วางแผนท่องเที่ยว วางแผนเกษียณ

วางแผนท่องเที่ยว วางแผนเกษียณ

วางแผนท่องเที่ยว วางแผนเกษียณ

ในเวทีสัมมนา งาน SET in the City ที่เพิ่งจัดไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ดิฉันมีโอกาสได้ไปเป็นวิทยากร ในหัวข้อ “จัดทัพรับเกษียณ” และดิฉันได้เปรียบเทียบการวางแผนเกษียณ กับการวางแผนท่องเที่ยว (ไหนๆ ก็ถูกตั้งสมญาเป็นนักท่องเที่ยวอาชีพอีกสมญาหนึ่งแล้ว)

ดิฉันบรรยายและเขียนเรื่องเกษียณอยู่บ่อยๆ จนกลัวว่าผู้อ่านจะเบื่อ แต่ก็มีประเด็นใหม่เพิ่มขึ้นมาให้สะกิดใจเรื่อยๆ ค่ะ อย่าเพิ่งเบื่อเลยนะคะ

ประเด็นสะกิดใจในวันนี้คือ ทำไมคนเราไม่คิดเรื่องการวางแผนเพื่อเกษียณแต่เนิ่นๆ ทำไมส่วนใหญ่เริ่มคิดในวัย 50 ปีขึ้นไป

แต่เดิมก็บอกว่าเป็นเพราะเราเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ เป็นประเทศเกษตรกรรม เดินออกไปก็สามารถเด็ดผักจากถนนข้างทาง หรือจับปลาในลำคลองมาทำเป็นอาหารได้ ไม่เหมือนประชาชนในประเทศที่มีอากาศหนาว ซึ่งต้องเตรียมกักตุนอาหารไว้รับฤดูหนาวที่ไม่สามารถหาอาหารได้อย่างง่ายดาย

แต่ดิฉันมาสะกิดใจที่คนจำนวนมาก มีการวางแผนเตรียมการเป็นอย่างดี เวลาเตรียมตัวจะไปเที่ยว บางครั้งใช่เวลาวางแผนหลายสัปดาห์ และเริ่มวางแผนล่วงหน้าเป็นปีด้วยซ้ำไป สำหรับการจะไปเที่ยวเพียง 5 วัน 7 วัน ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง จะกินอาหารอะไรในมื้อไหน เตรียมแผนที่ เตรียมเงินค่าบัตร เตรียมดูเวลาเปิด-ปิด ของสถานที่ที่จะไปเที่ยวชม ฯลฯ

จึงคิดว่า ไม่ใช่เพราะเราไม่ชอบการวางแผนล่วงหน้า แต่เป็นเพราะเราไม่เห็นความสำคัญมากกว่า จะไปเที่ยวไม่กี่วัน ยังเตรียมตัวล่วงหน้าตั้งหลายเดือน แต่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณอีก 20-40 ปี ไม่ยอมจัดเวลามาวางแผน ในสัปดาห์นี้จึงอยากกระตุ้นให้ท่านทบทวนว่าท่านได้วางแผนการเกษียณโดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ ครบถ้วนแล้วหรือยัง

เริ่มจากลองถามตัวท่านเองดูว่า อยากจะใช้ชีวิตอย่างไรในช่วงเวลาต่างๆ เช่นสิบปีแรกขอเน้นการท่องเที่ยว สิบปีที่สองขอเน้นสุขภาพ และหลังจากนั้นขอเน้นความสงบ ธรรมะ และธรรมชาติ เป็นต้น

เมื่อท่านวาดภาพออกว่าท่านจะใช้ชีวิตอย่างไร ท่านก็จะทราบว่าท่านจะต้องเตรียมการอย่างไร เตรียมเงินเท่าไร เตรียมที่อยู่อาศัยแบบไหน เตรียมประกันชีวิตและสุขภาพแบบไหน และเตรียมให้ใครดูแล

ไม่ว่าท่านจะต้องการใช้ชีวิตอย่างประหยัดเพียงไร เงินที่ต้องเตรียม อย่างน้อยก็ต้องเป็นหลักล้าน เวลาเตรียมเงิน ต้องอย่าลืมเผื่อเรื่องเงินเฟ้อด้วยนะคะ เราอยู่ในโลกที่อัตราเงินเฟ้อต่ำมานานจนบางคนเริ่มจะลืมไปแล้วว่าเงินเฟ้อยังมีอยู่ และในปีนี้ปีหน้าอาจเร่งตัวสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา เงินเฟ้อในกลุ่มอาหารการกินยังขึ้นไม่มากเท่าไร ที่ดิฉันห่วงคือเงินเฟ้อในกลุ่มค่ารักษาพยาบาลค่ะ รู้สึกจะเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น

ต้องพร้อมที่จะเก็บออมและลงทุนเพิ่ม หรือ ปรับแนวการใช้ชีวิตลงมา หากพบว่าเงินที่เตรียมไว้ไม่พอ เรื่องนี้สำคัญ และหากเราวางแผนตั้งแต่ต้น เราจะทราบได้ก่อนเลยค่ะ ว่าที่วางแผนจะออมและลงทุนนั้น พอหรือไม่พอ แทนที่จะไปรู้เอาเมื่อถึงเวลาอายุ 70-80 ปี

หากมีความมั่งคั่งเหลือที่จะส่งต่อให้ลูกหลาน ท่านก็ต้องถามตัวเองต่อว่า จะจัดการอย่างไร ให้ใครจัดการ จะจัดการทยอยส่งต่อในช่วงชีวิตของเรา หรือจะจัดการให้มีการส่งต่อหลังจากเราจากไป และถ้าเผอิญจัดการทยอยให้ไปแล้ว แต่เราเกิดมีอายุยืนยาวเกินกว่าที่คาดไว้ จะจัดการอย่างไร

การตั้งคำถามถามตัวเองอย่างนี้ จะทำให้ท่านตระหนักว่า ท่านยังมีอะไรต้องวางแผน ต้องเตรียมการ และต้องดำเนินการอีกมาก และกระตุ้นให้ท่านอยากวางแผนให้ดี ชีวิตในช่วงหลังเกษียณจะได้ราบรื่น มีความสุข เหมือนกับที่ท่านวางแผนไปท่องเที่ยว เพื่อให้ราบรื่นและสนุก อย่างไรอย่างนั้นเลยค่ะ

วันนี้ขอสรุปด้วยข้อคิดว่าท่องเที่ยวเดินทางยังต้องมีแผนที่ ดูแลชีวีต้องมีการวางแผน

ขอให้ท่านเริ่มวางแผนเกษียณ หรือท่านที่วางแล้วก็ขอให้ทบทวนแผนให้ดีและเหมาะสมกับสถานการณ์และเหมาะสมกับความชอบหรือความต้องการของท่านที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยค่ะ