อัพเกรด 'สมาคมการค้า' เพิ่มความแกร่งไทยในเวทีโลก

อัพเกรด 'สมาคมการค้า' เพิ่มความแกร่งไทยในเวทีโลก

ในยุคที่การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นไปอย่างเข้มข้น ไทยมีความได้เปรียบในเรื่องทรัพยากร

 สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นผู้ผลิต สินค้ารายใหญ่หลายชนิด ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม

แต่การ “เก่งผลิต” เพียงอย่างเดียวดังเช่นที่ผ่านมา ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทยอีกได้ เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้คู่แข่ง สามารถผลิตสินค้าอย่างเราได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า ขณะที่สินค้าเดิมๆ ที่ไทยผลิตก็เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคน้อยลง

ไทยจึงต้อง “อัพเกรด” ตนเองให้เป็น “ชาติการค้า” ผ่านการ “อัพเกรด” รูปแบบการผลิต แปรรูป และส่งออกสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการ ของตลาดต่างประเทศอย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ผู้ส่งออกไทยจะต้องรู้จัก “ตลาด” และ “ลูกค้า” มากขึ้นจากเดิมที่เพียงผลิตตามออร์เดอร์เท่านั้น

การที่ธุรกิจไทยจะตอบสนองต่อการแข่งขัน ความต้องการ และความเสี่ยงภายนอกประเทศได้รวดเร็วมากขึ้น ผู้ค้าปลายน้ำจะต้องส่งผ่านข้อมูลความต้องการของตน ไปสู่ผู้ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้ผลิตวัตถุดิบและผู้แปรรูปจะต้องผลิตสินค้าได้ตรงตามมาตรฐาน และตามปริมาณที่ตลาดต้องการได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

งานวิจัยของทีดีอาร์ไอซึ่งจัดทำให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ในโครงการการจัดทำยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางการค้าและยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มภาคีธุรกิจ เสนอว่ากลยุทธ์หลักในการอัพเกรดให้ไทยเป็นชาติการค้าคือ การทำให้ “ห่วงโซ่มูลค่า” เข้มแข็ง โดยหัวใจหลักคือทำให้ผู้ประกอบการรวมตัวกันเป็น “ภาคีธุรกิจ” เช่นในรูปแบบของ “สมาคมการค้า” ที่มีการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน

ปัจจุบัน ไทยมีสมาคมการค้าด้านการผลิตสินค้าหรือบริการรวม 818 แห่ง เนื่องจากการจัดตั้งสมาคมการค้าสามารถทำได้อย่างสะดวก เพียงมีผู้ขอจัดตั้งเป็นบุคคลธรรมดาหรือผู้ประกอบการรวมอย่างน้อย 3 คน และมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1 พันบาท ก็สามารถขอจดทะเบียนสมาคมการค้าได้

แม้จะมีสมาคมการค้าจำนวนมาก แต่การรวมตัวดังกล่าวเกือบทั้งหมดยังมีจุดอ่อนอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือการขาดการรวมกลุ่มใน “แนวดิ่ง” สมาคมการค้าไทยร้อยละ 90 มีการรวมตัวกันในแนวนอนระหว่างธุรกิจที่ผลิตสินค้าหรือบริการเดียวกัน เช่น การรวมตัวกันเฉพาะผู้ผลิตวัตถุดิบ อย่างสมาคมประมง ที่มีแต่ผู้ประกอบการประมงแต่ไม่มีผู้แปรรูปอาหารทะเลเป็นสมาชิก อีกทั้งยังมักเป็นการรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น เมื่อเจอปัญหาไอยูยู หรือโรคกุ้งตายด่วน

การรวมกลุ่มลักษณะนี้เป็นอุปสรรคต่อการแบ่งปันข้อมูล เช่น กรณีสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งและสมาคมผู้แปรรูปอาหารทะเลที่ไม่สามารถให้ข้อมูลปริมาณการผลิตและความต้องการวัตถุดิบได้ตรงกัน

เรื่องที่สอง คือการขาดกลไกกำกับดูแลกันเองของสมาชิก ซึ่งเกิดจากระบบสมาชิกเป็นแบบสมัครใจ กฎหมายสมาคมการค้าไม่ได้บังคับให้ผู้ประกอบการนิติบุคคลที่จดทะเบียนการค้าต้องเข้าเป็นสมาชิกสมาคมการค้าใดการค้าหนึ่ง

ข้อดีคือผู้ประกอบการไม่ต้องถูกบังคับให้ต้องเสียค่าสมาชิก หากไม่เห็นประโยชน์ของการเป็นสมาชิก แต่ก็ทำให้ภาคธุรกิจขาดกลไกกำกับดูแลกันเอง โดยเฉพาะในสาขาธุรกิจที่ต้องการการกำกับหรือควบคุมคุณภาพสินค้าให้ตรงตามเกณฑ์การส่งออก และสมาคมก็ไม่สามารถออกบทลงโทษผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกได้

เรื่องสาม คือ ขาดสมาคมที่เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในธุรกิจสาขาใดสาขาหนึ่ง จากจำนวนสมาคมที่มีมากในบางสาขา เช่น สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีมากกว่า 70 แห่ง อีกทั้งยังเป็นการรวมตัวเฉพาะพื้นที่ มีสมาชิกไม่กี่ราย สมาคมการค้าขนาดเล็กเหล่านี้จึงมีอำนาจต่อรองต่อภาครัฐไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาหอการค้าไทยหรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อีกทั้งทำให้เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ทางธุรกิจที่ทันสมัยได้

จากอุปสรรคทั้งหมดนี้ ถึงเวลาที่ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องร่วมกันปลดล็อกศักยภาพของสมาคมการค้าไทยให้สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้ต่อไป ดังนี้

หนึ่ง ภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้สมาคมการค้ารวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาพันธ์ เช่น การยอมรับการเป็นตัวแทนที่เป็นทางการของธุรกิจสาขานั้น ๆ ในการเจรจาต่อรองนโยบายกับภาครัฐ ในลักษณะคล้ายกับการทำงานของสภาหอการค้าไทยหรือสภาอุตสาหกรรมฯ หรือ การให้เงินสนับสนุนกิจกรรมของสมาพันธ์ที่มุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของสมาชิก เช่น การฝึกอบรมทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก

แต่ทั้งนี้ จะต้องมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสมาพันธ์ เช่น จำนวนสมาชิกขั้นต่ำ มีกิจกรรมที่เน้นด้านการพัฒนาในระยะยาวมากกว่าการแก้ปัญหาระยะสั้นแก่สมาชิก การจัดเก็บข้อมูลสมาชิกที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายในสาขาธุรกิจนั้น ๆ

สอง รัฐควรพิจารณาถ่ายโอนหน้าที่การรับรองเอกสารบางเรื่องให้เป็นหน้าที่ของสมาคมการค้า เช่น การรับรองเอกสารของผู้ประกอบการที่จะขอวีซ่า การรับรองสัญญาการเป็นตัวแทน หรือการจดทะเบียนนิติบุคคล การถ่ายโอนอำนาจนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัว ความรวดเร็วในกระบวนการต่าง ๆ และทำให้สมาชิกเห็นประโยชน์ของการเป็นสมาชิกสมาคมการค้า

สุดท้าย รัฐและสมาคมการค้าควรร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูลเชิงลึก ในรายสาขาธุรกิจที่เป็นระบบและสมาชิกสามารถเข้าถึงได้ เช่น บทวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศในรายสินค้า โดยมีสถาบันวิชาการของรัฐ อาทิ สถาบันอาหาร สถาบันสิ่งทอ เป็นตัวกลางรวบรวมข้อมูล เนื่องจากเป็นผู้ที่ไม่มีผลประโยชน์จากการซื้อหรือขายสินค้า ฐานข้อมูลทางธุรกิจนี้จะช่วยให้สมาคมการค้าที่มีเงินจำกัดได้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจมากขึ้น