ง่วง-เมาสุรา-เมากัญชา : ไม่ขับ

ง่วง-เมาสุรา-เมากัญชา : ไม่ขับ

ไทยติดอันดับสอง รองจากอันดับหนึ่ง ประเทศโดมินิกันรีพับบลิค ทวีปอเมริกาใต้ ในเรื่องอุบัติภัยจากการใช้รถใช้ถนน

 ตามสถิติรวบรวมโดยเวิรลแอตลาส คานาดา ซึ่งแสดงสถิติล่าสุด 19 กันยายน 2559 ไว้ว่า ไทยมีอัตราผู้ประสบอุบัติภัยถึงแก่ความตายในอัตรา 38.1 ราย รองจากอันดับหนึ่ง 41.7 ราย ต่อประชากร 100,000 คน

อุบัติภัยฯ เกิดจาก 5 องค์ประกอบสำคัญ : ผู้ขับขี่ยานพาหนะ ยานพาหนะ ทางหลวง ระบบจราจร และภูมิอากาศ

ผู้ขับขี่คือสาเหตุสำคัญที่สุด ในกรณีรถส่วนบุคคล ก่อนออกเดินทาง ผู้ขับขี่มักอยู่ในสภาพเหนื่อยล้าสุดขีดจากการเลือกเฟ้นจับจองที่พัก เคร่งเครียดสะสางงานประจำให้เสร็จสิ้น จัดลำเลียงสัมภาระขึ้นรถ อดนอนหลายคืนติดต่อกันมา และความรู้สึกคับข้องใจที่ประสบการจราจรติดขัดยาวนานบนเส้นทางขาออก ส่วนในกรณีรถตู้รับจ้าง ผู้ขับขี่มักพยายามเร่งทำเวลาขับให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวขับและเงินตอบแทนชิ้นงาน โดยลืมความสำคัญของความปลอดภัยต่อผู้โดยสารและตัวเองไป จึงได้ก่อให้เกิดอุบัติภัยน่าสลดใจยิ่งมาหลายรายแล้ว

ขณะขับรถ ผู้ขับขี่อาจไม่สวมแว่นตากรองแสงยูวีประเภทเอบีจากแสงแดด ทำให้เกิดต้อแก้วตา ชอบบริโภคอาหารทอดๆมันๆที่ทำให้ง่วง ดื่มน้ำหวานจัด/ชากาแฟผสมแคฟเฟอีนเข้มข้นที่ทำให้ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า มึนงง ซึมเศร้า หงุดหงิด ใจลอย คลื่นเหียน ปวดกล้ามเนื้อ ตลอดจนหนังตาปิดลงมาอย่างอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว

ยิ่งกว่านั้น ผู้ขับขี่บางคนนิยมพูดโทรศัพท์/ส่งข้อเขียนในขณะขับ ทำให้สมองต้องทำหน้าที่เกินปกติ เพื่อรับรู้ตอบสนองโลกเบื้องหน้ารถ ในขณะเดียวกันก็รับรู้พูดคุยกับใครคนหนึ่งที่อยู่ห่างไกล ผู้ขับขี่จึงอาจไม่เห็นสัญญาณไฟ ป้ายแจ้งเตือนทางโค้งมรณะ รถจักรยานยนต์ที่แซงตัดหน้ากระชั้นชิด ฯลฯ ในขณะที่รถกำลังพุ่งไปข้างหน้าเกินขีดความความเร็วตามกฎหมายโดยไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุนี้ ผู้ขับขี่พึงจอดรถหยุดพักทุกสองชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนอิริยาบทจากนั่งเป็นเดินไปมา เข้าห้องน้ำ ล้างหน้าล้างตา ออกกำลังกายเล็กน้อย ทำสมาธิหายใจเข้าออกลึกๆสักครู่ ดื่มน้ำสะอาด ทานผลไม้สดสอาด เพื่อให้ร่างกายจิตใจได้รับความสดชื่น โทรศัพท์สังสรรค์ เติมน้ำมัน และตรวจสภาพรถก่อนขับต่อไป

ยานพาหนะคือสาเหตุสำคัญรองลงมา ผู้ขับขี่มักประมาทไม่ตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องยนต์/สภาพล้อรถ/ระบบห้ามล้อ ฯลฯ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยอ้างว่าครั้งก่อนก็ขับไปมาได้ แต่ลืมไปว่า รถย่อมเสื่อมโทรมลงเป็นธรรมดา จึงอาจก่อให้เกิดอุบัติภัยได้

ทางหลวงมีส่วนสำคัญก่อให้เกิดอุบัติภัยแบบไม่เด่นชัดอยู่มากทีเดียว ผู้สร้างทางหลวงจักต้องไม่โกงหลักวิชาวิศวกรรมโยธาด้วยการตัดระยะเลี้ยวโค้งอันตรายให้ย่นย่อลงมากเกินไป ไม่เปลี่ยนผิวจราจรให้มีคุณภาพต่ำลง เพื่อประหยัดต้นทุนก่อสร้าง แบบ “ซื้อถูก-ขายแพง-กำไรงาม” บนชีวิตทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงชนบทพึงหมั่นออกตรวจสอบ ซ่อมแซม แก้ไขเส้นทางในความรับผิดชอบอย่างจริงจังเป็นประจำ

ระบบจราจรมีความสำคัญยิ่ง สัญญาณไฟ ป้ายเตือนทางโค้งอันตราย ทางขึ้น/ลงภูเขาสูงชัน อัตราความเร็วที่ปลอดภัย ป้ายตัวอักษรขนาดเล็กเกินไป ป้ายตั้งอยู่กระชั้นชิดกับจุดอันตรายเกินไป ฯลฯ ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของอุบัติภัย เพราะผู้ขับขี่จะไม่สามารถควบคุมรถให้แล่นผ่านไปอย่างปลอดภัยได้ทันที เมื่อพบกับสภาพถนนที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษอย่างกระทันหัน

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพึงหมั่นศึกษาทดสอบดูว่า ป้ายแจ้งเตือนภัยใช้ได้ผลดีจริงหรือไม่? ข้อความเล็กไปไหม? น่าจะเพิ่มจำนวนป้ายไปติดตั้งไว้ไม่ไกลนักก่อนถึงบริเวณวิกฤติหรือไม่? สมควรหรือไม่หากจะนำซากรถที่ตกเหวหรือชนกันมาแล้ว ตั้งโชว์ไว้ที่โดดเด่นไม่กีดขวางการจราจรและอยู่ไม่ใกล้ไกลจุดอันตรายนัก เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้เห็นของจริงเป็นข้อเตือนใจ?

อนึ่ง ป้ายจราจรจะไร้ความหมายหากเจ้าหน้าที่ฯไม่ออกไปปฏิบัติการสอดส่องพฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นประจำ เพื่อจะได้ตรวจสอบประสิทธิผลของป้าย ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัย และลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนเอง

ภูมิอากาศก็มีความสำคัญมาก ไม่มีใครห้ามมิให้ฝนตก น้ำท่วม หรือแสดงแดดส่องเข้าตาใครได้ เมื่อฝนเริ่มโปรยลงมาใหม่ๆ หยดน้ำฝนที่คลุกเคล้ากับฝุ่นคราบควันบนผิวจราจร จะกลายเป็นแผ่นฟิลม์ที่มีความลื่น ทำให้รถเกาะถนนได้ไม่แน่นเท่าก่อนฝนโปรย หากผู้ขับขี่ลืมปรับลดความเร็วรถลงมา รถจะวิ่งเร็วเกินขีดความปลอดภัยสำหรับสภาพถนนเช่นนั้น สุ่มเสี่ยงต่ออุบัติภัยได้ทันที

ในขณะฝนตกหนัก ล้อรถที่กำลังหมุนเคลื่อนรถด้วยความเร็วสูง จะเริ่มอยู่ในลักษณะลอยตัวแตะผิวจราจรเพียงเล็กน้อย รถจะเกาะถนนน้อยลงและหยุดตัวได้ช้าลงกว่าปกติมาก อุบัติภัยก็จะอยู่แค่เอื้อมเท่านั้น

ปัจจุบัน มาตรการป้องกันแก้ไขอุบัติภัยเน้นหนักอยู่ที่ “เมา-ง่วง-ไม่ขับ” ทว่า ยังมีสารเสพติดอีกชนิดหนึ่งที่กำลังแพร่หลายในไทยและเป็นอันตรายต่อการขับขี่อย่างยิ่ง คือ “กัญชา” (marijuana) ในสหรัฐ ได้มีการวิจัยค้นพบผลกระทบที่ร้ายแรงของกัญชาต่อร่างกายจิตใจไว้มาก รัฐบาลน่าจะพิจารณากัญชาให้เป็นสารต้องห้ามสำหรับผู้ทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท

การวิจัยพบว่า เมื่อสารกัญชาเข้าไปอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะจากการเคี้ยวกลืนเข้าไปกับอาหาร/น้ำ ฤทธิ์กัญชาจะส่งผลกระทบในลักษณะเข้มข้นและกว้างขวางพิศดารยิ่ง ทำให้ผู้ขับขี่หย่อนสมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะไม่น้อยไปกว่าแอลกอฮอลหรือภาวะอดหลับอดนอน

มีผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่งในสหรัฐ ได้บันทึกอาการทางร่างกายจิตใจของตนหลังเสพกัญชาไว้ว่า นอกจากจะเป็นสารเสพติดทางจิตใจที่แก้ไขได้ยากยิ่งแล้ว กัญชายังสามารถทวีคูณประสิทธิภาพการทำงานของประสาทสัมผัสทั้งห้าให้สูงกว่าเดิมมาก ผู้เสพจะรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสในระดับไฮเดฟินิชั่นคมชัดลึก พร้อมด้วยสีสันที่เข้มข้นกว่าปกติมาก จนทำให้สมองมึนชา ไร้สมรรถภาพในการบวกลบคูณหารกับโลกที่ปรากฏเบื้องหน้ารถ เมื่อมีสัญญาณไฟแดงหรือคนกำลังเดินข้ามถนน ผู้ขับขี่ที่กำลังเมากัญชาจะไม่รู้ว่าตนต้องรีบหยุดรถโดยทันที

นอกจากนี้ สารกัญชาสามารถลบล้างความรู้ความจำที่เคยมีอยู่เกี่ยวกับป้ายจราจร ทำให้จำไม่ได้ว่าภาพป้ายเตือนทางลงภูเขาลาดชันหักงอนั้น สื่อความหมายว่าอะไร และสามารถทำให้รู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้ามากๆ ห้านาทีปกติจะยาวนานเป็นห้าสิบนาทีในขณะเมากัญชา ผู้เสพอาจรู้สึกเบื่อหน่ายว่า ขับตั้งนานแล้วยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางสักที อาจเริ่มเพิ่มความเร็วสูงขึ้น เพื่อให้ไปถึงได้ไวขึ้น ในขณะเดียวกัน จิตจะไม่สามารถควบคุมการปรุงแต่งของสมอง คือ จิตจะมีมโนภาพฟุ้งซ่านไหลเทไปมาด้วยภาพฝันกลางวัน ภาพนึกคิดเลื่อนลอย ภาพความทรงจำเก่าๆ ตลอดจนอารมณ์ต่างๆนานา อย่างไม่ขาดสาย ตกอยู่ในภาวะใจลอย คือ เห็นแต่ไม่เห็น เหตุการณ์เบื้องหน้า รถจึงอาจกระโดดข้ามเกาะกลางถนนไปวิ่งสวนทางกับช่องทางอื่นได้โดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เกิดการประสานงากับรถที่วิ่งสวนมาได้ทันที

นอกจากนี้ ยังมีคณะวิจัยนำโดยศาสตราจารย์ทาบีอา โชอ์เลอร์ มหาวิทยาลัยชื่อดังคิงส์คอลเลจ อังกฤษ พบว่า ผู้เสพกัญชาจะแสดงพฤติกรรมเชิงก้าวร้าวต่อผู้คนที่อยู่รอบตัว เมื่อสารกัญชาถูกลำเลียงตามเส้นเลือดเข้าไปสะสมเป็นสารแปลกปลอมอยู่ในสมอง จิตจะรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย วงจรระบบประสาทในสมองเริ่มตื่นเต้นปั่นป่วนเชิงหวาดผวาปกป้องตน ปรากฏว่า ผู้เสพฯร้อยละ 22 แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงออกมาอย่างเห็นได้ชัดทันที

เมื่อกัญชาสะสมอยู่ในเลือดมากขึ้น อาการก้าวร้าวคุกคามต่อผู้อยู่ใกล้เคียงจะรุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผู้เสพกัญชา ไม่ว่าจะขับขี่รถยนต์หรือจักรยานยนต์อยู่ อาจขับแซงตัดหน้ารถคันอื่นอย่างกระชั้นชิดจนเกิดอุบัติภัย หรืออาจขับประลองความเร็วตีคู่ขนานกับรถอีกคันหนึ่งไปในทิศเดียวกันบนถนนสองช่องทาง ก่อให้เกิดอุบัติภัยต่อรถที่วิ่งสวนมาตามปกติได้ทันที

ในช่วงวันหยุดยาวฉลองประเพณีสงกรานต์ปีนี้ รัฐบาลน่าจะพิจารณารณรงค์ ง่วง-เมาสุรา-เมากัญชา:ไม่ขับ อย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน และไทยจะได้ไม่ขึ้นครองตำแหน่งชนะเลิศติดอันดับหนึ่งในสถิติโลกดังกล่าว

เห็นได้ว่า คนง่วงนอน คนเมาสุรา หรือคนเสพกัญชาเพียงคนเดียว สามารถทำให้ยานพาหนะกลายเป็นอาวุธที่คร่าชีวิตผู้อื่น ซึ่งกำลังดำเนินอยู่บนเส้นทางชีวิตอันรุ่งโรจน์ เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง และเป็นที่รักยิ่งของผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย ภายในชั่วเสี้ยวหนึ่งของวินาทีโดยไม่รู้ตัว แต่ก็ป้องกันแก้ไขได้ไม่ยากนักเมื่อได้ทำความเข้าใจ/ปรับปรุงองค์ประกอบทั้ง 5 และได้สั่งห้ามเสพกัญชาดังกล่าวแล้ว

ปมาโท มจฺจุโน ปทํ : ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย”