ความเกรงใจหรือการเคารพสิทธิผู้อื่น ๑

ความเกรงใจหรือการเคารพสิทธิผู้อื่น ๑

ความขัดแย้งในชีวิตประจำวัน ของผู้คนในสังคมไทยทวีขึ้นมาก และมักจะดำเนินต่อไปจนจบเรื่อง ด้วยการใช้ความรุนแรงต่อกัน

 ไม่ว่าจะในระดับของ “คนอยู่บ้านใกล้ชิดติดกัน” หรือในการใช้พื้นที่สาธารณะบนท้องถนนร่วมกัน ดังข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ เพียงแค่การไม่ยอมออกรถจากจุดจ่ายน้ำมันในปั๊มน้ำมัน ก็ทำให้ทะเลาะกันรุนแรง เป็นต้น

แน่นอนว่า การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนหรือสังคมนั้น ย่อมไม่มีใครที่ทำอะไรถูกใจคนอื่นได้หมด ความไม่พึงพอใจต่อการกระทำของผู้อื่นที่สัมพันธ์กับเรา หรืออยู่ใกล้ชิดเราย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ในสมัยก่อน สังคมไทยได้สร้างระบบความสัมพันธ์ทางสังคมลักษณะหนึ่งขึ้นมา เพื่อลดทอนปัญหาความขัดแย้งในชีวิตประจำวันนี้ ด้วยการทำให้คนแต่ละคนรู้จักและสำนึก ที่จะควบคุมการกระทำของตนเอง ไม่ให้ไปรบกวนคนอื่นด้วยความคิดเรื่อง “ความเกรงใจ”

ความเกรงใจ” คือ ความรู้สึกระมัดระวังที่จะไม่ให้การกระทำใดๆของตนไปทำให้คนอื่นรู้สึกถึงความลำบาก /เดือนร้อน/ ยุ่งยาก ในทุกมิติ ในกาลก่อนนั้น สังคมไทยได้ทำให้ “ความเกรงใจ” กลายเป็นบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งมีผลทำให้การกระทำที่จะกระทบกระทั่งผู้อื่นเกิดขึ้นไม่มากนัก

“ความเกรงใจ” เป็นระบบความหมายที่มีพลังในสังคมที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก โดยเฉพาะในชุมชนขนาดเล็กและชุมชนขนาดย่อมทั่วไปของสังคมไทยที่ผู้คนยังหมายรู้กันได้ว่าใครเป็นใคร อยู่ที่ไหนอย่างไร แต่เมื่อเกิดรัฐแบบใหม่และเกิดการขายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นตามลำดับ ความพยายามจะควบคุมการกระทบกระทั่งระหว่างผู้คนที่มีความสัมพันธ์กันมากขึ้นนั้น จึงทำให้ชนชั้นนำไทยในระยะหลังได้ผลักดันให้ “ความเกรงใจ” ขยายตัวครอบคลุมสังคมให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการทำให้เกิด “คุณลักษณะใหม่” ของผู้คนที่จะใช้ความสำนึกเรื่อง “ความเกรงใจ” ในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม

กระบวนการนี้ทำได้โดยการนิยาม “ ความเกรงใจ” ให้กลายเป็นคุณสมบัติบุคคลที่มีเกียรติในสังคม หรือเป็นบุคคลที่พึงประสงค์ นั่นคือ การทำให้ “ ความเกรงใจ” กลายเป็น “สมบัติผู้ดี” และได้นิยาม “ ความเป็นผู้ดี” ที่ข้ามพ้นพรมแดนชนชั้นที่มีรากฐานอยู่บนหลักชาติวุฒิหรือชาติกำเนิดของคนในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ผู้มีคุณงามความดีตามระบบคุณค่าใหม่ๆ ในระยะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งความหมายของกระบวนการนี้ก็คือ การขยายสำนึก “ความเกรงใจ” ออกไปครอบคลุมสังคมไทยกว้างขวางมากขึ้น ในขณะที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และระบบคุณค่าเดิมๆในสังคมบางส่วนไม่มีพลังในการจรรโลงความสัมพันธ์ทางสังคมในดำเนินไปอย่างราบรื่น และระบบคุณค่าใหม่ๆ ยังไม่เป็นที่รับรู้หรือยอมรับมากนัก

คนรุ่นผมที่เคยเข้าค่ายลูกเสือหรือไปโรงเรียนในยุคสมัยที่มีการร้องเพลงหน้าเสาธง คงพอจะจำเพลง “ความเกรงใจ” ได้นะครับ ผมจำได้แม่นว่าเนื้อเพลง คือ “ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี ตรองดูซิทุกคนก็มีหัวใจ เกิดเป็นคนถ้าหากไม่เกรงใจใคร คนนั้นไซร้ไร้คุณธรรมประจำตน”

การควบคุมพฤติกรรมผู้คนในสังคมด้วยการขยาย “ความเกรงใจ” ให้มาเป็นคุณสมบัติของ “ผู้ดีมีคุณธรรม” นี้ ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพพอสมควรในสังคมที่การเคลื่อนย้ายทางสังคมไม่เข้มข้นมากนัก หรือผู้คนมีความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าไม่ถี่มากเหมือนในสังคมปัจจุบัน แม้ว่าจะมีผู้คนย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ในชุมชนที่ตนเองกลายเป็นคนแปลกหน้า ทั้งคนที่อยู่มาก่อนและคนที่อพยพเข้าไปอยู่ใหม่ ก็จะใช้ความรู้สึก “เกรงใจ” ในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่ทำอะไรให้กระทบกระเทือนหรือสร้างปัญหาให้แก่คนอื่นๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้การดำเนินชีวิตของตนดำเนินต่อไปโดยมีปัญหาความขัดแย้งน้อยที่สุด

การที่ต้องอยู่ร่วมกันหรือพบหน้ากันไปนานๆ ตลอดจนความจำเป็นที่ต้องร่วมมือหรือช่วยเหลือกันในบางเรื่อง (แม้มิใช่การพึ่งพากันอย่างรอบด้านเหมือนในสังคมโบราณ) นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ “ความเกรงใจ” มีพลังกำกับความสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้น เมื่อสังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาอันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจ “ความเกรงใจ” จึงมีพลังน้อยลงเป็นลำดับ เมื่อประกอบกับการที่รัฐไทยเน้นความมั่นคงของชาติและความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นสองมิติหลัก ทำให้ “คุณธรรม” ที่ได้รับการเน้นจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” และเกี่ยวกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ความขยันและรับผิดชอบในการทำงาน ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องของ “ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี” อีกต่อไป

ดังนั้น “ความเกรงใจที่เคยเป็นคุณลักษณะสำคัญที่รัฐบาลและครอบครัวปลูกฝังให้เยาวชนและลูกหลาน จึงเหลืออยู่ในพจนานุกรมมากกว่าในชีวิตจริงของคนไทย

แม้แต่ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนที่เป็นคนคุ้นเคยกัน “ความเกรงใจ” ก็เหลือน้อยลง มิพักต้องพูดถึงในระดับสังคมซึ่งก็ไม่เคยสร้างความคิดเรื่อง “ความเกรงใจสังคม ” มาก่อน ยื่งทำให้การละเมิด “สังคม” เป็นไปได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า การใช้พื้นที่สาธารณะในสังคมไทยในปัจจุบันเป็นไปโดยขาด “ความเกรงใจ” คนอื่นๆ และแทบจะไม่มีความเกรงใจต่อ “สังคม” เอาเสียเลย ทำให้พร้อมที่จะยึดเอาความพึงพอใจ ผลประโยชน์ หรือความสะดวกของตนเองเป็นหลัก ซึ่งการขาดความเกรงใจเช่นนี้เองที่คนไทยด้วยกันเองนั่นแหละที่มักจะพูดกันทำนองปรับทุกข์ว่า “คนสมัยนี้เห็นแก่ตัวมากขึ้น”

การสูญสลายไปของ “ความเกรงใจ” ก่อปัญหาการละเมิดกันมากมายได้อย่างไร และสังคมไทยในวันนี้จะต้องคิดอะไรกันบ้างเพื่อรักษาสังคมให้เป็นสังคมกันต่อไป ผมขอขยายความในคราวหน้านะครับ