เหนือ'สิทธิเสมอภาค' ดอกไม้ร้อยดอกบาน วันสตรีสากล

เหนือ'สิทธิเสมอภาค' ดอกไม้ร้อยดอกบาน วันสตรีสากล

ไม่หยุดยั้งพลังและความฝัน อยู่แค่สิทธิเสมอภาคเท่าเทียมชาย หญิงไทยในต้นศตวรรษที่ ๒๑

 ก้าวผ่าน “สิทธิเสมอภาค” และจะไปต่อให้สูงยิ่งกว่าเพดานบิน “สิทธิเสมอภาค”

ดังกล่าวอย่างง่ายๆงดงามของ ฐิตินบ โกมลนิมิ ในโอกาสให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย เฉลิมฉลองวันสตรีสากล เมื่อต้นเดือนมีนานี้ ว่า“ผู้หญิง คือ ทุกๆความเป็นไปได้ และการเปลี่ยนแปลงต้องการพลังแบบนี้ ”

ฐิตินบ คือ หญิงชาวไทยพุทธผู้มีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ให้แก่สังคมชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะหญิงและเด็กโดยไม่เลือกชาติพันธุ์ เธอคือ พลังสำคัญที่ได้รวบรวมเครือข่ายผู้หญิง ๒๓ องค์กรก่อตั้ง คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนภาคใต้ (PAoW –Peace Agenda of Women) หลังจากทำงานในพื้นที่นานเกินสิบปีในหลายสถานภาพ ได้เริ่มส่งสารกำหนดวาระทางสังคม ขอให้ยุติวงจรความรุนแรง ยุติการทำร้ายพลเรือน เป้าอ่อน เช่น ผู้หญิง เด็ก ฯลฯ จนมีข้อเรียกร้องที่ส่งผลต่อกระบวนการสันติภาพ คือ การเรียกร้องพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย เช่น ตลาด ถนน โรงเรียน ศาสนาสถาน สู่โต๊ะพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างตัวแทนรัฐไทยและกลุ่มผู้เห็นต่าง

๘ มีนาคม วันสตรีสากล ที่เพิ่งผ่านไป มีหญิงไทยจำนวนมาก ผู้ซึ่งชีวิตและการทำงานมีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ได้รับการ ให้เกียรติยกย่องและเผยแพร่จากหน่วยงานของรัฐบาล เฉพาะในส่วนกลางเกือบถึง ๘๐ คน อาจจะมากเป็นประวัติการณ์ก็ว่าได้นับแต่ปีพ.. ๒๕๓๒ที่ ไทยเริ่มมีการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลอย่างเป็นทางการโดยหน่วยงานราชการ

เฉพาะที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.)ในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คัดเลือกขึ้นมา มีถึง ๔๗ รางวัล ใน ๒๐ สาขา หนึ่งในนั้นคือ “น้องน้ำตาล” ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสยูนิเวอร์ส ไทยแลนด์2016 ในสาขา สตรีตัวอย่างสร้างแรงบันดาลใจ รางวัลนี้เป็นข่าวใหญ่ในสื่อต่างๆจนบดบังรางวัลอื่นๆและสตรีคนอื่นๆในกลุ่มรางวัลของ พม.ไปแทบจะหมดสิ้น

ด้านกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ภายใต้ชื่องานทันสมัย ”มุ่งเชิดชูสตรีทำงานยุคใหม่ขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0” ได้คัดเลือกสตรี ๒๗ คน จาก ๑๑๖ คนที่ได้รับการสรรหา ให้ได้รับโล่รางวัลสตรีดีเด่น ใน ๘ ประเภท จาก พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ มีทั้งสตรีนักบริหารดีเด่น สตรีผู้ปฏิบัติการดีเด่น ทั้งในภาครัฐวิสาหกิจ ภาคราชการ ภาคเอกชน สตรีเครือข่ายด้านแรงงานดีเด่น สตรีผู้ประกอบอาชีพอิสระ ศิลปินสตรีดีเด่น สตรีสื่อมวลชนดีเด่น สตรีองค์กรพัฒนาเอกชนดีเด่น และสตรีนักวิชาการด้านแรงงานดีเด่น

อย่างไรก็ดี ที่โดดเด่นน่าสนใจทุกคนจนไม่มีสตรีคนใดทีสื่อจะเลือกนำเสนอจนบดบังสตรีคนใดไปได้ ต้องยกให้แก่ 8 รางวัลที่คณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มอบเกียรติบัตรให้สตรีและคณะบุคคลในหน่วยงาน

ประเภทบุคคล มี ๔ บุคคล ดังนี้ ๑.ภิกษุณีธัมมนันทา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของผู้หญิง ๒.พนา เจริญสุข  จากผู้ถูกกระทำจากสามีที่หลอกลวงเธอ มาเป็นนักปกป้องสิทธิของผู้หญิงจากการถูกกระทำด้วยความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ ๓.คะติมะ หลีจ้ะ หญิงชนเผ่าลีซู ชุมชนสันป่าเหียง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์และเพื่อสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ๔.ณัฐพร อาจหาญนักปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ประเภทคณะบุคคล มี ๔ กลุ่ม ได้แก่๑.กลุ่มสตรีเครือข่ายคนรักษ์เมืองเทพา จังหวัดสงขลา  ที่ปกป้องรักบ้านเกิด ให้ปลอดภัยจาก โรงไฟฟ้าถ่านหิน ๒.กลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง  ที่ยืนหยัดเพื่อเยียวยาผลจากเหมืองลิกไนต์และสร้างบรรทัดฐานในการสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ๓.เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จังหวัดกระบี่  และ ๔.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนปกป้องเพศที่สามจากการถูกเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในขณะที่รางวัลอื่นๆ โดยเฉพาะจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีกรอบพิจารณาว่าเพื่อยกย่องสตรีและเพื่อสิทธิเสมอภาค แต่ในส่วนของ ๘ บุคคลและคณะบุคคลที่ได้รับเกียรติบัตรจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น ไม่ได้มีการอ้างถึงเลยว่าเพราะเหตุหรือเพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมชาย แต่เป็นเพราะสถานการณ์ปัจจุบันที่สตรีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกข่มขู่ คุกคาม ฟ้องร้องดำเนินคดีมากขึ้น โดยที่หญิงไทยมีบทบาทมีความสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความเปลี่ยนแปลงและยกระดับสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยโดยรวม ไม่คำนึงถึงเพศหรือชาติพันธุ์ รัฐจึงควรให้ความคุ้มครองและจริงใจ

ทั้ง รัฐพร อาจหาญ และคะติมา หลีจ้ะ จึงต้องออกมาเป็นนักต่อสู้ปกป้องสิทธิตั้งแต่อยู่ในวัยไม่ถึง ๓๐ ปี เพราะความจำเป็นสถานการณ์บีบคั้น ส่วน ภิกษุณีธัมมนันทา ผู้รณรงค์เพื่อภิกษุณีไทย กสม.ก็ได้มอบเกียรติบัตรให้ท่านในฐานะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของผู้หญิง ภิกษุณีธัมมนันทาแสวงหาและปกป้องสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา เผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับลัทธิศาสนาต่างๆโดยเฉพาะพุทธมหายาน ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในพุทธหีนยาน มีบทบาทกับองค์กรศาสนาต่างๆเพื่อสันติภาพ

ในทุกๆความเป็นไปได้ของสถานการณ์และไม่จำเป็นต้องมีมาตรวัดแห่งสิทธิเสมอภาค ที่สำคัญกว่าคือ จิตใจรักเพื่อนมนุษย์รักเสรีภาพความเป็นธรรม ทั้งของคนตัวเล็กตัวน้อย อย่าง สตรีเชนเผ่าลีซู คะติมา หลีจ้ะ และในระดับสตรีที่มากด้วยการศึกษา ประสบการณ์ อย่างเช่น ภิกษุณีธรรมนันทา ฐิตินบ โกมลนิมิ

วันสตรีสากลปีนี้ ทำให้ตระหนักรู้ศักยภาพผู้หญิงว่าเป้าหมายของเราเกินเลย “สิทธิเสมอภาค”ไปแล้ว