คน ความรู้ เครือข่าย ขยายผล

คน ความรู้ เครือข่าย ขยายผล

คำตอบของความสำเร็จจึงอยู่ที่ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของผู้บริหารระดับสูง อย่าปล่อยให้ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ทำงานมาทั้งในฐานะพนักงาน ผู้บริหาร วิทยากรให้ความรู้ และที่ปรึกษาให้กับองค์กรในหลากหลายประเภทธุรกิจ ทั้งที่อยู่ในภาคการผลิตและภาคบริการ ทุกครั้งในการที่เข้าไปช่วยวิเคราะห์ข้อมูล สำรวจสภาพการทำงาน และสัมภาษณ์ผู้บริหาร เพื่อให้ได้มาซึ่งทิศทางและความต้องการที่แท้จริง

ในการที่จะนำพาองค์กรให้สามารถฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค ก้าวข้ามวิกฤตทางเศรษฐกิจ สิ่งที่ทุกองค์กรควรเตรียมตัวเป็นลำดับขั้นดังนี้ (1) การมีกำลังคนที่เหมาะสมกับขนาดขององค์กร (2)การยกระดับทักษะความสามารถของคน เพื่อที่คนจะนำความรู้นั้นไปเพิ่มความสามารถขององค์กร (3)การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจ โดยเฉพาะที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง และ (4)ความพร้อมด้านเงินทุนในการขยายงานในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโต

ปัจจุบันรัฐบาลพยายามที่จะบูรณาการที่เกี่ยวเนื่องกับการขออนุญาตในลักษณะที่เป็น One Stop Services ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่โครงการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ยังกระจัดกระจายกันอยู่แต่สามารถนำมาปรับปรุงให้การดำเนินการเกิดผลสำเร็จที่ดีมากขึ้น ซึ่งบางประเด็นก็เกี่ยวข้องกับภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดมาตรการความช่วยเหลือ บางประเด็นก็เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการและผู้บริหารจากองค์กรต่างๆที่เข้าร่วมโครงการ จึงอยากจะประมวลและสะท้อนให้เห็นเป็นภาพในเชิงระบบ โดยขอหยิบยกแนวทางและวิธีการที่ดี (Best practices) จากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของเราเองคือสิงคโปร์ ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จจนมีอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับชั้นนำของโลก มีอยู่ 2 ส่วนคือ

ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือองค์กรภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEsแม้ว่าจะอยู่ต่างกระทรวง ต่างกรม แต่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเป็นระบบ โดยบูรณาการไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนแต่เติมเต็มซึ่งกันและกัน ที่สำคัญมีการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลทั่วถึงผ่านช่องทางและวิธีการหลากหลาย

ความมุ่งมั่นจริงจังขององค์กรภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการและผู้บริหารระดับสูง เข้าร่วมประชุม รับรู้ รับทราบ และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ปล่อยให้พนักงานทำโดยลำพัง ทำให้หัวหน้างานและพนักงานมีขวัญและกำลังใจ เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใหญ่เอาจริงไม่ทำแบบทิ้งๆขว้างๆ

การเข้าร่วมโครงการความช่วยเหลือต่างๆจากภาครัฐ ไม่ว่าจะอยู่ในแผนงานและยุทธศาสตร์ใดก็ตาม อย่าเห็นเป็นของฟรีของให้เปล่าหรือเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย แต่อยากให้องค์กรนั้นๆได้สำรวจตรวจสอบเป็นลำดับแรก (Starting point) เพื่อจะได้รู้สถานะและความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง และให้แน่ใจว่าโครงการต่างๆที่จะเข้าร่วมนั้น จะตอบโจทย์ความต้องการที่องค์กรกำลังจะไปจริงๆ ไม่ว่าจะเพื่อความอยู่รอด (Survive) สำหรับองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจและอยากมีระบบการทำงานที่ดี เพื่อการเติบโต (Growth) มีความสามารถในการทำกำไรและขยายตลาดในประเทศได้ เพื่อการส่งออก (Go Inter) ไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคต่างๆ และเพื่อความยั่งยืน (Sustain) ดำรงธุรกิจอยู่ได้ในระยะยาวโดยไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

เมื่อรู้สถานะของตนเองแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการกำหนดเป้าหมาย (Set Goals) อาทิ เพิ่มรายได้ (Increase revenue) ลดต้นทุน (Reduce cost) แสวงหาโอกาสใหม่ๆในทางธุรกิจ (Business opportunity) หรือการสร้างความยั่งยืน (Sustainable development) ซึ่งมีโครงการมากมายในหลายหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นการวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การให้คำปรึกษาด้านปรับปรุงระบบและกระบวนการอุตสาหกรรม การพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถ การส่งเสริมนวัตกรรมและการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี จนถึงการเข้าร่วมแสดงผลงานและขยายตลาดในต่างประเทศ

สรุปเป็นแนวทางการพัฒนา (Identify approaches) ที่ขึ้นกับพื้นฐานและเป้าหมายที่ต้องการ ดังนี้

การขยายตลาด (Grow market)

การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovate products and services)

การยกระดับและปรับปรุงกระบวนการ (Enhance process)

การพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากร (Develop Haman Capital)

จากแนวทางการพัฒนาดังกล่าว นำไปสู่หลายโครงการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กร ประกอบด้วย

กลยุทธ์และการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ (Business strategy innovation)

กลยุทธ์ทางการตลาดและการสร้างแบรนด์ (Brand & Marketing strategy)

การวิจัยพัฒนาเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ (Technology innovation)

ทรัพย์สินทางปัญญาและการสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ (Intellectual Property and Commercialization)

การจัดการทางการเงินและการลงทุน (Financial management and Investment)

การปรับปรุงผลิตภาพ (Productivity improvement)

การพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Human Capital Development)

จะเห็นว่าแนวทางและวิธีการในโครงการต่างๆดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นจากความตระหนักและเห็นความสำคัญเพื่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันผวนและการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ถ้าผู้นำองค์กรไม่สามารถโน้มน้าวและสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นภายในองค์กรได้ การจะเรียกร้องหรือขอรับความช่วยเหลือจากองค์กรรัฐ ย่อมเป็นความสูญเปล่าและไร้ประโยชน์ ต่อให้เกิดผลลัพธ์จากการพัฒนาก็อาจจะไม่สามารถรักษาให้คงอยู่และต่อยอดให้ก้าวไกลขึ้นได้

มาตรการภาครัฐที่เกิดขึ้นมีมากมายหลายอย่าง แม้ว่าอาจจะกระจัดกระจายไปตามหน่วยงานที่รับผิดชอบบ้างก็ตาม แต่ถ้าผู้บริหารและผู้ประกอบการจะขวนขวายเข้าร่วมงานสัมมนาและหาความรู้จากช่องทางออนไลน์ต่างๆที่มี ก็สามารถจะไขว้คว้าหรือเข้าร่วมได้ไม่ยาก หน่วยงานของรัฐต่างๆเหล่านั้นล้วนแต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ขอให้องค์กรต่างๆเอาจริงเอาจังทำอย่างต่อเนื่องเท่านั้น คำตอบของความสำเร็จจึงอยู่ที่ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของผู้บริหารระดับสูง (Top management commitment) อย่าปล่อยให้ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชามารับหน้า ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญโดยลำพัง เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถจะตัดสินใจในประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่อาจต้องใช้งบประมาณหรือกำลังคนเพิ่มเติม