divergence diversity and convergence สถาบัน รัฐ ตลาด(ตอน 57)

divergence diversity and convergence สถาบัน รัฐ ตลาด(ตอน 57)

ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี มันบอกอะไรเหมือนกัน ว่าอเมิกายังมีกึ๋นในฐานะผู้นำโลก

แต่ว่าลักษณะของอำนาจและการใช้อำนาจไม่เหมือนเดิม แกนนำของโลกตะวันตกตั้งแต่นายก ABE ผู้นำญี่ปุ่น หรือ Teresa May นายกอังกฤษ และล่าสุดคือ Angela Merkel ของเยอรมัน ต้องรีบมาเคลียร์กับทรัมป์ แต่สิ่งที่เราพบเมื่อเทียบกับตอนทรัมป์หาเสียง พอสรุปได้ว่าบทบาทผู้นำโลกที่อเมริกาเคยยึดมาตลอดกว่าครึ่งศตวรรษจะไม่พลิกแบบหน้ามือเป็นหลังมือไม่ว่าทรัมป์จะคิดหรือพูดอย่างไร หลายอย่างยังคงเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบช้า ๆค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งโอบามาก็ได้วางจุดยืนของอเมริกาไว้ชัดเจน เศรษฐกิจอเมริกาไม่แข็งแกร่ง และอเมริกาไม่มีเงิน ทรัพยากรมากเหมือนในอดีต เพราะฉะนั้นอเมริกาคงไม่มีอำนาจที่จะไปกำหนดอะไรได้ เหมือนในอดีตต่อไปแล้วต้องให้แต่ละภูมิภาคเขาเล่นและมีบทบาทมากขึ้น

การพบกันของ Merkel กับ Trump มีอะไรที่น่าสนใจมองได้หลายมิติ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปและอเมริกาและผลที่มีต่อโลก ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และในแง่ของอนาคตมองย้อนไปในอดีต วัฏจักรของอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงได้เสมอ บ่อยครั้งมันกลับตาลปัตรแบบไม่น่าเชื่อ อเมริกาในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 เป็นแบบอย่างและเป็นผู้นำของโลกเสรี โดยเฉพาะเสรีนิยมประชาธิปไตย ขณะที่เยอรมัน และหลายประเทศในยุโรป อุดมการณ์ชาตินิยมรุนแรง เผด็จการอำนาจนิยมทั้งฟาสซิสต์ และคอมมิวนิสต์ผงาดขึ้นอย่างน่ากลัว หลังสงคราม โลกเสรีต้องเผชิญกับภัยคอมมิวนิสต์และสงครามเย็น อเมริกาอยากเห็นยุโรปเป็นภูมิภาคของสันติภาพ เป็นผู้นำและต้นแบบของประชาธิปไตย อยากเห็นยุโรปลดละความเป็นชาติ โดยไม่เสียอธิปไตย แต่แบ่งปันหรือแชร์อธิปไตยร่วมกัน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ เหมือนที่เราเห็น ในรูปของอียูในปัจจุบัน 

แต่วันนี้เมื่อเรามองและเปรียบเทียบผู้นำของเยอรมันกับอเมริกา มันช่างมีอะไรที่ตรงกันข้าม เป็นคนละขั้ว ทรัมป์กำลังแสดงบทบาท รักชาติอย่างล้นเกิน เหยียดผิว ส่งเสริมความกลัวต่างชาติ หรือ Xenophobia ไม่แยแสกับ EU โจมตี Merkel ที่เปิดประเทศรับผู้อพยพล้านคนว่าจะทำให้เยอรมันหายนะ ต่อต้าน Globalization โดยจะหันเข้าหา Protectionism โดยต่อรองจะขึ้นภาษีนำเข้ากับทุก ๆประเทศที่อเมริกาขาดดุลทางการค้ามหาศาล โดยเฉพาะ จีน เมกซิโก และเยอรมัน ขณะที่ Merkel ฉายภาพที่ตรงกันข้ามกับ Trump อย่างชัดเจน บางคนอาจจะมองว่าเธอต้องไถ่บาปที่เยอรมันทำกับยิว เธอคิดว่ายุโรปต้องเปิดให้มากขึ้นในทุก ๆด้าน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน เธอกำลังฉายภาพว่าเป็นผู้นำของอุดมการณ์เสรีนิยม ทั้งทางด้านประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ไม่คลั่งไคล้กับกระแสประชานิยมขวาจัด ที่ Trump กำลังแพร่เชื้อหรือเติมฟืนเข้ากองไฟของประชานิยมยุโรป

หลังจาก Brexit และชัยชนะของ Trump ในระยะแรก ๆ คนส่วนใหญ่คิดว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในหลายประเทศในยุโรป และกระแสความนิยมทางการเมืองน่าจะเป็นชัยชนะของฝ่ายขวาจัดและประชานิยม ในฝรั่งเศส ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี หรือแม้กระทั่งเยอรมัน ไม่ได้หมายความว่า Merkel จะได้รับชัยชนะแบบนอนมาเหมือนในอดีตได้ง่ายๆ เพราะคนเยอรมันจำนวนมากรับไม่ได้กับนโยบายผ่อนปรนผู้ลี้ภัย แต่เอาเข้าจริงกระแสขวาจัดของทรัมป์ที่มีผลต่อการผงาดขึ้นของฝ่ายขวาจัดในยุโรปกลับไม่ได้ดีอย่างที่คิด ฝ่ายกระแสหลักและฝ่ายที่ยังเป็นฝ่ายเงียบในภาพรวมไม่ได้นิยมอเมริกัน ไม่ต้องการให้ยุโรปตามก้นอเมริกา ลึกๆแล้ว แม้คนยุโรปจำนวนมากแม้ไม่พอใจนักการเมือง ไม่พอใจและผิดหวังกับเศรษฐกิจของยุโรปภายใต้อียู และระบบเงินสกุลเดียว หรือ ยูโร โดยเฉพาะเมื่อยุโรปเผชิญวิกฤต ตั้งแต่ปีค.ศ. 2007 เป็นต้นมา แต่ก็กลัวความเสี่ยง ถ้ายุโรปจะถลำเข้าไปหาระบบประชานิยม อำนาจนิยม และชาตินิยมบ้าคลั่งที่เคยทำให้ยุโรปพินาศมาแล้วในอดีต คนจำนวนมากน่าจะพยายามเลี่ยงความเสี่ยง รักษาสถานภาพเดิม หรือมี Status quo bias เห็นได้จากการที่โพลล่าสุดในหลายประเทศพบว่า ผู้นำและพรรคการเมืองฝ่ายประชานิยมและฝ่ายขวาจัดที่จะไม่เอายูโร หรือไม่เอา EU ต้องการจะทำประชามติ ถอนตัว มีแนวโน้มที่จะไม่ได้เสียงข้างมาก แม้กระทั่งกรณีของฝรั่งเศสซึ่งแรกๆเชื่อว่า มารีน เลอ แปง มีโอกาสชนะสูง

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกากับยุโรป แบ่งบทบาททางด้านความมั่นคง อเมริกายินดีให้ยุโรป ไล่กวดด้านความเจริญเติบโตและความมั่งคั่ง อียูทำให้ยุโรปเป็นรัฐพลเรือน (Civic state)ไม่ต้องลงทุนทุ่มเททางด้านการทหาร ขณะเดียวกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในยุโรป อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ในแง่นี้ ความสำเร็จของอียูแม้จะไม่สมหวังทางด้านเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นแบบอย่างหรือต้นแบบของโลกด้านระบบคุณค่า คนที่เชียร์อียู หรือเงินสกุลยูโร มองว่า คุณค่าของอียู ไม่ได้อยู่เพียงแค่เศรษฐกิจแต่เป็นระบบคุณค่าของยุโรป(European Value) ที่มีมายาวนานหลายร้อยปีเน้นเอกภาพในบริบทของความหลากหลาย (Unity in diversity) ให้ความสำคัญกับเสรีภาพ ความเป็นประชาธิปไตย ความอดกลั้น หลีกเลี่ยงความรุนแรง อเมริกาทำให้อียูเล่นบท Civic state ได้เพราะอเมริการับบทบาทของการเป็นรัฐเพื่อความมั่นคง (Security state)

ยุโรปก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย ในการที่เป็นรัฐพลเรือน มาตลอด โดยให้อเมริกาเป็นผู้นำใน NATO ขณะเดียวกันประเทศในอียูก็ขาดเอกภาพในด้านนโยบายต่างประเทศ ตั้งแต่นโยบายทางด้านการทหาร นโยบายการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในโลก ซึ่งในหลาย ๆเรื่องฝรั่งเศส เยอรมัน ก็ไม่ลงรอยกับอังกฤษ ซึ่งในอดีตมักจะแน่นแฟ้นกับอเมริกา เอาอะไรเอาด้วยกัน ทั้งหมดทำให้เยอรมัน ในฐานะผู้นำในอียู รวมทั้งอียูไม่สามารถยืนในเวทีโลก ได้อย่างสมศักดิ์ศรี โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงสัดส่วนของเศรษฐกิจ เยอรมันหรืออียูในเศรษฐกิจโลก Margaret Thatcher พูดไว้ในหนังสือ “Statecraft” ของเธอไว้ได้อย่างสะใจและมีอารมณ์ว่า “ในประวัติชีวิตของเธอ เธอเห็นปัญหาในโลกนี้มันเริ่มที่ยุโรปเป็นต้นตอ แต่ยุโรปไม่เคยแก้ปัญหานี้ได้ด้วยตัวเองต้องให้คนอื่นมาแก้ตลอด” ไม่แปลกใจที่ว่าทำไมสมัยเธอกับเรแกน อังกฤษกับอเมริกาจึงมีความสัมพันธ์เป็น Special relationship ที่เด่นมาก

ทรัมป์ น่าจะประสบความสำเร็จในการที่ทำให้ Merkel และอียูเพิ่มการใช้จ่ายทางด้านการทหารใน NATO แต่การลดการขาดดุลการค้ากับเยอรมันจะไม่ใช่เรื่องง่าย