การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรป กับอนาคตของสหภาพยุโรป

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรป กับอนาคตของสหภาพยุโรป

ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ของสหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ได้รับชัยชนะ

 แบบผิดจากความคาดหวังของชาวอเมริกัน และประชาคมโลกส่วนหนึ่งแล้ว ได้สร้างค่านิยมใหม่ทางนโยบายการเมืองที่ประเทศต่างๆ จะหันมามุ่งเน้นกระแสชาตินิยม ที่หันมามุ่งเน้นประเด็นเศรษฐกิจ สังคม การเมืองภายในประเทศตนเองมากขึ้น เช่น การปกป้องและต่อต้านสินค้าจากต่างประเทศ การต่อต้านและไม่ยอมรับผู้อพยพและแรงงานต่างชาติ หลายประเทศมหาอำนาจได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดสนับสนุนการค้าเสรี หรือการเปิดตลาดสินค้า ตลาดแรงงาน และตลาดการเงินที่เป็นตลาดเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานะของสหภาพยุโรปกำลังสั่นคลอน ภายหลังที่ชาวอังกฤษได้ลงประชามติให้ถอนตัวจากสหภาพยุโรป ทำให้หลายประเทศในยุโรปกำลังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่เริ่มมีความไม่พอใจว่าประเทศตนต้องใช้เงินจำนวนมากในแต่ละปีไปในการอุ้มชูประเทศที่มีเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมไปถึงการอุ้มชูผู้อพยพและแรงงานต่างชาติ

ในสัปดาห์นี้เนเธอร์แลนด์จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 มีนาคม 2015 พรรคเพื่อเสรีภาพ หรือ “Party for Freedom “ ซึ่งหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดของเนเธอร์แลนด์ นายเกิตร์ ไวล์เดอร์ ได้ประกาศนโยบายว่า จะให้มีการจัดทำประชามติในถอนตัวของเนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรป และขณะนี้ได้รับความสนใจมากขึ้น จึงน่าสนใจและได้รับความสนใจว่า นโยบายขวาสุดขอบที่เน้นชาตินิยมจะได้รับชัยชนะหรือไม่ แต่แม้ว่าพรรคการเมืองขวาสุดขอบของเนเธอร์แลนด์จะได้รับชัยชนะ ก็ไม่แน่ว่าหัวหน้าพรรคจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสม ที่เขาจะสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้แต่ก็เป็นอีกกระแสหนึ่งที่เป็นความท้าทายของต่อความมั่นคงของสหภาพยุโรป

ถัดไปก็คือประเทศฝรั่งเศสกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ในรอบแรกจะมีขึ้นในวันที่ 23 เมษายน และรอบที่สองในวันที่ 7 พฤษภาคม 2017 ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และการลงประชามติการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษในปี 2016 ที่ผลการเลือกตั้งจะชี้ชะตาของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ประธานาธิบดี คนปัจจุบันนายฟร็องซัว ออล็องด์ ตัดสินใจไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย หลังจากโพลสำรวจชี้ว่าคะแนนความนิยมของเขาลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสต้องหาตัวแทนลงสมัครใหม่ และสะท้อนแนวคิดการเมืองฝ่ายขวาที่อาจขึ้นมาเป็นการเมืองกระแสหลักในยุโรปตามหลังอังกฤษ นางมารีน เลอ แปง (Marine Le Pen) นักการเมืองจากพรรคชาตินิยมแนวหน้า ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดที่มีจุดยืนว่าอยากนำฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามผลสำรวจคะแนนความนิยมของเธอชี้ว่า ยังมีโอกาสเป็นไปได้น้อยที่เธอจะเข้าไปถึงการเลือกตั้งรอบสุดท้ายและขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าเธอมีโอกาสสูงที่จะเป็นหนึ่งในสองผู้สมัครที่สามารถเข้าไปถึงการเลือกตั้งรอบที่สอง แต่ถ้าสุดท้ายแล้วเธอสามารถเข้าไปถึงรอบนั้น อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในโค้งสุดท้าย ดังที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน 2016 ที่ผ่านมา

หากนาง มารีน เลอ แปง ไม่สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปของฝรั่งเศสในครั้งนี้ หมายถึงว่าจะเหลือเพียงนาง อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีผู้นำคนเดียว ที่ยังผลักดันความเป็นหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพยุโรป แต่แม้นาง เลอ แปง จะแพ้การเลือกตั้ง เธอก็ยังเป็นนักการเมืองที่มีอิทธิพลมากในการจุดกระแสความนิยมต่อนโยบายฝ่ายขวาในฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็น การต่อต้านการรับผู้อพยพ และการออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองฝ่ายเสรีนิยมต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ที่ดุเดือดมากขึ้นในอนาคต

การเลือกตั้งสำคัญที่จะชี้ชะตาของสหภาพยุโรปในช่วงปลายปีนี้คือ การเลือกตั้งในประเทศเยอรมันนีที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม 2017 ซึ่งนาง อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมานานถึง 11 ปี และตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 4 นางแมร์เคิลเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อการเมืองของโลก และการเมืองของยุโรปตลอดช่วงเวลาที่เธอดำรงตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นเสาหลักในการออกมาตรการ แก้ไขวิกฤตหนี้ครั้งรุนแรงที่สุดของหลายประเทศในยุโรป เช่น กรีซ การเปิดรับผู้อพยพมากกว่าหนึ่งล้านคนเข้าเยอรมนี และการพยายามผนึกกำลังของบรรดาประเทศยุโรปเพื่อต่อต้านอำนาจของรัสเซีย

โพลผลการสำรวจชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าเธอจะชนะการเลือกตั้งอีกสมัย แม้ว่าคะแนนนิยมของเธอจะลดลงจากนโยบายการเปิดรับผู้อพยพจากต่างประเทศก็ตาม อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองฝ่ายขวาอย่างพรรคทางเลือกของเยอรมันนี ที่ตอนนี้มีคะแนนความนิยมและมีโอกาสที่คะแนนของพวกเขาจะเพิ่มขึ้น หากประชาชนชาวเยอรมันนีคนหันไปสนับสนุนนโยบายต่อต้านผู้อพยพต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากนางแมร์เคิลแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว จะทำให้อนาคตของสหภาพยุโรปสั่นคลอนอย่างรุนแรง

ปัจจัยทางการเมืองที่เกิดจากการเลือกตั้งในยุโรป จะมีผลกระทบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและการเมืองกลุ่มประเทศในยุโรป ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองโลกที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเล็กก็คงจะได้รับผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลและนักลงทุนจะต้องมีการวางแผนรองรับกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นไว้ด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาท ที่จะเกิดขึ้น