รับมืออย่างไรกับ 'ฮาร์ท เบร็กซิท'

รับมืออย่างไรกับ 'ฮาร์ท เบร็กซิท'

วันพุธหน้านี้ (29มี.ค.) นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร(ยูเค) จะประกาศใช้มาตรา50 (Article50)

 ของสนธิสัญญาลิสบอน เพื่อเริ่มต้นกระบวนการเจรจาแยกตัว ออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (ยูเค) หรือ ที่เรียกกันว่า “เบร็กซิท”

ภายหลังการใช้ มาตร50 ทาง ยูเค จะมีเวลาอีก 2 ปี ก่อนสิ้นสุดการเป็นสมาชิกอียู หรือราวเดือนมี.ค. 2562 เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากทาง อียู ให้ขยายระยะเวลาออกไป ซึ่งกรณีนี้ตลาดการเงินมองว่า มีความเป็นไปได้น้อยมาก ..รัฐบาลยูเค ชี้แจงถึงสาเหตุ ที่ขอแยกตัวจากอียูว่า ยูเค จำเป็นต้องออกจากความเป็น “ตลาดเดียว”(Single market) เพราะต้องการควบคุมจำนวนผู้อพยพเข้ามาใน ยูเค ซึ่งขัดต่อหลักการของ อียู แต่การออกจากความเป็นตลาดเดียวในลักษณะนี้ แวดวงการเงินมองว่า เป็นการถอนตัวโดยสิ้นเชิง หรือ “ฮาร์ท เบร็กซิท”

สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจหลายแห่ง มองว่า การถอนตัวแบบ ฮาร์ท เบร็กซิท อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของ ยูเค เพราะ ยูเค พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศกับ อียู ในสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของการค้าระหว่างประเทศ  ที่สำคัญการออกจาก ตลาดเดียว ของ อียู จะทำให้ ยูเค ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่ากับสมาชิกของ อียู ได้รับ ซึ่งกระทบต่อข้อตกลงการค้าที่ ยูเค เคยทำกับประเทศอื่นๆ ในฐานะที่ยังเป็นสมาชิกของ อียู

ก่อนหน้าการลงประชามติเรื่อง “เบร็กซิท” เมื่อเดือนมิ.ย.ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินชั้นนำของโลก หลายต่อหลายแห่ง เตือนว่า หากผลประชามติออกมาว่า “ออก” พวกเขาจำเป็นต้องย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากกรุงลอนดอน ซึ่งนี่ไม่ใช่คำขู่ เพราะล่าสุด “โกลด์แมน แซคส์” วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของโลก จากสหรัฐ ตัดสินใจที่จะย้ายฐานธุรกิจจากกรุงลอนดอนไปในยุโรปแทน

ไม่เฉพาะภาคการเงินเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจอื่นอีกที่ต้องอาศัยความเป็นตลาดเดียวของอียูในการทำธุรกิจ ผลสำรวจของ “เอินส์แอนด์ยัง”(Ernst&Young) พบว่า บริษัทต่างชาติใน ยูเค กว่า 14% ตัดสินใจว่าจะย้ายฐานการทำงานบางส่วนหรือทั้งหมดออกจากยูเค

ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่ต้องคิดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ยูเค จะส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา มีการประเมินว่า หากเศรษฐกิจของ ยูเค เผชิญภาวะถดถอย เศรษฐกิจโลกก็สุ่มเสี่ยงที่จะกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ของธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า แม้ผลกระทบทางตรงที่มีต่อไทยจะไม่มาก แต่ความไม่แน่นอนของการเจรจา อาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินระยะสั้น ยิ่งถ้าความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคลดลงด้วย ก็ยิ่งส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจของ ยูเค หรือแม้แต่ อียู เผชิญกับภาวะถดถอย กรณีนี้ “อีไอซี” มองว่า จะกระทบเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ผ่านการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 12% ของการส่งออกทั้งหมด

เราเห็นว่าประเด็น “เบร็กซิท” ที่เริ่มร้อนแรง และกลับเข้ามาอยู่ในสายตาของนักลงทุนทั่วโลกอีกครั้ง ย่อมสร้างความปั่นป่วนในตลาดเงินอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจไทยไม่ควรประมาท ที่สำคัญเราอยากเห็นแผนการรับมือของภาครัฐที่มีต่อเรื่องนี้ว่า เป็นอย่างไร มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เพราะกรณี “ฮาร์ท เบร็กซิท” อาจย้อนกลับมาเขย่าเศรษฐกิจไทยอีกครั้งก็เป็นได้