ดราม่า Agoda

ดราม่า Agoda

กลายเป็นประเด็นให้คนดิจิทัลและคนในวงการสตาร์ทอัพ ได้ถกกันอย่างสนุกสนาน

เมื่อคุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าเตรียมหารือกับผู้บริหารจาก Agoda เพื่อไม่ให้กดราคาห้องพักกับผู้ประกอบการ

งานนี้ถกกันสนุกครับ มีการเอาไปเทียบกับเคส Grab และ Uber ที่ทางกระทรวงคมนาคม พยายามกีดกันไม่ให้ทั้ง Grab และ Uber ดำเนินธุรกิจในไทยได้ (แต่ทั้งสองบริษัทก็ยังพากันโฆษณาอย่างต่อเนื่อง)

นี่หรือคือ Thailand 4.0?

ว่ากันตามตรงเคสนี้คล้ายๆกัน แต่เอาจริงๆเหมือนหนังคนละม้วนครับ เพราะ Agoda เข้ามาในไทยหลายปีแล้ว และได้ Dominate Market หรือกลายเป็นเจ้าพ่อตลาด “จองโรงแรมออนไลน์” มาเป็นเวลานาน โกยเงินไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่

จากข้อมูลที่ Google เปิดเผยออกมา ตัวเลขตลาดท่องเที่ยวออนไลน์ อยู่ที่ 147,000 ล้านบาท ในปี 2015 แถมมีทิศทางเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกๆปีอีกต่างหาก

ว่ากันว่าภายในปี 2025 ตลาดท่องเที่ยวออนไลน์ จะมีมูลค่าถึง 759,500 ล้านบาท!

เค้กชิ้นนี้ ไม่รู้ว่า Agoda สามารถแย่งชิงไปได้เท่าไหร่แล้ว แต่ในฐานะเจ้าตลาดเบอร์หนึ่ง ผมคิดว่า Agoda ได้ส่วนแบ่งรายได้จากเค้กก้อนนี้ไปไม่น้อยแน่ๆ

ถ้ามองในมุมมองของผู้ใช้บริการ คงไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรกับ Agoda ที่จะเติบโตร่ำรวยอย่างไรก็ตาม ขอเพียงแค่ตนได้จองโรงแรมที่พัก ในราคาที่ถูกที่สุดแค่นั้น ตนก็พอใจแล้ว

แต่ถ้ามองในมุมมองผู้ประกอบการโรงแรม เรียกว่า พากันเจ็บช้ำ ระบมขมขื่น มิใช่น้อย เหตุด้วย Agoda เจ้าตลาดจองโรงแรมนั้น มีอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการโรงแรมสูงมาก ถึงขนาดบังคับว่า ผู้ที่จะมาลงลิสต์รายชื่อให้บริการเช่าห้องพักผ่าน Agoda นั้น จะต้องตั้งราคาที่ Agoda ถูกที่สุดเท่านั้น

ใครแอบขายเองหรือขายกับคู่แข่งในราคาที่ต่ำกว่า Agoda จะทำการถอนรายชื่อโรงแรมออกจากเว็บไซต์ไปเลย !

Agoda ถึงกับตั้งหน่วยคอยสืบสวน เสาะหา ว่าเจ้าของโรงแรมแอบไปขายที่พักของตน ต่ำกว่าในราคาที่ตั้งไว้ใน Agoda หรือเปล่า ทำงานกันอย่างเข้มข้น ถ้าเจอเมื่อไหร่ Agoda จะมีการส่งคนไปตักเตือนทันที

หลายคนอาจจะบอกว่า ถ้าเจ้าของโรงแรม ไม่พอใจขายผ่าน Agoda ก็ไม่ต้องลิสต์รายชื่อกับเค้าสิ โปรโมทเอง เปิดให้จองเอง หรือไปลิสต์รายชื่อกับเว็บคู่แข่งของ Agoda ก็ได้

แต่ประเด็นมันไม่ง่ายขนาดนั้นสิครับ เพราะ Agoda เป็นเจ้าพ่อ ในตลาดในบ้านเรา หลายโรงแรมมากๆที่มียอดจองห้องพัก ผ่านระบบของ Agoda มากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดจองห้องพักทั้งหมด ถึงขนาดว่า ถ้าโรงแรมของตน ถูกถอดรายชื่อออกจากเว็บไซต์ Agoda โรงแรมแทบจะเจ๊งในทันที!

ผู้ประกอบการเจ้าของโรงแรม ก็ได้แต่กล้ำกลืนฝืนทน ขายที่พักในราคาที่ต่ำที่สุดให้กับ Agoda ต่อไป

งานนี้เลยกลายเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะอย่างที่รู้กัน ว่าประเทศไทยเราเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่กลายเป็นว่า มีคนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเรามากมาย แต่ผู้ประกอบการโรงแรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศ กลับไม่สามารถทำกำไรกันได้

แต่คนที่กำไรงามงดที่สุด กลับกลายเป็นธุรกิจต่างชาติ เจ้าของเว็บไซต์ ที่มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำมากๆ

แล้วเราจะทำเช่นไร กับสถานการณ์อันนี้ดี?

จะไปนั่งไล่จับ ไม่อนุญาตให้คนใช้บริการ Agoda เห็นทีคงจะไม่ใช่ !

จริงๆไม่ยากครับ Agoda อาจจะต้องพิจารณาลดค่าธรรมเนียมที่คิดกับผู้ประกอบการเจ้าของโรงแรมลง ส่วนตัวผมเชื่อว่า ผู้ประกอบการเจ้าของโรงแรม โดน Agoda รีดเสียจนไส้กิ่ว จนไม่สามารถทำราคาต่ำกว่านี้ได้แล้ว ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ราคาที่พักแพงขึ้น จนกลายเป็นภาระให้กับผู้ใช้บริการ Agoda อาจจะต้องเป็นผู้เสียสละ กลืนเลือด ลดค่าธรรมเนียมตรงนี้เสียเอง

แล้ว Agoda จะยอมตัดกำไรตัวเอง ง่ายๆเช่นนั้นหรือ?

นั่นเป็นเหตุผลหลักที่คุณกอบกาญจน์ จำเป็นจะต้องเรียก Agoda เข้าไปคุยด้วยครับ หลายคนค่อนแคะรัฐบาลในเรื่องนี้ แต่ผมเองแอบชื่นชมและให้กำลังใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ

จริงๆยังมีเคสที่คล้ายๆกันแบบนี้ในบ้านเราอีกหลายเคสครับ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าธุรกิจเหล่านี้จะใช้โมเดลการทำธุรกิจแบบ เช่นเดียวกับ Agoda หรือไม่ ซึ่งก็คงต้องจับตาดูกันต่อไป

ผมเขียนแบบนี้ น่าจะได้แรงเชียร์จากผู้ประกอบการโรงแรม ไม่มากก็น้อย ติดต่อ “โซวบักท้ง” เพื่อมอบโรงแรมที่พัก ให้พักฟรีได้เลยนะครับ ผมยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข :-P