ค้นหาหุ้นสำหรับ Short Sales อย่างไร (ภาค 2)

ค้นหาหุ้นสำหรับ Short Sales อย่างไร (ภาค 2)

นักลงทุนควรสำรวจเพิ่มเติมว่า หุ้นที่เราจะ Short นั้นโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ปล่อยมาร์จิ้นบ้างหรือไม่ วงเงินถูกใช้ไปสำหรับการซื้อหุ้นมากน้อยเพียงใด

สัปดาห์นี้เราจะพูดถึงกระบวนการค้นหาหุ้นสำหรับ Short sales กันต่อจากคราวก่อน ซึ่งเราได้เสนอแนวคิดไปบ้างแล้วว่าหุ้นลักษณะเช่นไรที่เหมาะกับการทำ Short ในฉบับก่อน หุ้นที่มีลักษณะตามนี้นั้น คือ หุ้นที่อยู่ในเป้าหมายน่าขาย Short โดยหากลักษณะหุ้นตัวนั้นเข้าข่าย 4 ข้อให้ 6 ข้อด้านล่าง มันคือ ใช่เลย โดยเราได้เสนอแนวคิดไปแล้ว 3 ข้อคือ

1.มูลค่าหุ้นซื้อขายแพงมากเมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่มเดียวกันไม่ว่าจะดูด้วยราคาเทียบกับกำไร (PER) มูลค่าบริษัทเทียบกับกระแสเงินสด (EV/EBITDA) ค่าพีอีเทียบกับอัตราเติบโตกำไร (PE/Growth) อัตราเงินปันผลคาดการณ์ต่ำกว่า 1% เป็นต้น 

2.หุ้นบริษัทที่ประกาศกำไรแย่กว่าคาดการณ์ต่อเนื่อง ยิ่งต่ำยิ่งดี 

3.ผู้บริหารสำคัญเริ่มลาออก นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆที่ต้องพิจารณาต่อ คือ 

4.นักลงทุนซื้อหุ้นบริษัทนี้ผ่านบัญชี margin ในสัดส่วนที่สูงผิดปกติเทียบกับบริษัททั่วไป 

นักลงทุนควรสำรวจเพิ่มเติมว่า หุ้นที่เราจะ Short นั้นโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ปล่อยมาร์จิ้นบ้างหรือไม่ วงเงินถูกใช้ไปสำหรับการซื้อหุ้นมากน้อยเพียงใด (หากนักลงทุนพอหาข้อมูลในโบรกเกอร์ใหญ่ 10 อันดับแรกได้ยิ่งดี) เหตุผลคือ การซื้อหุ้นผ่านมาร์จิ้นนั้น ผมมองว่าเป็นความต้องการลงทุนระยะสั้น หรือ ความต้องการเทียม ทว่าหากนักลงทุนในตลาดหุ้นใช้สินเชื่อมาร์จิ้นซื้อหุ้นหลายโบรกเกอร์จนเต็ม หรือ ใกล้เต็ม ก็ถือว่าดีเลยครับ เพราะนั่นหมายความว่า แรงซื้อหุ้นตัวนั้นเริ่มหมด ขณะที่แรงซื้อเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นแรงขาย ประดุลระเบิดไดนาไมต์ เลยทีเดียวหากมีปัจจัยลบไม่คาดฝันเกิดขึ้น ราคาหุ้นจะร่วงอย่างรวดเร็ว 

5.ราคาหุ้นในช่วง 1-3 เดือนสร้างผลตอบแทนแย่กว่ากลุ่ม หรือ ตลาดหุ้นโดยรวม 

การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเทียบกับกลุ่มธุรกิจเดียวกันเป็นอย่างไร ปกติผมไม่แนะนำให้ Short หุ้นที่ราคาหุ้นยังคงทำจุดสูงสุดใหม่ เนื่องจากแรงซื้อหุ้นตัวนั้นยังดีแม้ว่าราคาหุ้นจะปรับสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานที่เราประเมินมากเพียงใดก็ตาม เนื่องจากข้อมูลสำหรับการประเมินมูลค่าพื้นฐานของนักวิเคราะห์อาจน้อยกว่าคนที่สะสมหุ้น

ราคาหุ้นเป้าหมายสำหรับ Short ควรจะไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่แม้ว่าดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นจุดสูงสุดใหม่ หรือ หุ้นสำคัญในกลุ่มธุรกิจเดียวกันทำจุดสูงสุดใหม่แล้ว

ราคาหุ้นเป้าหมายไม่สะท้อนข่าวดีที่ประกาศออกมาผ่านสื่อในวงกว้าง เช่น การประกาศข่าวได้พันธมิตรรายใหญ่เพื่อเกื้อกูลธุรกิจ การได้เงินทุนก้อนใหญ่ การชนะประมูล การได้รับคำสั่งซื้อมูลค่าสูงจากลูกค้า กำไรขยายตัวเกินคาดนักวิเคราะห์ เป็นต้น แสดงว่านักลงทุนส่วนใหญ่รับทราบข่าวเหล่านี้ไปแล้ว ไม่มีอะไรตื่นเต้น ซึ่งในเชิงจิตวิทยา หุ้นตัวนี้เข้าข่าย too optimistic คาดหวังสูงมากเกินไป ดังนั้นหากผิดหวัง แรงขายหุ้นจะออกมามาก
6.หลีกเลี่ยงหุ้นที่ตกลงมายาวนานและราคาหุ้นตกลงมากกว่า 50% จากระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน และอุดมไปด้วยข่าวร้ายมากมาย

แม้ว่า ผมจะเกริ่นไปก่อนหน้าว่า หุ้นเป้าหมายสำหรับ short ควรตกอยู่ในวัฐจักรธุรกิจขาลง ราคาหุ้นควรปรับตัวแย่กว่าตลาด แต่ในขณะเดียวกัน ผมแนะหลีกเลี่ยง สำหรับหุ้นเป้าหมายที่ราคาหุ้นตกเกินกว่า 50% จากระดับราคาหุ้นสูงสุดในรอบ 12 เดือน ราคาเทียบกำไรต่ำกว่า 10 เท่า (PER) และอัตราเงินปันผลเริ่มมากกว่า 5% เนื่องจากราคาหุ้นตัวนั้นได้สะท้อนปัจจัยด้านลบต่างๆไปมาก แม้ว่าแนวโน้มธุรกิจ และ กำไรบริษัทในอนาคตจะแย่ หรือหดตัวลงก็ตาม เมื่อราคาหุ้นร่วงมากขนาดนี้ นักลงทุนที่ติดหุ้นจะไม่ขายแม้ว่าราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น เพราะทุนสูง ตัดใจขายหุ้นไม่ได้ สภาพคล่องการซื้อขายหุ้นจะต่ำกว่าปกติ ประกอบกับนักลงทุนกลุ่มใหม่ที่สะสมหุ้นต้นทุนระดับต่ำสามารถถือหุ้นได้นาน หุ้นถูก Short มามากทำให้เสี่ยงต่อการซื้อหุ้นกลับคืน (Short squeeze) เพราะอัตราเงินปันผลมากกว่าอัตราตอบแทนเงินฝาก 3 ปี ความเสี่ยงของราคาหุ้นร่วงลงไม่มาก นักเก็งกำไร เงินร้อน มาร์จิ้นพร้อมเข้าซื้อหากสัญญานทางเทคนิคสวย หรือ ข่าวดีเข้ามา

ดังนั้น หากหุ้นเป้าหมายสำหรับการ Short มีองค์ประกอบ 4 ใน 6 ประการที่ผมกล่าวถึง ก็สามารถพิจารณาด้าน Short ท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายหลักทรัพย์ปานกลาง นักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้มีการซื้อหุ้นประเทศไทยจริงจัง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังคงเคลื่อนตัวออกด้านข้าง หรือ sideway การ Short หุ้นก็ถือว่าเป็นอีกหนี่งกลยุทธ์ที่นักลงทุนสามารถลองไปศึกษา และปฏิบัติได้ครับ