จับเข่าคุย 'อโกด้า' ทำได้จริงหรือ

จับเข่าคุย 'อโกด้า' ทำได้จริงหรือ

2-3 วันก่อนเห็น กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีแนวคิด“ดี๊ดี”

 บอกจะหารือกับเว็บไซต์อโกด้า ผู้ให้บริการการสำรองที่พักผ่านระบบออนไลน์ ที่มีเครือข่ายทั่วโลก 

อโกด้า มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯซะด้วย มีโรงแรมที่พักให้เลือกใช้บริการถึง 25,616 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่ทั่วโลกคงจะมีอีกมากมาย

ฉะนั้นเงื่อนที่จะเจรจากับอโกด้า เกี่ยวกับการทำตลาด อันดับแรกไม่ต้องการให้อโกด้ากดราคาห้องพักกับผู้ประกอบการ และ ขอให้อโกด้าเลือกเฉพาะโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเข้าระบบ ข้อเสนอที่จะเจรจาฟังดูเข้าท่าทีเดียว 

แต่สำหรับคนที่อยู่ในวงการโรงแรม ถามไถ่ไปหลายทีตอบตรงกันมันยาก เพราะการเข้าร่วมอโกด้าดูเหมือนเป็นความสมัครใจ แต่ละโรงแรมวิ่งไปหาเองไม่ใช่หรือ ที่สำคัญไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบแบบฟรีๆ แต่ต้องจ่าย Commission จาก booking มีตั้งแต่ 10-50% เลย ขึ้นอยู่กับว่าโรงแรมเลือกจองแบบไหน 

ส่วนราคาขายคงเป็นเรื่องที่ต้องตกลงร่วมกันไม่ใช่หรือ จะขายถูกหรือขายแพง แต่นโยบายของอโกด้าเขากำหนดไว้ชัดเจนในทุกเรื่อง ว่ากันว่าในแต่ละวันเขาใช้เงินทำการตลาดไม่น้อยกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ฉะนั้นโรงแรมทุกรายต้องฟังเขา แล้วรัฐบาลจะไม่สั่งอะไรเขาได้

 แต่การให้อโกด้าต้องเลือกโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย อันนี้น่าจะเป็นภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องตรวจสอบความถูกต้องมากกว่าไม่ใช่หรือ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น แต่กำลังมองถึงความเป็นไปได้มากกว่า เพราะสุดท้ายอาจจะหาทางออกลำบากเหมือนกรณี อูเบอร์” ที่กำลังเป็นปัญหาเวลานี้ 

มีคนนินทากันทำนองมีโรงแรมยักษ์ใหญ่ รายหนึ่งเดือดร้อนหนัก บอกอโกด้าต้นเหตุขายห้องพักราคาถูก ต้องการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯออกมาแรงช่วยเจรจา 

ในความเป็นจริงถ้าผู้บริโภคเขาได้ราคาถูกน่าจะเป็นเรื่องที่ดีใช่หรือไม่ แต่ถ้าอะไรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นเรื่องที่ต้องจัดการ โรงแรมไหนไม่มีใบอนุญาต ทำไมหน่วยงานที่ดูแลอยู่ไม่จัดการ แล้วอโกด้าเขาจะรู้ได้อย่างไรใครผิดใครถูก 

 อันที่จริงถ้าผู้ประกอบการโรงแรมทั้งประเทศยกเลิกใช้อโกด้าก็สิ้นเรื่อง ไม่ต้องเป็นภาระกระทรวงท่องเที่ยวฯ เพราะสุดท้ายอาจจะคว้าน้ำเหลวได้ วันนี้ก็ไม่แน่ใจไทยมีกฎหมายคุ้มครองแล้วหรือไม่