Eurovision 2020

วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์ของยุโรป

 เพราะตรงกับวันที่สนธิสัญญามาสตริทช์ ที่เป็นต้นกำเนิดของการรวมกลุ่มของเขตเศรษฐกิจ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีอายุครบ 60 ปีพอดี

แม้จะยืนหยัดผ่านหนาวผ่านร้อนมามากมาย แต่แทนที่จะเฉลิมฉลองใหญ่ ยุโรปในปัจจุบันกลับอยู่ในช่วงตกต่ำ เห็นได้จากการที่อังกฤษที่เป็นสมาชิกขนาดใหญ่กำลังจะประกาศเจรจาขอออกจากการเป็นสมาชิกภาพ (Brexit) รวมถึรงกระแสการเมืองในแต่ละประเทศที่ต่อต้านสหภาพยุโรปมากขึ้น จนทำให้ผู้นำพรรคที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรป เช่น Marine Le Pen ของฝรั่งเศส Geert Wilders ของเนเธอร์แลนด์ ผู้นำพรรคทางเลือก (Alternative for Germany) ของเยอรมนี และ Beppe Grillo แห่งพรรค M5S ของอิตาลี ต่างได้รับความนิยมมากขึ้น

ยุโรปมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? แล้วในอนาคตอันใกล้ จะยังมีสหภาพยุโรปอยู่หรือไม่? เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ผู้เขียนจึงขอวิเคราะห์ใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ข้อผิดพลาดของสหภาพยุโรป (2) คาดการณ์ทิศทางสหภาพยุโรปใน 3 ปี ข้างหน้า และ (3) โอกาสและความเสี่ยงของยุโรปในอนาคต

ในประเด็นแรก ข้อผิดพลาดของสหภาพยุโรปที่นำมาสู่กระแสต่อต้านนี้ เกิดจากการที่ประเทศหลักในยุโรป ไม่สามารถผลักดันให้สมาชิกขนาดเล็กอื่น ๆ ให้ เต็มร้อย ในการเข้าร่วมในสหภาพยุโรปได้ โดยเฉพาะในประเด็นที่สมาชิกต้องเตรียมสถานะทางการคลังให้พร้อมก่อนที่จะเข้าร่วมใช้เงินสกุลยูโร (เช่น ต้องลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้อยู่ที่ 60% และต้องไม่ขาดดุลการคลังเกิน 3% ของ GDP เป็นต้น) ทำให้ประเทศเหล่านั้น (โดยเฉพาะประเทศยุโรปใต้) ประสบปัญหาทางการคลัง และทำให้เยอรมนีบังคับให้ประเทศเหล่านั้นต้องทำมาตรการรัดเข็มขัดด้านการคลังเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ

นอกจากนั้น การที่ประเทศต่าง ๆ มีระดับการพัฒนาการของเศรษฐกิจที่แตกต่างกันจนเกินไป ทั้งในแง่ของรายได้ของประชาชนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะเยอรมนีที่รายได้และความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าประเทศอื่น ๆ มาก จึงเป็นภาระของเยอรมนีในการต้องเข้าอุ้มประเทศอื่น ๆ เมื่อประสบปัญหา และนำมาซึ่งมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวด ทำให้ประชาชนในประเทศสมาชิกต่าง ๆ ไม่พอใจสหภาพยุโรปมากขึ้น ทั้งในประเทศยุโรปใต้ที่ต้องทำมาตรการรัดเข็มขัด ในประเทศแกนกลางอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ต้องจ่ายเงินให้กับสหภาพยุโรปจำนวนมาก และในประเทศอื่น ๆ เช่น อังกฤษ ที่ต้องสูญเสียอธิปไตยในนโยบายต่าง ๆ เช่น นโยบายผู้อพยพ นโยบายการเกษตร เป็นต้น

เมื่อภาพเป็นเช่นนี้ สหภาพยุโรปจะอยู่รอดในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือไม่ ซึ่งหากให้ฟันธงแล้วนั้น ผู้เขียนมองว่ายังมีความเป็นไปได้ประมาณ 60% ที่สหภาพยุโรปจะยังคงอยู่ โดยมุมมองนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐาน 3 ประการ คือ (1) พรรคฝ่ายขวาจัดในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปพ่ายแพ้การเลือกตั้ง (2) อังกฤษและยุโรปยังตกลงกันได้ในการทำข้อตกลง Brexit และ (3) เยอรมนีมีท่าทีที่ผ่อนคลายลงบ้างในประเด็นการเข้มงวดในมาตรการรัดเข็มขัด

สาเหตุที่ผู้เขียนยังมีมุมมองเชิงบวกอย่างระมัดระวัง เป็นเพราะในปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรปส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวดีขึ้น (ยกเว้นกรีซ) ไม่ว่าจะมองจากภาคการผลิต ภาคการส่งออก อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคต่าง ๆ ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวด ทำให้ประเทศที่ทำมาตรการดังกล่าวเริ่มปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนั้น การที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ก็ช่วยลดความเสี่ยงต่อวิกฤตการณ์การเงินในยุโรปเช่นกัน

สาเหตุอีกประการได้แก่ กระแสการเมืองแบบขวาจัดในยุโรปเริ่มแผ่วลง ไม่ว่าจะวัดจากผลการเลือกตั้งในออสเตรียและในเนเธอร์แลนด์ ที่พรรคการเมืองแบบขวาจัดพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งผู้เขียนมองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่ชาวยุโรปเห็นตัวอย่างจากในอังกฤษและสหรัฐ หลังจากประชามติ Brexit และการเลือกประธานาธิบดีทรัมพ์นำมาซึ่งความผันผวนและไม่แน่นอนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้เขียนจะเชื่อว่าสหภาพยุโรปจะยังอยู่รอดใน 3 ปีข้างหน้า แต่ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่มาก โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ความเสี่ยงจากการเจรจาBrexit ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป โดยหากการเจรจาผ่อนคลายเกินไป เช่น ได้รับประโยชน์จากเขตการค้าเสรี แต่ไม่ต้องรับโควต้าผู้อพยพจากยุโรปแล้ว อาจทำให้ประเทศอื่น ๆ อยากออกจากสหภาพยุโรปตามที่อังกฤษทำ

แต่ถ้าข้อตกลงเข้มงวดเกินไป หรือไม่สามารถตกลงกันได้ จะทำให้อังกฤษต้องหันกลับไปใช้กฎขององค์กรการค้าโลก (WTO) ทันที ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนทั้งในยุโรปและอังกฤษ (ที่ในปัจจุบันมีการเชื่อมโยงด้านการผลิตระหว่างกันมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่อังกฤษมีความถนัด) มีภาระทางภาษีเพิ่มขึ้น และเป็นผลลบทั้งกับอังกฤษและยุโรป

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องจับตาในอนาคตอันใกล้หลังจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศออกจากสหภาพยุโรปคือค่าเสียหายที่ยุโรปเรียกจากอังกฤษว่าอังกฤษยอมที่จะจ่ายหรือไม่ โดยบางกระแสข่าวกล่าวว่าสูงถึงกว่า 6 หมื่นล้านยูโร

ความเสี่ยงที่สอง ได้แก่ นโยบายการเงินของ ECB ที่เคยผ่อนคลายจะต้องเข้มงวดขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น ซึ่งหาก ECB ยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง อาจกระทบต่อค่าเงินยูโรและผลตอบแทนพันธบัตรในยุโรป แต่ในขณะเดียวกัน นโยบายการเงินยุโรปที่จะเริ่มตึงตัวขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนทางการเงินในยุโรปเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ความเสี่ยงที่สาม ได้แก่ ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งจากท่าทีของรัสเซียที่ก้าวร้าวขึ้น ทั้งจากท่าทีของสหรัฐภายใต้ทรัมพ์ที่เย็นชาต่อยุโรป และการลดทอนความสำคัญของนาโต้ในฐานะองค์กรสำคัญด้านความมั่นคง รวมถึงความเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งโอกาสที่พรรคการเมืองขวาจัดในยุโรปได้รับการเลือกตั้ง (โดยเฉพาะในฝรั่งเศส) และความเสี่ยงการเมืองในกลุ่มประเทศยุโรปใต้โดยเฉพาะในกรีซและในตุรกีกระแสชาตินิยมและเป็นปฏิปักษ์ต่อยุโรปรุนแรงขึ้น ความเสี่ยงเหล่านี้มีผลต่อการอยู่รอดของยุโรปทั้งสิ้น

แม้สหภาพยุโรปน่าจะอยู่รอดในสามปีข้างหน้า แต่ความเสี่ยงก็มีสูงมาก นักธุรกิจและนักลงทุนที่ต้องทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับยุโรป จงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด

...........................................................................................

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่