ยังมีงานอีกมาก

ยังมีงานอีกมาก

ในที่สุดรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันร่างกฎหมาย

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2561  และจะมีผลให้มีการประเมินภาษีที่ประชาชนต้องชำระในปี  2562  การผลักดันกฎหมายนี้ออกมาต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของการคลังของไทย และหากพิจารณาในรายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับนี้ แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากคราวที่ยกร่างครั้งแรกเมื่อราว  20 ปีก่อน เพียงแต่มีรายละเอียดบางประเด็นที่มีการปรับแก้ไขเท่านั้น

สาเหตุของความล่าช้าของกฎหมายปฏิรูปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือ เรียกกันติดปากว่าภาษีทรัพย์สิน คงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงมากนัก เพราะการเมืองในอดีตมีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อประชาชน และที่สำคัญเกรงว่าจะกระทบต่อความนิยมทางการเมืองของรัฐบาล อีกทั้งภาษีลักษณะนี้เป็นเรื่องง่ายมากที่จะถูกหยิบนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากในการนำกฎหมายลักษณะนี้มาใช้ ทั้งๆที่ในแง่ของเหตุผลแล้วไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินเชิงนโยบาย

ความสำคัญของภาษีทรัพย์สินต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น ไม่เป็นที่สงสัยว่ามีประโยชน์เพียงไร เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ยังส่งผลทางอ้อมให้เกิดการกระจายอำนาจทางการเงินการคลังสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศ เนื่องจากจะทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่แล้ว ยังทำให้เกิดการตรวจสอบผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น ซึ่งเราเชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านตามมาจากมาตรการทางภาษีครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม หากศึกษากรณีตัวอย่างจากหลายประเทศที่มีภาษีลักษณะนี้บังคับใช้ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วส่วนมากมีกฎหมายใช้กันมานานและมีความเข้มข้นกว่าของไทยมาก  ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมในเรื่องการถือครองทรัพย์สิน จากตัวอย่างหลายประเทศจะเห็นว่ากฎหมายเองไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำได้ และยิ่งหากดูตัวอย่างจากหลายประเทศที่มีการบังคับใช้มานานนับร้อยปีก็ยังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง

จากตัวอย่างของหลายประเทศชี้ให้เห็นว่าลำพังของกฎหมายเป็นเพียงกลไกเบื้องเท่านั้นในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะถึงที่สุดแล้วระบบเศรษฐกิจก็ยังมีช่องทางให้มีการหลีกเลี่ยงในรูปแบบอื่นอีกมาก ซึ่งจากช่องทางต่างๆนี้เอง ทำให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการทางภาษีทรัพย์สินไม่ค่อยจะได้ผลเท่าใดนัก แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการแก้ปัญหา ซึ่งอย่างน้อยก็ได้สร้างความกังวลหรือต้นทุนทางภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการถือครองทรัพย์สินในลักษณะเก็งกำไร

หากเราต้องการจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาจจำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆอีกมาก และต้องตระหนักว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากอย่างมากและมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งในบางกรณีความเหลื่อมล้ำเกี่ยวพันกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองในระดับที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจต่างชาติผ่านมาตรการสนับสนุนภาครัฐ เป็นต้น รวมทั้งเรื่องอื่นๆอีกมากที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ดังนั้น การแก้ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เช่นเดียวกับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง หากกล่าวกันอย่างถึงที่สุดแล้วเป็นเรื่องที่ต้องทำกันโดยตลอดทุกยุคทุกรัฐบาล เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำแยกไม่ออกกับการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่สำคัญความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่พูดกันแล้วเข้าใจยากถึงเหตุผลและความจำเป็นให้คนยอมรับ แต่ก็เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไข หากเรายังเห็นไปในทางเดียวกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้ว่าถึงที่สุดแล้วความเหลื่อมล้ำคือปัญหาความมั่นคงของชาติ