นีล แคชคาริ : เฟด 'หนึ่งเดียวคนนี้'?

นีล แคชคาริ : เฟด 'หนึ่งเดียวคนนี้'?

สัปดาห์ที่แล้ว ไม่มีใครแปลกใจที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25

 ทว่ามีสมาชิกเฟดท่านหนึ่งที่แหวกเสียงส่วนใหญ่ ด้วยการโหวตสวนว่าจะขอคงดอกเบี้ยต่อ เฟดท่านนี้ นามว่า นายนีล แคชคาริ ประธานเฟดสาขามินาโพลิส เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ปีกว่าๆ หากใครได้ติดตามข่าวช่วงหลังวิกฤตซับไพร์ม คงจะคุ้นหน้าคุ้นตาสมาชิกเฟดท่านนี้เป็นอย่างดี เนื่องจากเขาเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุนที่ไว้ช่วยเหลือแบงก์ ที่มีปัญหาจากวิกฤตดังกล่าวที่เรียกกันว่า TARP สมัยนายเบน เบอร์นันเก้ เป็นประธานเฟด ก่อนหน้านั้น เขาเคยทำงานที่ธนาคารโกลด์แมนซัคส์กับนายจอห์น พอลสัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แม้จะมิได้จบด้านเศรษฐศาสตร์มาโดยตรง ทว่ามิทันข้ามวันจากการโหวตในการประชุมเฟดแบบ ‘หนึ่งเดียวคนนี้’ เขาก็เขียนบทความอธิบายถึงเหตุผลที่ตัดสินใจโหวตว่ายังให้คงดอกเบี้ยตามเดิม ดังนี้

โดยสรุป นายแคชคาริตัดสินใจแบบนี้เพราะข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุด ในการที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งในมุมของอัตราเงินเฟ้อให้เข้าใกล้ร้อยละ 2 และอัตราการว่างงานในระดับที่ดีต่อชาวอเมริกันโดยรวมให้มากที่สุด มิได้เปลี่ยนจากการประชุมครั้งก่อน โดยเขามองแบบที่ค่อนข้างเป๊ะกว่านักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปซึ่งรวมถึงผมด้วยว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐยังไม่เข้าเป้าหมาย และตลาดแรงงานยังสามารถคึกคักกว่านี้โดยไม่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งพรวดแต่อย่างใด และย้ำว่าถ้าข้อมูลเศรษฐกิจดีกว่านี้สักหน่อย เขาอาจจะโหวตขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคราวต่อๆไป

เริ่มจากประเด็นเงินเฟ้อกันก่อน นายแคชคาริได้ยกตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่มาจากการใช้จ่ายส่วนตัวของบุคคลหรือ PCE ที่วัดโดยปราศจากผลกระทบราคาอาหารและน้ำมันหรือ Core PCE ที่เขาชอบอัตราเงินเฟ้อตัวนี้เพราะสะท้อนความจริงได้ดี โดยเขามองว่าหากมองย้อนกลับไป 1 ปีตัวเลขขึ้นแค่จากร้อยละ 1.71 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 1.74 จุดที่นายแคชคาริย้ำคือการที่อัตราเงินเฟ้อไม่เคยแตะระดับอัตราเป้าหมายที่ร้อยละ 2 นั่นหมายความว่าเฟดยังไม่บรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ โดยคำว่า ‘เป้าหมาย’ กับ ‘เพดาน’ ไม่เหมือนกัน เขาเห็นว่าเฟดในตอนนี้มองจุด ณ อัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 เป็นเหมือน ‘เพดาน’ ไม่ใช่ ‘เป้าหมาย’

นอกจากนี้ ในแง่ของการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ที่ตัวเลขจากแหล่งต่างๆส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าร้อยละ 2 รวมถึงแนวโน้มก็ยังเป็นไปในขาลงอีกด้วย

หากพิจารณาระดับค่าแรงของชาวอเมริกันนั้น หาพิจารณาให้ดี ค่าจ้างรายชั่วโมงยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤตซับไพร์มเสียด้วยซ้ำ ซึ่งคงจะไม่ไปกดดันอัตราเงินเฟ้ออย่างแน่นอน โดยสรุป คือ อัตราเงินเฟ้อยังไม่มีสัญญาณว่าจะขึ้นมาแบบให้เห็นกัน

ประเด็นที่สอง มาถึงประเด็นการจ้างงานกันบ้าง นายแคชคาริบอกว่าให้ดูตัวเลขอัตราการว่างงานแบบ U-6 ที่รวมเอาชาวอเมริกันที่กำลังหางานอยู่และผู้ที่ทำงานแบบ Part-time อยู่ จะพบว่าอยู่ที่อัตราร้อยละ 9.2 ในปัจจุบัน แม้จะต่ำกว่าช่วงปี 2010 ที่ร้อยละ 17.1 ทว่ายังสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตซับไพร์มอยู่ราวร้อยละ 1 โดยจากตัวเลขอัตราการว่างงานแบบ U-6 แสดงว่ายังมีคนที่พร้อมจะกลับเข้ามาในตลาดแรงงานอีกเยอะ

เขามองว่าถ้ารีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้ อาจจะพลาดโอกาสที่นำแรงงานดังกล่าวที่กำลังกลับมาตลาดแรงงาน โดยยกตัวอย่างว่าหากในปี 2012 เฟดขึ้นดอกเบี้ยตอนอัตราการว่างงานที่ร้อยละ5.6 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าดีพอที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ ก็จะพลาดที่จะทำให้อัตราการว่างงานลดเหลือร้อยละ 4.7 เหมือนในตอนนี้ ซึ่งนายแคชคาริไม่อยากให้เฟดพลาดในตอนนี้ ที่สำคัญอัตราการว่างงานของชาวสหรัฐ เชื้อสายแอฟริกันและสเปนยังคงสูงอยู่ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2 เท่า หากวัดจากอัตราการว่างงานแบบ U-6

ท้ายสุด นายแคชคาริประเมินว่าหากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของสหรัฐในตอนนี้ถือว่ามิได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตแต่อย่างใด

หากถามผมว่านายแคชคาริมีประเด็นในการคงดอกเบี้ยของเฟดไหม หรือแค่อยากดังว่า เป็น ’หนึ่งเดียวคนนี้’ ของสมาชิกเฟดที่เห็นต่างจากคณะกรรมการท่านอื่นๆ ผมว่าน่าจะเป็นอย่างแรกร้อยละ 30 ส่วนอย่างหลังผมให้ราวร้อยละ 70 ครับ