'เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว แต่ต้องระวัง'

'เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว แต่ต้องระวัง'

ไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจโลกดูดีขึ้น การฟื้นตัวเริ่มเข้มแข็งขึ้นในหลายประเทศ ถือเป็นข่าวดี

 แต่ตัวเลขที่ดีขึ้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางไกล ของเศรษฐกิจโลก กลับสู่ระดับการขยายตัวที่เป็นปรกติ และที่ต้องตระหนักก็คือ ยังมีปัจจัยความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอีกมากที่อาจกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป เป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องตระหนักและต้องระวัง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ความรู้สึกว่าเศรษฐกิจโลกได้ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ออกมา ที่ตัวเลขดูดีขึ้นพร้อมๆกันในหลายประเทศ เช่น อเมริกา ยุโรป และเอเซีย อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสี่ของประเทศอุตสาหกรรมหลัก คือ สหรัฐ (1.9%) ญี่ปุ่น (1.6%) อังกฤษ (2.0%) กลุ่มยูโรโซน (1.7%) และจีน (6.8%) ล้วนดูเข้มแข็งขึ้นตามตัวเลขที่ปรากฏในวงเล็บ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเซียและละตินอเมริกาก็ขยายตัวดีขึ้นในไตรมาสสี่ปีที่แล้ว จะยกเว้นก็เฉพาะประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจ เช่น เวเนซูเอลา บราซิล รวมถึง กรีซในยุโรป การฟื้นตัวที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันหลายส่วนในเศรษฐกิจโลกถือเป็นข่าวดี เพราะเป็นลักษณะของการฟื้นตัวที่แผ่กระจาย ที่สำคัญ ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจ ตัวเลขการส่งออก และอัตราเงินเฟ้อ ต่างชี้ว่า การฟื้นตัวกำลังเกิดขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมใน จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ และกลุ่มยูโรโซน ขยายตัวต่อเนื่องเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งในประเทศอุตสาหกรรม และประเทศตลาดเกิดใหม่ก็เพิ่มสูงขึ้นช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็ปรับสูงขึ้น ร้อยละ 10.6 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งหมดชี้ว่าโมเม็นตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังมีต่อเนื่อง

ต่อคำถามว่า ทำไมเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น ทั้งๆที่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรก ความห่วงใยเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่มาก จากกรณีความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจีนเมื่อตอนต้นปีและกรณี Brexit ที่อังกฤษช่วงกลางปีที่ท้าทายการคงอยู่ของกลุ่มเศรษฐกิจยูโรโซน ต่อคำถามว่าทำไมเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ผมคิดว่า คงเป็นผลจากหลายปัจจัย

หนึ่ง เป็นเรื่องวัฏจักรเศรษฐกิจ ที่เศรษฐกิจโลกได้ชะลอตัวลงมากหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 และการชะลอตัวนี้ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องนานกว่าเจ็ดปี ทำให้การลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนได้ปรับลดลงมาก จากปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูงก่อนวิกฤติ แต่เจ็ดปีที่ผ่านมา เราได้เห็นเศรษฐกิจโลกปรับตัวโดยเข้าสู่กระบวนการลดหนี้ ลดการใช้จ่าย จนขณะนี้ถึงจุดที่เศรษฐกิจโลกอาจพร้อมที่จะกลับมาใช้จ่ายอีกครั้ง นำมาสู่การสะสมสต็อกหรือสินค้าคงคลังของผู้ขาย การขยายการผลิตของผู้ผลิต และการเริ่มสั่งสินค้าข้ามประเทศเพื่อเตรียมขายของผู้นำเข้า เหล่านี้คือสัญญาณการเริ่มวัฏจักรขาขึ้นของการใช้จ่ายในเศรษฐกิจโลก สะท้อนได้จากตัวเลขที่ดีขึ้นทั้งการสะสมสต็อกของบริษัทเอกชน การส่งออก และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เป็นการฟื้นตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือ cyclical recovery ที่เศรษฐกิจได้ผ่านขาลงและกำลังปรับตัวเป็นขาขึ้น

สอง ความมั่นใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกของผู้บริโภคและนักลงทุน ได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเดิมจากปัญหาและความไม่แน่นอนต่างๆที่ได้เริ่มคลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจจีนที่ปีที่แล้ว ที่นักลงทุนเคยห่วงว่าจะมีปัญหาด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจจากที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวรุนแรง แต่ล่าสุด ตัวเลขเศรษฐกิจชี้ว่า จีนสามารถบริหารภาวะเศรษฐกิจขาลงได้อย่างดี ปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.5 โดยไม่มีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ นอกจากนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากกรณี Brexit ต่อเศรษฐกิจอังกฤษและกลุ่มยูโรโซนก็ไม่ได้มีมากอย่างที่ห่วงกันในตอนแรก ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมพ์ ก็ได้ถูกลดทอนลงโดยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่มีทั้งการลงทุนภาครัฐ การลดภาษี และการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนปรับตัวดีขึ้น

สาม คือ แรงสนับสนุนที่ได้จากนโยบายการเงินสหรัฐ ที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องที่มีมากจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นเวลานาน ได้ช่วยทำให้การฟื้นตัวของการใช้จ่ายเกิดขึ้นได้ง่าย ทันทีที่ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น ข้อมูลล่าสุดในสหรัฐชี้ว่า การลงทุนภาคเอกชนในสหรัฐขณะนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น รวมถึง ตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าทุนในเศรษฐกิจโลกก็ขยายตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 ช่วงไตรมาสสี่ปีที่แล้ว ชี้ว่า โมเม็นตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังเริ่มเข้มแข็ง ความมั่นใจที่ได้จากข้อมูลเหล่านี้ คงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว เหมือนตอกย้ำความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น

แต่ภายใต้ข่าวดีเหล่านี้ ความไม่แน่นอนก็ยังมีอยู่อีกมาก ทำให้ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป จะต้องพึ่งอีกหลายปัจจัยที่ต้องเกิดขึ้น ที่สำคัญคือ การขยายตัวของสินเชื่อที่ต้องเพิ่มสูงขึ้น เพื่อนำไปสู่การขยายตัวของการใช้จ่ายของภาคเอกชน การจ้างงานก็ต้องเพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีรายได้มีอำนาจซื้อที่จะขยายการใช้จ่าย และการลงทุนของภาคธุรกิจก็ต้องเกิดขึ้นจริงจังเพื่อนำไปสู่การจ้างงาน นี่คือ สามเงื่อนไขที่ต้องมี เพื่อทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็ง เป็นเงื่อนไขที่ต้องเกิดขึ้น เป็นเงื่อนไขที่นักลงทุนต้องติดตาม

สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ จากการส่งออกที่จะขยายตัวได้มากขึ้น และการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศที่จะมีมากขึ้นตามมา อย่างไรก็ตาม ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเซีย ยังอาจเจอความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ จากที่เศรษฐกิจในเอเซียมีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐในระดับที่สูง ทั้งด้านการค้า การลงทุนทางตรง การไหลเข้าของเงินทุนระหว่างประเทศ การช่วยเหลือจากต่างประเทศ และเงินโอนจากผู้ทำงานในสหรัฐกลับประเทศ จากลักษณะการเชื่อมโยงเช่นนี้ ได้มีการวิเคราะห์ว่าประเทศอย่างไทย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการเชื่อมต่อหรือ exposure กับเศรษฐกิจสหรัฐมาก จะถูกกระทบมากตามไปด้วยกรณีที่นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐเกิดขึ้นจริง นี่คือ ความเสี่ยงที่อาจลดทอนโมเม็นตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ในเอเซีย เป็นเรื่องที่ต้องระวังและต้องพยายามหลีกเลี่ยง