ไล่ล่า บิน ลาเดน...บทเรียนเชิงบริหาร

ไล่ล่า บิน ลาเดน...บทเรียนเชิงบริหาร

ไล่ล่า บิน ลาเดน...บทเรียนเชิงบริหาร

ใครๆ ก็รู้จัก ซี ไอ เอ” และใครๆ ก็รู้จัก บิน ลาเดน

เมื่อหัวหน้า ซี ไอ เอ ได้ออกมาเล่าเบื้องหลังปฏิบัติการไล่ล่า ผ่านนิตยสารระดับโลก อย่าง Harvard Business Review จึงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่งนัก

เมื่อโอบามา ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี ค.ศ. 2009 เขาได้แต่งตั้ง นาย Leon Panetta ให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าสำนักงาน ซี ไอ เอ นายพาเน็ตต้าเล่าว่า เมื่อเขาและทีมผู้บริหารชุดใหม่ เข้ารับตำแหน่ง ทีมผู้บริหารชุดเก่าก็ได้ส่งมอบงานให้ และหนึ่งในนั้นคือ ข้อมูลเกี่ยวกับการไล่ล่า บิน ลาเดน

จากนั้นไม่นาน พาเน็ตต้า ก็ได้เรียกประชุมบุคลากรประจำระดับสูงของ ซี ไอ เอ แล้วถามว่า “ใครรับผิดชอบเรื่อง บิน ลาเดน บ้าง” ปรากฏว่าทุกคนยกมือขึ้นหมด ซึ่งแทนที่ พาเน็ตต้า จะพึงพอใจ เขากลับรู้สึกว่า นี่แหละคือเหตุผลที่ทำให้การไล่ล่า บิน ลาเดน ล้มเหลวมาแล้วเกือบ 10 ปี

เขาบอกว่า เมื่อต่างคนต่างก็มีหน้าที่คนละเล็ก คนละน้อย ก็แสดงว่าไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเลย ที่รับผิดชอบแบบ เต็มๆ” ทำให้ข้อมูลกระจัดกระจาย ไม่มีใครสามารถฉายภาพที่สมบูรณ์และสรุปข้อมูล ให้หัวหน้า ซี ไอ เอ หรือให้ประธานาธิบดี ฟังได้ครบถ้วนว่า ข้อมูลที่สมบูรณ์ล่าสุด คืออะไร

พาเน็ตต้า บอกว่านี่แหละคือสาเหตุที่ทำให้เวลาได้ผ่านไปถึงเกือบสิบปี ผ่านมือหัวหน้า ซี ไอ เอ ถึง 3 คน ผ่านประธานาธิบดีอีก 2 คน และสูญเสียเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์ รวมทั้งเสียชีวิตทหารอเมริกันอีกจำนวนมาก แต่คว้าน้ำเหลวมาตลอด

เขาจึงบริหารแบบใหม่ ด้วยการแต่งตั้งบุคคลหนึ่งคน เรียกชื่อเล่นๆ ว่า “แกรี่” และให้แกรี่รับผิดชอบเรื่องบิน ลาเดน อย่างเต็มตัว แกรี่ มีภารกิจของชีวิตการทำงาน เรื่องเดียวเท่านั้น ตั้งแต่ตื่น จนเข้านอน แม้ขณะนอนหลับ ก็ต้องฝันถึงแต่เรื่องนี้ ต้องหาข้อมูล วางแผนไล่ล่า ติดตามความคืบหน้า และรายงานเรื่องนี้ให้เขาทราบ ทุกวันอังคาร ถึงแม้จะไม่มีอะไรคืบหน้า ก็ต้องรายงาน

วิธีการจัดการแบบนี้ ผ่านไปเพียงปีเดียวเท่านั้น แกรี่และทีมงาน ก็ได้ข้อมูลระแคะระคาย เกี่ยวกับพี่น้องสองคน ที่บิน ลาเดน ให้ความไว้วางใจให้เป็นคนรับส่งสารต่างๆ ในที่สุด ซี ไอ เอ ก็ติดตามจนพบว่าทั้งสองคนไปที่บ้านต้องสงสัยแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่เมือง Abbottabad ในปากีสถาน 

ทีมงานใช้เทคโนโลยี ติดตามความเคลื่อนไหวภายในบ้านหลังนั้น และเห็นชายร่างสูง เดินออกกำลังกายที่สนามรอบบ้าน แต่ไม่เคยเห็นใบหน้าชัดเจน ว่าเป็น บิน ลาเดน หรือไม่ ดังนั้น พาเน็ตต้า จึงเสนอว่าให้คนแอบนำกล้องไปติดตั้งไว้ ที่ต้นไม้ใหญ่ใกล้รั้วบ้าน

แต่ “ทีมผู้เชี่ยวชาญ” บอกว่าวิธีการเช่นนั้นเสี่ยงเกินไป ซึ่งพาเน็ตต้า ก็ยอมรับฟัง และหลังจากนั้นอีกไม่นานนัก ปรากฏว่าคนของบิน ลาเดน ได้ออกมาตัดกิ่งไม้ทิ้งไปทั้งหมด พาเน็ตต้าบอกว่า ถ้าหากได้นำกล้องไปติดไว้ ก็คงถูกค้นพบแล้ว และ บิน ลาเดน คงรู้แกว หนีออกไปได้ในทันที

พาเน็ตต้าจึงสรุปว่า ในสถานการณ์ที่เราไม่มีความรู้ที่ลึกพอ เราควรรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น พาเน็ตต้ากล่าวว่า บางครั้งเราจะต้องกล้า ท้าทายความเชื่อ” เพราะในอดีต ใครๆ ก็คิดว่าบิน ลาเดน ต้องหลบซ่อนอยู่ในหุบเขาไกลลึก หรือในถ้ำลึกลับ เขาจะไม่นำครอบครัวไปอยู่ด้วยแน่นอน เพราะจะกลายเป็นเป้าหมายที่ถูกค้นพบได้ง่าย และเขาจะมีกองกำลังพร้อมอาวุธอยู่รอบตัว ฯลฯ

เอาจริงเข้า ไม่ใช่สักอย่าง บิน ลาเดน อยู่กับครอบครัว อยู่ห่างจากโรงเรียนนายร้อยเพียงนิดเดียว และห่างจากทำเนียบประธานาธิบดี เพียง 40 ไมล์ ด้วยเหตุนี้กระมัง ที่การไล่ล่ามานาน จึงล้มเหลวตลอด เพราะเกาะอยู่กับความเชื่อเดิม ซึ่งผิด

สุดท้าย พาเน็ตต้าบอกว่า วันที่ปฏิบัติการจริงนั้น เกือบทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผน เพราะเฮลิคอปเตอร์ ลำแรกเกิดอุบัติเหตุ และหน่วยซีล ซึ่งวางแผนว่าจะไปลงบนหลังคาบ้าน กลับต้องไปลงในเล้าสัตว์ ฯลฯ แต่ด้วยแผนแบ็คอัพ ที่ดีพอ และการฝึกซ้อมมาอย่างดี ทุกอย่างจึงจบลงด้วยความสำเร็จ

นี่คือบทเรียนทางการบริหาร ที่พาเน็ตต้าเผยแพร่ใน Harvard Business Review ผมขอสรุปอีกครั้งว่า 1. ต้องมีผู้รับผิดชอบเต็มตัว 2. ต้องเชื่อผู้เชี่ยวชาญ 3. ต้องกล้าท้าทายความเชื่อเดิม และ 4.ต้องมีแผนสำรองที่ดีพอและเพียงพอ

ที่ผมเอามาเล่านี้ มิได้ประสงค์จะให้ใครเอาไปวางแผนไล่ล่าใคร นะครับ แค่เอาไปใช้ในการบริหารงานของท่านให้ดีขึ้น เท่านี้ก็เพียงพอแล้วครับ