บังคับออมรองรับชราภาพ

บังคับออมรองรับชราภาพ

สังคมสูงอายุเป็นหนึ่งในปัญหาท้าทาย ที่รัฐบาลกำลังวางแผนรองรับ โดยเฉพาะในด้านรายได้ของผู้สูงอายุ

ที่จะมีไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ ทั้งนี้ รายได้หลังเกษียณของผู้สูงอายุโดยรวมพบว่า กรณีของข้าราชการเกษียณประมาณ 3 ล้านคน มีรายได้หลังเกษียณเท่ากับ 70% ของรายได้ก่อนเกษียณ กรณีแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจำนวน 12 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยหลังเกษียณอยู่ที่ 40% ของรายได้ก่อนเกษียณ ส่วนแรงงานนอกระบบจำนวน 27 ล้านคน ไม่มีระบบบำนาญหลังเกษียณ

ขณะที่ ภาระงบประมาณด้านหลักประกันชราภาพสูงขึ้นมาก จนอาจกระทบต่อความยั่งยืนของระบบ โดยภาระทางการคลังต่องบประมาณด้านสวัสดิการสังคมกรณีชราภาพในปี 2557 มีจำนวน 2.7 แสนล้านบาท หรือ 2.1%ของจีดีพี มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 6.8 แสนล้านบาท หรือ 3.0% ของจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น การวางระบบการออมจึงเป็นการเตรียมการทางด้านรายได้ของผู้สูงอายุ เพื่อลดภาระด้านงบประมาณ

ทั้งนี้ ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุ (Ageing Society) ตั้งแต่ปี 2551 และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2568 ที่มีผู้สูงอายุประมาณ 20%ของประชากรทั้งหมด ปัจจุบันมีผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน หรือ 15.92%ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ เป็นผู้สูงอายุที่ยากจน 16.13%เป็นผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ 38.3%(18.5%สมัครใจทำงาน) และเป็นผู้สูงอายุที่มีแหล่งรายได้จากเงินออมหรือการถือทรัพย์สิน 35.7%

ที่เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลได้วางแผนรองรับรายได้ของผู้สูงอายุในอนาคต คือ การจัดระบบการออมสำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ กรณีแรงงานนอกระบบจัดให้มีการออมตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปผ่านกองทุนการออมแห่งชาติหรือกอช.โดยรัฐบาลจะสมทบเงินให้ส่วนหนึ่ง กรณีแรงงานในระบบนั้น รัฐบาลกำลังจัดให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับที่จะมีการส่งเงินออมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งสองแนวทางมีเป้าหมายให้ผู้ออมที่เริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี มีรายได้โดยรวมราว 50%เมื่อเกษียณอายุการทำงาน

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะให้ความสสำคัญกับการวางระบบการออม แต่ความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ออมถือเป็นหัวใจสำคัญ กรณีการออมผ่านกอช.นั้น นับจากเริ่มให้สมัครช่วงปลายปี 2558 ปัจจุบันมีสมาชิกเพียง 5 แสนกว่าคน ในจำนวนนี้มากกว่า 37%เป็นการออมโดยผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี มีเงินออมผ่านกองทุนดังกล่าวกว่า 2,000 ล้านบาท ในภาพรวมถือว่า ยังต่ำเป้าหมายอยู่มาก ส่วนการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกฎหมาย หากผ่านการพิจารณาจะถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนด้านการออมที่จะรองรับสังคมสูงอายุได้ดีเลยทีเดียว

สำหรับปัญหาด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุในขณะนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็มีแผนที่จะเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ ที่มีรายได้น้อยที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน โดยจะเพิ่มให้เป็น 1,200 -1,500 บาทจากที่รัฐบาลจ่ายอยู่ 600-1,000 บาทต่อราย โดยมีแผนจะขอความร่วมมือไปยังผู้สูงอายุ ที่เป็นผู้ที่มีรายได้เพียงพอ ให้สละสิทธิ์เงินเบี้ยยังชีพคนชราที่รัฐบาลจ่ายให้ เพื่อนำไปสมทบให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หรือรายได้น้อยจำนวนดังกล่าว และ ยังมีแผนไปนำเงินจากกองทุนสสส.มาอุดหนุนอีกทางหนึ่งด้วย

มื่อรัฐบาลวางแผนการออมไว้ใช้ยามเกษียณ โดยปิดช่องโหว่การออมให้แก่แรงงานนอกระบบและแรงงานในระบบ ฉะนั้น จึงขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่า จะให้ความสำคัญกับการออม เพื่อมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณมากน้อยแค่ไหน