั้นเป็นไปได้ (another world is possible)” ของขบวนการเคลื่อนไหวฯ ต่อต้านระบบทุนนิยมทั่วโลก

ข้อเสนอดังกล่าวนำไปสู่ความตื่นตัวในงานวิจัยภาคปฏิบัติการ (action research) ศึกษาวิธีจัดการการผลิต การกระจาย และแลกเปลี่ยนสินค้าขององค์กรขนาดเล็ก ที่ต่างจากระบบตลาด ภายใต้หลักการเรื่อง “เศรษฐกิจสมานฉันท์​ (solidarity economy)”

อันที่จริง แนวคิดและภาคปฏิบัติการของเศรษฐกิจสมานฉันท์ มีที่มาจากประสบการณ์ และแรงบันดาลใจอย่างน้อยสองกระแส กล่าวคือ ต้นทางหนึ่งมาจากประสบการณ์ขององค์กร ในระดับรากหญ้าในลาตินอเมริกา ภายหลังจากการบังคับใช้ชุดนโยบายปรับโครงสร้าง (structural adjustment programs) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และการบังคับใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ในทศวรรษ 80s และ 90s ตามลำดับ

อีกสายธารหนึ่งของความคิดและการทดลองทางสังคมเกิดขึ้นในชุมชนวิชาการและนักพัฒนา ในโลกภาษาฝรั่งเศส คือ ฝรั่งเศสและแคนาดา ที่มีศูนย์กลางที่เมืองคิวเบค ทั้งนี้ ชัยชนะของรัฐบาลฝ่ายก้าวหน้า ในปี 1993 ทำให้องค์กรไม่แสวงหากำไรและวิสาหกิจในระดับชุมชน เพิ่มบทบาทขึ้นอย่างมากในการเข้าร่วมจัดการเศรษฐกิจของเมือง อย่างมอนทริออล ตัวอย่างเช่น การจัดการศูนย์เลี้ยงเด็กของคิวเบค โดยการรวมตัวของคนงานหญิงในรูปแบบของสหกรณ์

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าคำว่า “เศรษฐกิจสมานฉันท์”​ ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อใด เพราะยังไม่มีการศึกษาในเชิงวิชาการอย่างจริงจัง ทั้งนี้ พบว่ามีการอ้างอิง ถึงงานวิชาการอย่างน้อยสามแหล่ง กล่าวคือ หนึ่ง งานของเฟลิปเป้ อลาอิซ (Felipe Alaiz) นักเขียนสายอนาธิปัตย์เชื้อสายไอบีเรียน สอง ทฤษฎีของนักสังคมวิทยาหลุยส์ ราเซโต้ (Louis Razeto) ชาวชิลี และสาม งานศึกษาภายใต้หัวข้อ “social-solidarity economy” ของฌอง-หลุยส์​ ลาวิล (Jean-Louis Laville)​ ชาวฝรั่งเศส

ปัจจุบัน เครือข่ายเศรษฐกิจสมานฉันท์เกิดขึ้นในทุกทวีป รวมทั้งเอเชีย ในสหรัฐฯ นักกิจกรรมรุ่นใหม่ใช้ “เศรษฐกิจสมานฉันท์”​ ​เพื่อจัดตั้งชุมชนผู้มีรายได้ต่ำที่รู้สึกว่าตนเองถูกกีดกันออกจากความมั่งคั่งที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้น อันที่จริง กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำจำนวนมากในสหรัฐฯ​ โดยเฉพาะคนจนเมืองผิวขาวและคนงานผิวสี รวมกลุ่มขึ้นโดยเฉพาะในรูปของสหกรณ์ที่คนงานร่วมกันเป็นเจ้าของ (workers-owned coops)

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจสมานฉันท์ ไม่ใช่แบบจำลองทางเศรษฐกิจใหม่ แต่เป็นกรอบแนวคิดใหม่ เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการจัดการเรื่องการผลิต กระจายและแลกเปลี่ยนที่อยู่บนหลักการเรื่องความร่วมมือ การช่วยเหลือระหว่างสมาชิก ความยุติธรรมทางสังคมและการตัดสินใจด้วยประชาธิปไตยทางตรง จะว่าไปแล้ว การถามหาแบบจำลองฯ นั้นเท่ากับว่าเรายังคงติดอยู่ในกระบวนทัศน์เก่า ที่เชื่อว่ามีคำตอบสำเร็จรูปในการแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐานที่ใช้ได้กับทุกวัฒนธรรม

ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจสมานฉันท์แตกต่างจากแนวคิดผู้ประกอบการสังคม (social enterprise) ที่ยังอยู่ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก เพราะเน้นหลักการแข่งขัน และกำไรสูงสุดเป็นตัวตั้ง เพียงแต่ดึงเอาสิ่งที่เรียกว่า “สังคม”​ เข้าเป็นทางเลือกที่สาม

เศรษฐกิจสมานฉันท์คือ กรอบความคิดและภาษาใหม่ที่จะช่วยให้เรานิยาม “เศรษฐกิจ” ที่ดำรงอยู่ร่วมกับระบบตลาดมานาน แต่ไม่เคยถูกมองเห็น เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกที่เรารู้จัก อย่างที่แคทเธอรีน กิ๊บสันเคยหยิบยกสโลแกนของเฟมินิสต์ขึ้นมาอธิบายว่าเราสามารถ “เปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับโลก เพื่อที่จะเปลี่ยนโลก”

........................................

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร

สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม