จากตลาดนัดสู่ “ร้านขายสินค้าแฟชั่นกลางเมือง”

จากตลาดนัดสู่ “ร้านขายสินค้าแฟชั่นกลางเมือง”

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหนึ่งในรูปแบบธุรกิจที่ได้รับกระแสความนิยมจากวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก

คือร้านขายสินค้าแฟชั่นประเภท Multi brand store ซึ่งจากการวิจัยการตลาดสาวมหาลัย พบว่า หนึ่งในร้านที่เป็นที่ชื่นชอบ คือ ร้าน CAMP BKK ใจกลางสยามสแควร์

จากการสัมภาษณ์ จิตพล ศิริวัฒนเมธางกูร (คุณบูม) หนึ่งในหุ้นส่วนคนสำคัญผู้ก่อตั้งร้าน CAMP BKK เล่าว่า ก่อนที่จะหันมาเปิดร้าน CAMP BKK เคยผ่านประสบการณ์2-3 ปี จากการจัดงานตลาดนัดที่ชื่อว่า LOL ซึ่งเป็นงานที่รวมสินค้าแฟชั่นจากร้านค้าบน Instagram และ Facebook มาออกบูธขายสินค้า เพื่อตอบสนองให้คนที่รักในการซื้อสินค้าแฟชั่นมารวมตัวกันในที่ที่เดียว เป็นการเปิดโอกาสให้คนมาลอง และเห็นสินค้าจริง 

โดยงานจะจัดขึ้นตามหน้าห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น สยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์ด้วยความสำเร็จจากการจัดงาน LOL ทำให้คุณบูมและหุ้นส่วนมีความคิดที่จะต่อยอดธุรกิจ โดยเลือกธุรกิจประเภท Multi brand store ด้วยความสนใจในโมเดลธุรกิจประเภทนี้ โดยการวาง position เป็น Multi brand community ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มนักศึกษาหญิงและผู้หญิงเริ่มทำงาน หรือ First jobber 

กลยุทธ์สร้างความแตกต่างของ CAMP BKK คือความหลากหลายซึ่งในปัจจุบันมีสินค้าอยู่ในร้าน CAMP BKK ถึงประมาณ 120 แบรนด์ ซึ่งในแต่ละแบรนด์ก็มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป แม้จะเปิดหน้าร้าน แต่การทำการตลาดของ CAMP BKK จะเน้นผ่านทาง Facebook และ Instragram เนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดี โดยเน้นการลงรูป อัพเดทสินค้า รวมถึงแจ้งข่าวสารต่างๆ ของทางร้านเอง 

สิ่งที่สำคัญคือ การเพิ่มความน่าสนใจเข้าไปอีกด้วย คลิปวิดีโอโปรโมทต่างๆ รวมไปถึงการให้คนที่มีชื่อเสียง ทั้งดารา เน็ตไอดอล และเซเลปเข้ามาช่วยในการโปรโมท

สำหรับโมเดลธุรกิจนี้ สิ่งที่สำคัญคือ การสร้าง win win กับลูกค้า ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ลูกค้ากลุ่มที่หนึ่ง ร้านค้าต่างๆที่เข้ามาขายสินค้าในร้าน ถ้าร้านค้าเอาสินค้าเข้ามาขายในร้าน CAMP BKK ทางCAMP BKK ก็ช่วยในการทำการสื่อสารการตลาด 

ส่วนลูกค้ากลุ่มที่สอง คือ ลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าในร้าน ซึ่งได้รับความสะดวกสบาย สินค้าคุณภาพดี หลากหลาย และ เน้นการบริการที่ดีจากพนักงานขาย

กรณีศึกษาของ CAMP BKK สะท้อนให้เห็นถึง รูปแบบธุรกิจในปัจจุบันซึ่งเป็นการ ผสมผสานกันระหว่างช่องทางการจัดจำหน่ายทั้ง online และ offline ร้านค้าย่อยแม้จะจัดจำหน่ายทาง online แต่การมามีหน้าร้านก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการขาย นอกจากนั้นการที่หลายๆ ร้านมาอยู่รวมกัน ก็เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าให้มากขึ้นสำหรับแต่ละร้านอีกด้วย

-----------------

**หมายเหตุ..สัมภาษณ์ จิตพล ศิริวัฒนเมธางกูร โดย ประติภา สุมาลุย์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล