SET index ยังเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ

SET index ยังเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ

SET index ยังเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ

“SET index ดัชนีตลาดหุ้นไทยเดือนที่ผ่านมาปรับตัว Sideway ออกข้างเป็นส่วนใหญ่ด้วยปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยค่อนข้างน้อยลง โดยมีจุดต่ำสุดที่ 1,528 จุด และ จุดสูงสุดที่ประมาณ 1,570 จุดในช่วงท้ายของเดือน หลังตลาดรับรู้เกี่ยวกับการที่ FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดไว้เป็นครั้งแรกของปี ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังฟื้นตัวต่อเนื่องตามแผนเศรษฐกิจของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์

อย่างไรก็ตาม เรายังกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเชิงโครงสร้างของต่างประเทศทั้งทางฝั่งสหรัฐและยุโรป เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดความล่าช้าของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐที่อาจจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน รวมถึงทางฝั่งยุโรปยังคงมีประเด็นอย่าง BREXIT ที่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งและการเลือกตั้งในหลายประเทศที่น่าติดตามซึ่งส่งผลเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอียูในช่วงต้นปี 2560 นี้ ประกอบกับด้านคอมโมดิตี้อย่างน้ำมันดิบที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวพักฐานในรอบ 4 เดือนเป็นต้น”

FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในปี 2560

ที่ประชุม FOMC ล่าสุดวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมามีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% มาอยู่ที่ 0.75%-1.00% ด้วยมติด้วยคะแนนเสียง 8-1โดย FED ยังมั่นใจว่าจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้แบบต่อเนื่อง (เป้าหมายยังคงอยู่ที่ 3 ครั้งในปีนี้) เนื่องจากยังเห็นว่าเศรษฐกิจในภาพรวมฟื้นตัวได้ดี เหตุผลหลักยังคงเป็นเรื่องของ ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการขยายตัวปานกลาง การจ้างงานที่ดีขึ้นต่อเนื่องและอัตราว่างงานมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เสริมด้วยเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาเข้าใกล้เป้าหมายระยะยาวของคณะกรรมการ FOMC ซึ่งกำหนดไว้ที่ระดับ 2% นั้นเอง

ถึงแม้ว่า FED จะมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ FED เองยังคงจับตามองความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและนโยบายเชิงเศรษฐกิจของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์อย่างใกล้ชิด และยังคงเป้าหมายการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน

ราคาน้ำมันดิบ WTI สหรัฐ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในระยะสั้นในกรอบ 47-48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ประมาณ 57 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรลในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้เรายังคงเห็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันที่สูงขึ้นในสหรัฐ หลังสต็อกน้ำมันดิบและจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนมี.ค. ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ได้เปิดเผยล่าสุดว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 5 ล้านบาร์เรลสูงกว่าที่คาดในสัปดาห์ที่แล้ว

เรามองว่าราคาน้ำมันที่พักฐานลงระยะสั้นนี้จะเป็นแรงกดดันด้านลบต่อหุ้นในกลุ่มพลังงานและกลุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องติดตามการประชุมของกลุ่มประเทศโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกในวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายนที่ประเทศคูเวต ซึ่งจะมีการประเมินการให้ความร่วมมือของประเทศต่างๆในการลดกำลังการผลิตน้ำมันต่อไป หลังการประชุมของกลุ่มประเทศโอเปกในกลางเดือนธ.ค. ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกได้ตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตลง 558,000 บาร์เรล/วัน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2017 และมีกำหนดเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในกลางปีนี้

ความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศและแนวโน้ม SET index

เรายังคงมองว่าตลาดหุ้นไทย SET index ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความล่าช้าของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างและยังมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในส่วนของร่างกฎหมาย “อเมริกันเฮลธ์แคร์” แทนที่ “โอบามาแคร์” ที่เป็นประเด็นขณะนี้อาจจะส่งผลให้นโยบายอื่นๆล่าช้าไปด้วย ขณะที่การเลือกตั้งในยุโรปอย่างเช่นประเทศปธน.ฝรั่งเศสที่กำลังมีการเลือกตั้งปัจจุบันยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม รวมถึงทางด้านอังกฤษที่เริ่มกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) หลังมีการประเมินว่าภาครัฐอาจจะต้องใช้งบประมาณที่สูงกว่าคาดในกระบวนการดังกล่าวและเหตุการณ์ก่อการร้ายในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง

ทั้งนี้ทางด้านปัจจัยในบ้านเรายังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาหนุน ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ตลาดมีแนวโน้มที่จะหันมาสนใจกลุ่มที่เป็นหุ้นกลุ่ม Defensive, กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากโครงการภาครัฐในประเทศและกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่พักฐานลงมากขึ้นเป็นหลัก ทำให้เรามองว่า ระยะสั้นกรอบ SET index คาดว่าน่าจะอยู่ที่แนวต้านหลัก 1,585 จุด และ 1,600 จุด และแนวรับที่ 1,560 จุดและแนวรับหลัก 1,555 จุดตามลำดับ

การที่ SET index หลุดเทรนด์ไลน์ที่สามารถรับมาได้อย่างต่อเนื่องเป็นสัญญาณลบในระยะกลางและมีแนวโน้มเข้าสู่การ Sideway Down นั้นเอง