วิกฤต 'กบต้ม'... รู้อีกทีก็สายเสียแล้ว!

วิกฤต 'กบต้ม'...  รู้อีกทีก็สายเสียแล้ว!

ในวงเสวนาว่าด้วยเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆ นี้ภายใต้หัวข้อ เศรษฐกิจไทย 2560 : Somtum Crisis?

 มีคำเตือนจากนักวิชาการที่น่าสนใจว่า หากไทยจะเกิดวิกฤตก็คงไม่ใช่ วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ วิกฤตส้มตำ อย่างที่ตั้งหัวข้อ

แต่อาจจะเป็น วิกฤตกบต้ม

คำเปรียบเปรยนี้มาจาก ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผอ.ศูนย์ให้คำปรึษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มธ. ที่กล่าวถึงสถานการณ์ในต่างประเทศที่อาจจะกระทบต่อไทยว่า

ปัจจัยแรกคือ นโยบายของประธานาธิบดีของโดนัล ทรัมป์ ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งหวังให้เกิดการลงทุนและจ้างงานในสหรัฐอเมริกา โดยการพึ่งตนเองผ่านการกระตุ้นด้วยเครื่องมือเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจ การปรับอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารของสหรัฐ เพื่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิตขึ้นภายในประเทศ แต่เอาเข้าจริง ๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ อย่างเช่นบริษัท แอปเปิ้ล มีฐานการผลิตที่ประเทศจีนจะย้ายฐานการผลิตมาผลิตที่สหรัฐ ส่วนตัวคงไม่ใช่เรื่องในเร็ววันนี้

“มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าและเน้นการเจรจาข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี เพื่อรักษาอำนาจต่อรองทางการค้า ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อมูลค่าการส่งออกของไทยที่ลดลงตามมา เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งไปเป็นวัตถุดิบแก่จีนจะได้รับผลกระทบเป็นโดมิโน โดยปัจจุบันประเทศไทยส่งสินค้าไปเป็นสินค้าวัตถุดิบในประเทศจีนกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท สินค้าจำพวก ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ไม้ เคมีภัณฑ์ ยางพารา และอาหารแปรรูป เป็นต้น” ดร.สุทธิกร กล่าว

และเสริมว่าเนื่องจากปัจจุบันประเทศจีนกำลังเข้าสู่รอบการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อเลือกตำแหน่งสำคัญทางการเมืองใหม่ในไม่ช้า ซึ่งผู้นำประเทศจีนเองคงต้องการรักษาและขยายฐานอำนาจทางการเมืองเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศในยุคประธานาธิบดีสีจิ้นผิงสำหรับ 5 ปีข้างหน้า จีนคงไม่ต้องการที่จะใช้มาตรการตอบโต้รุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนและกลับมาเป็นปัญหาเชิงลบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในโลก

ดร.สุทธิกร บอกว่าต้องจับตาว่าในเดือนเม.ย. ที่สหรัฐ จะไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ในการหารือกับประธานาธิบดีสิจิ้นผิงว่าผลจะออกมาอย่างไร สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยจะต้องเน้นกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการค้าการลงทุนกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ไปสู่การค้าในกลุ่มประเทศขนาดเล็ก เช่น เวียดนาม ลาว อินเดีย

ประเทศเหล่านี้จะเป็นเครื่องยนต์หลักเครื่องใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลักษณะโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ตอนนี้กำลังเกิดวิกฤต ต้องมานั่งคิดว่าจะปรับตัวอย่างไรให้ทันกับการเปลี่ยนในเชิงนวัตกรรม การผลิต ที่ใช้บุคคลากรน้อยลง ถ้าใช้ระบบอัตโนมัติจะทำให้คนตกงานทั้งโลก การที่จะมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงานคน การศึกษาพร้อมหรือยัง ในการที่จะพัฒนาศักยภาพของแรงงานให้มีทางเลือกมากยิ่งขึ้นที่จะสามารถทดแทนงานที่สูญเสียไปได้หรือไม่”

ดร.สุทธิกร บอกว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ไม่มีสัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจส้มตำ แต่เศรษฐกิจไทยขณะนี้เหมือน วิกฤตต้มกบ

เหมือนกบอยู่ในน้ำกำลังต้ม แต่กบปรับอุณหภูมิตัวเองช้าๆ ตามน้ำ ซึ่งไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังจะตาย จนน้ำเดือดกบตัวนั้นก็จะตาย

ทำนองเดียวกับเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจเติบโตช้าลง หลายอุตสาหกรรมปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ อย่างฮาร์ดดิสก์ และรถยนต์ จะถูกรถยนต์ไฟฟ้ามาแทนที่

หากไม่ปรับตัว ไทยก็ไม่สามารถแข่งขันได้และตายในที่สุดเหมือน “กบต้ม”

เป็นคำเตือนที่เห็นภาพชัดเจน เพราะ ทฤษฎีกบต้ม หรือ The Boiling Frog Theory นั้นถูกนำมาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของคนหรือองค์กรที่ไม่ปรับตัวเอง อยู่ใน comfort zoneเดิม ๆ ของตนเพราะน้ำอุ่น ๆ สบายดีโดยไม่ตระหนักว่าอุณหภูมิของน้ำนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดเดือด

พอถึงจุดเดือดก็ช้าเกินไปเสียแล้วที่กบจะกระโดดหนีได้ทัน ต้องตายด้วยน้ำเดือดเพราะตั้งต้วไม่ทันเมื่อสถานการณ์เข้าสู่วิกฤต หรือ the frog being boiled alive.

คนไทยทั้งในภาพขององค์กรและในมิติส่วนบุคคลที่ไม่ยอมปรับเพราะต่อต้านความเปลี่ยนแปลง ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการต้องปรับตัวอย่างรุนแรงเพราะพลังของ “การป่วน” หรือ disruption อันเกิดจากเทคโนโลยีนั้นรุนแรงหนักหน่วงยิ่งกว่า สึนามิ ที่พัดพาทุกอย่างสลายหายไปต่อหน้าต่อตาได้

ไม่ยกเว้นแม้แต่คุณภาพของคนในแวดวงการเมืองที่ยังปฏิเสธที่จะปรับจะเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิธีคิดและวิถีชีวิตของคนในยุคดิจิตัลวันนี้ !