หนึ่งปีของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน

หนึ่งปีของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน

กาลครั้งหนึ่ง ข้ารับใช้คนหนึ่งเคยขอพระราชทานรางวัลจากพระราชา เป็นเมล็ดข้าว โดยขอให้วางเมล็ดข้าว 1 เมล็ด ที่ช่องแรกของตารางหมากรุก

 แล้วเพิ่มเป็น 2 เมล็ด ในช่องที่สอง, 4 เมล็ด ในช่องที่สาม, 8 เมล็ดในช่องที่สี่ … ค่อยๆ เพิ่มขึ้น “เท่าตัว” (คูณ 2) ไปทีละช่อง

พระราชาอาจไม่ทันได้คิด แต่ทราบไหมครับว่า ถ้าข้ารับใช้คนนี้กราบทูลขอพระราชทานเมล็ดข้าว เฉพาะในช่องสีขาวของตารางหมากรุก จากเมล็ดแรกจะเพิ่มขึ้นทีละเท่าตัวทบไป 31 ครั้ง จนเป็น 21,474,836 เมล็ดในช่องสุดท้าย ถ้าเขากราบทูลขอพระราชทานเมล็ดข้าวในช่องทุกช่องของตาราง จะได้เมล็ดข้าวในช่องสุดท้ายถึง 92,233,720,368,547,758 เมล็ด !!

เช่นเดียวกับพระราชาในนิทาน พวกเรามักนึกไหมถึงว่า “การเพิ่มขึ้นแบบทบทวีคูณ” (ภาษาฝรั่งเรียก “compound”) สามารถทำให้ปริมาณเพิ่มขึ้นได้รวดเร็วเพียงใด หลายคนจึงไม่เคยคิดว่า ความต่างนิดๆ หน่อยๆ ของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ จะสร้างความแตกต่างได้มากเพียงใดเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี... 20 ปี…

ถ้าเราเอาเลข 70 หารด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เราจะทราบได้ว่าต้องใช้เวลากี่ปี GDP จึงจะเพิ่มขึ้น “หนึ่งเท่าตัว” ตัวอย่างเช่น ถ้าอัตราการเติบโตอยู่ที่ 7% GDP จะเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวทุกๆ 10 ปี (70 หาร 7 = 10), ถ้าอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.5% ต่อปี GDP จะเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวทุกๆ 20 ปี

เมื่อเวลาผ่านไป 100 ปี ประเทศที่เติบโตที่ 3.5% ต่อปี GDP จะเพิ่มขึ้น “หนึ่งเท่าตัว” ทบต่อกันไป 5 ครั้ง (คูณด้วย 32) ส่วนประเทศที่เติบโตที่ 7% ต่อปี GDP จะเพิ่มขึ้น “หนึ่งเท่าตัว” ทบต่อกันไป 10 ครั้ง (เท่ากับคูณด้วย 1024 เลยครับ!!)

นี่จึงเป็นสาเหตุที่หลายคนอาจตามไม่ทัน กับการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารทางเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศจีนในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา รายงานของ McKinsey Global Institute เคยคำนวณว่า อังกฤษใช้เวลา 150 ปี กว่าที่ GDP ต่อหัว (PPP) จะเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวจาก 1,300 ดอลล่าร์ เป็น 2,600 ดอลล่าร์, ขณะที่เยอรมันใช้เวลา 65 ปี, สหรัฐฯ ใช้เวลา 53 ปี, ญี่ปุ่นใช้ 33 ปี, ส่วนจีนใช้เวลาเพียง 12 ปี

ถ้าเราลองกางตัวเลข GDP ต่อหัว (nominal) ของจีนและไทยที่รวบรวมโดยธนาคารโลกมาเปรียบเทียบกัน จะพบว่า ในปี ค.ศ. 1990 GDP ต่อหัวของจีนอยู่ที่ 317 ดอลล่าร์ (ขณะที่ไทยสูงกว่า 5 เท่าที่ 1,508 ดอลล่าร์) พอเวลาผ่านไป 20 ปี ในปี ค.ศ. 2010 GDP ต่อหัวของจีนเพิ่มขึ้นมาที่ 4,560 ดอลล่าร์ (แต่ไทยก็ยังเหนือกว่าที่ 5,111 ดอลล่าร์) แต่ผ่านไปอีกเพียงแค่ 5 ปี พอถึง ค.ศ. 2015 GDP ต่อหัวของจีนขึ้นไปแตะที่ 8,027 ดอลล่าร์แล้ว (ขณะที่ไทยกระเถิบตัวขึ้นด้วยความเร็วหอยทากมาที่ 5,814 ดอลล่าร์)

ผมไม่อยากให้ใครอ่านถึงตรงนี้แล้วเสียกำลังใจนะครับ เมื่อ 60-70 ปี ที่แล้ว พม่าเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในอาเซียน แต่เวลาผ่านไปเพียง 1 ชั่วคน ไทยเราก็ทิ้งห่างพม่ามาไกลพอควร (GDP ต่อหัวของพม่าใน ค.ศ. 2015 อยู่ที่ 1,161 ดอลล่าร์)

ประเทศๆ หนึ่งสามารถตกต่ำลงได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ประเทศๆ หนึ่งก็สามารถเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็วครับ เพิ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้วนี้เอง จีนยังเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียอยู่เลย แต่ในวันนี้จีนได้กลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ (GDP PPP) ใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐฯ ไปเรียบร้อยแล้ว

อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มักพูดเสมอว่า “เวลามีต้นทุน” คือถ้าเราอยู่เฉยๆ ก็เท่ากับถอยหลังแล้ว ซึ่งเป็นความจริงเหลือเกินครับ เราอาจคิดว่าเวลา 10 ปี ไม่ได้ยาวนานอะไร แต่ด้วยอัตราการเติบโต 7% ต่อปีของจีน พอถึง ค.ศ. 2020 GDP ของจีนก็จะเพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 2010 อีกหนึ่งเท่าตัว (คูณ 2) ขณะที่ของไทย เราจะยังคืบคลานอยู่ใกล้ๆ จุดเดิมไหมครับ?

หลายคนในจีนมักพูดว่า เวลา 1 ปี ในจีน มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเทียบเท่ากับเวลาหลายปีในสังคมอื่น สังคมจีนมีความรู้สึกตลอดเวลาว่ากำลังเดินหน้าไม่หยุดนิ่ง เคยมีคนเปรียบเทียบว่า ยุคสมัยก่อร่างสร้างตัวของสหรัฐฯ เมื่อหลายสิบปีก่อนก็เคยมีลักษณะเดียวกัน คือเป็นสังคมมีไฟ มีฝัน มีความเชื่อมั่นในอนาคตและในการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง แต่มาวันนี้ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง Tyler Cowen ถึงกับวิจารณ์ว่าสหรัฐ กำลังกลายเป็นสังคมเฉื่อยชา (complacent society) คนจำนวนมากรู้สึกว่าพอแล้ว เกียจคร้าน หมดพลังในการสร้างสรรค์และประดิษฐ์คิดค้นเช่นในอดีต เมื่อเศรษฐกิจไม่เติบโต ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกลับมีแต่จะยิ่งถ่างขึ้นเรื่อยๆ จนอาจนำไปสู่วิกฤติสังคมในที่สุด

ประเทศไทยเองก็เคยมีไฟโชติช่วงเหมือนกันนะครับ ทราบไหมครับว่า เราเองก็เคยเป็นตำนานมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของโลกเหมือนกัน ถ้าไม่นับจีน ก็มีไทยนี่แหละครับที่มีอัตราการเติบโตในระดับที่สูงต่อเนื่องยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในโลก คือโตเฉลี่ยที่ 4.91% ต่อเนื่องเกือบ 30 ปี ในช่วง ค.ศ. 1958-1987 และโตเฉลี่ยที่ 6.51% ติดต่อกันอีก 8 ปี ในช่วง ค.ศ. 1987 - 1995 ในช่วงนั้น เวลา 1 ปี ของไทย ก็น่าจะเทียบเท่ากับเวลาหลายปีในประเทศรอบข้างของเรานะครับ แต่ภายหลังจากที่เราเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี ค.ศ. 1997 ก็เหมือนเราเริ่มหมดไฟ สุมอย่างไรก็จุดไม่ขึ้นอีกรอบ

ครั้งหนึ่ง เราเคยมียุคทองแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่องยาวนานเกือบ 40 ปี เราจึงเริ่มมีชนชั้นกลางจำนวนมากที่มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่เราต้องไม่ลืมครับว่า พอสังคมเราหยุดนิ่ง ไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ก็มีแต่คนที่สบายแล้วที่จะยิ่งรวยขึ้นหรืออยู่รอดด้วยบุญเก่า ส่วนคนยากจนก็มีแต่จะลำบากเช่นเดิมหรือลำบากยิ่งขึ้นไปอีก

แน่นอนว่า ประเทศที่เริ่มพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานที่ต่ำ ย่อมสามารถเติบโตได้ในอัตราที่รวดเร็วในช่วงเริ่มต้น แต่พอประเทศเริ่มเติบโตถึงจุดหนึ่ง ถ้าไม่เดินเครื่องปฏิรูปอีกครั้ง เพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตรอบต่อไป ก็ย่อมติดกับดักหยุดนิ่งอยู่กับที่

Paul Romer นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ชอบเล่าเรื่องคนป่วยเป็นมะเร็งไปหาหมอ หมอคนแรกแนะนำว่าต้องผ่าตัด จึงจะมีทางรอด, หมอคนที่สองบอกว่า เพิ่งมีงานวิจัยชี้ว่าฉีด Botox แล้วจะหน้าเด้ง ดูหนุ่มขึ้น แนะนำคนไข้ให้ไปฉีด Botox ดีกว่า ปลอดภัย ได้ผลชัวร์ๆ

ท่านบอกว่า นักเศรษฐศาสตร์สมัยนี้ส่วนใหญ่มักเป็นหมอ Botox คือชอบแนะนำนโยบายเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูเหมือนจะทำให้เศรษฐกิจดูดีขึ้น ปรับดอกเบี้ยขึ้นๆ ลงๆ อัดฉีดเงินตรงนั้นทีตรงนี้ที แต่มักขาดแคลนคนกล้าคิดการใหญ่ที่จะผ่าตัดประเทศด้วย “Big Idea” นำสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อปลดปล่อยพลังการเติบโตระลอกใหม่ ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่านี้อีกแล้ว

เพราะถ้าประเทศสามารถโตเพิ่มขึ้นจากเดิมแม้เพียงปีละไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อทบทวีคูณไปเรื่อยๆ ย่อมส่งผลต่างอย่างมหาศาลในระยะยาวครับ